Shopping

10 เครื่องมือและเทคนิค การขายของออนไลน์สำหรับค้าปลีกรายย่อย

การขายของเป็นอาชีพที่จะว่าง่ายก็ง่าย… จะว่าซับซ้อนก็ซับซ้อน เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากขนาดต้องใช้พรสวรรค์หรือฐานความรู้มากมาย… แต่ก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งใครๆ ก็ทำมาหากินด้วยการขายของได้ โดยเฉพาะในยุคที่การขายของออนไลน์เป็นอำนาจในมือของทั้งคนขายและคนซื้อ

1. เตรียมเงินทุน

ต้นทุนจัดหาหรือผลิตสินค้าจะข้ามไปไม่พูดถึงมาก แต่ท่านก็ต้องมีสินค้าเพียงพอที่จะทำกำไร และหมุนเวียนได้… ส่วนทุนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อขายสินค้าออนไลน์ควรเตรียมไว้เพื่อสร้างและทำเวบไซต์ หรืออย่างน้อยก็ Landing page ที่เป็นเหมือนหน้าร้านหลัก เพื่อยืนยันตัวตนว่าเราหรือร้านเรามีหลักแหล่งเชื่อถือได้… ไม่ต้องกังวลเรื่องประเมินและเสียภาษีหรอกครับ เปิดเผยให้ลูกค้ารู้จักและเชื่อถือสำคัญกว่า ถ้าขายได้เยอะจนต้องเสียภาษีมากมายควรเป็นเรื่องน่ายินดี… ค่าทำเวบสำเร็จรูปต่อปีก็ราวๆ 1,000-2,000 บาท

แต่ที่ต้องเตรียมตัว เตรียมเงินเยอะหน่อยคือค่าการตลาดและโฆษณาออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงแนะนำร้าน แนะนำสินค้า ควรเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้อย่างน้อยๆ ก็ 1,000 บาทต่อเดือนหรือตามสัดส่วนตลาดและทุน ที่ต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการได้ลูกค้าใหม่ให้ชัดเจน… รวมทั้งค่าใช้จ่าย Follow-up ลูกค้าเดิมด้วย

สรุปว่า… เงินทุนคร่าวๆ ไม่รวมสต๊อกสินค้า เตรียมไว้ราวๆ หนึ่งหมื่นบาทบวกลบก็น่าจะเริ่มต้นได้

2. แหล่งสินค้าและแหล่งวัตถุดิบผลิตสินค้า

เมื่ออยากขายของ ก็คงมีสินค้าหรือของที่อยากจะขายอยู่ในใจ… การศึกษาตลาดไปพร้อมๆ กับศึกษาแหล่งผลิตสินค้า หรือแม้แต่เทคนิคการผลิตสินค้าและแหล่งวัตถุดิบ ที่อาจจะทำให้ท่านมีสินค้า Original เป็นของตัวเอง… โดยท่านคงต้องสืบค้นให้ละเอียด โดยเฉพาะแหล่งผลิตจากจีนที่มีสินค้า OEM มากมาย ราคาขายส่งกับราคาขายปลีกจะมีช่องว่างมากพอสำหรับนำเข้าและถือสต๊อกสินค้าไม่น้อย

หาข้อมูลเยอะๆ เรียนรู้มากๆ และลงมือทำให้ไว

3. ใช้งาน Facebook และ IG

โซเชี่ยลมีเดียเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลร้านและสินค้าของเรา “ที่ต้อง Update ตลอด” เพื่อยืนยันตัวตน โดยเฉพาะใช้เพื่อสื่อสารความเคลื่อนไหวของร้าน หรือของสินค้า หรือแม้แต่ของเจ้าของร้านที่อย่างน้อย จำเป็นต้องให้ผู้คนที่สนใจ ติดตามความเคลื่อนไหวและทำความรู้จักท่านและร้านของท่านด้วย

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้ากลุ่มที่เป็นประโยชน์กับการขายสินค้าของเราบน Facebook ก็เป็นเทคนิคการประชาสัมพันธ์ร้านค้าและสินค้าได้ ตั้งแต่เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแนะนำตัว แนะนำธุรกิจ หรือการตั้งชื่อในกลุ่ม หรือใช้ Tagline เพื่อโฆษณาธุรกิจตรงๆ ก็ได้

นอกจากนั้น… Facebook หรือ IG ยังเป็น “เครื่องมือเผยแพร่ Contents และเรื่องเล่า” ให้ร้านค้าหรือสินค้าใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหวังผลทางการตลาดได้ด้วย

4. Line OA

คนไทยใช้ Line เป็นช่องทางสื่อสารหลักไปแล้ว และแนวโน้มการแชทก่อนซื้อมาแรงมากในปีหน้าและปีถัดๆ ไป ร้านค้าและเจ้าของร้านต้องมี Line OA และประยุกต์ใช้งานเป็น ตามความเหมาะสมของบริบทธุรกิจ… ซึ่ง Line OA ถือเป็นเครื่องมือจำเป็นต้องมีไว้สื่อสารกับลูกค้า เพื่อปิดช่องว่างความห่างเหินของคนขายกับคนซื้อ ที่ยังอยากสอบถามพูดคุยกับคนขายอยู่ และการใช้ Line ส่วนตัวจะมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารการตลาดกว่าการใช้ Line OA ครับ

5. ควรต้องมีเวบไซต์

ผมใช้คำว่า “ควรต้องมี” เพราะว่ารูปแบบเวบไซต์มีมากมายหลากหลายให้เลือกเหลือเกิน ตั้งแต่แบบ Landing page ใช้ฟรีๆ ไปจนถึงเวบไซต์ที่ต้องมีทักษะเทพๆ ใช้งาน… แต่แนวคิดเบื้องหลังของการต้องมีเวบไซต์ก็แค่ให้เรามีร้านค้า หรือข้อมูลสินค้าเป็นหลักแหล่งให้ลูกค้าได้มั่นใจ รวมทั้งมีข้อมูลที่ไม่อยู่ในรูป Feed บนโซเซี่ยลมีเดียที่ถูกข้อมูลใหม่กว่าทับลงข้างล่างจนหาไม่เจอภายในไม่กี่วินาที

การค้าขายออนไลน์ที่ไม่มีเวบไซต์หรือ Landing page เป็นหลักแหล่ง ก็เหมือนการวิ่งขายของตลาดนัด หรือขายของเร่ร่อนไม่ซ้ำที่จนลูกค้าเก่าก็ตามซื้อไม่ง่าย และลูกค้าใหม่ก็ระแวง

6. สร้าง Traffic

เมื่อมีเวบไซต์หรือมี Landing page แล้วก็ต้องมีทางให้ลูกค้ามาเวบไซต์ง่ายๆ… ในโลกออฟไลน์ การขึ้นป้ายบอกที่ตั้งร้าน หรือป้ายบอกทางไว้ตามเส้นทางสัญจร มีความจำเป็นอันดับต้นๆ ของการประชาสัมพันธ์ที่ตั้งธุรกิจ… ในโลกออนไลน์ก็ไม่ต่างกัน การเอา Link ของเวบไซต์ร้านเราไปเผยแพร่ก็เป็นเรื่องจำเป็น 

ความจำเป็นของการมีเวบไซต์หรือ Landing page ให้สินค้า จะเห็นความจำเป็นชัดเจนเมื่อต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าหรือร้านค้าออนไลน์นี่เอง… ซึ่งถ้าท่านมีข้อมูลร้านและข้อมูลสินค้าอย่างดีไว้ที่เวบไซต์แล้ว ท่านก็เพียงแต่ประชาสัมพันธ์โดยใช้ข้อความโฆษณาแล้ว Link มาเวบไซต์เท่านั้นเอง… แต่กรณีไม่มีเวบไซต์หรือ Landing page ใช้ ทั้งข้อมูลโฆษณาและข้อมูลสินค้าจะสร้างงานและภาระเยอะกว่ามากในระยะยาว โดยเฉพาะหากจะต้องคอย Update ข้อมูลสินค้าทุกๆ ช่องทางที่ใช้เพื่อดึง Traffic มาสู่การขาย

การสร้าง Traffic ที่ได้รับความนิยมและหวังผลได้ที่รู้จักกันดีคือการทำ backling และ SEO รวมทั้งการซื้อโฆษณาออนไลน์นั่นเองครับ

7. วิเคราะห์และประเมินผลทางการตลาด

การทำตลาดออนไลน์ ตั้งแต่การทำ Contents Marketing ทั้งบน Social Network และเวบไซต์ รวมทั้งการทำ SEO และโฆษณาออนไลน์… จะเป็นต้องประเมินผลลัพท์ของเคมเปญและช่องทางเป็นระยะ และปรับเปลี่ยนแผนการตลาดให้เข้าเป้าที่สุด รวมทั้งค้นหาเป้าหมาย ช่องทางและแคมเปญที่ใช่ที่สุดในเวลานั้น

ถ้าแคมเปญลดราคา 20% กับลดราคา 30% กระตุ้นยอดขายไม่ต่างกัน… และข้อมูลชัด วัดมาอย่างดี ท่านก็คงตัดสินใจได้ว่า ลดราคาเท่าไหร่เหมาะสมแล้ว… หรือการซื้อโฆษณา จนหมดงบไปกว่าครึ่ง… ลูกค้าเก่าก็เงียบหาย ลูกค้าใหม่ไม่มีโผล่ ท่านคงตัดสินใจไม่ยากว่าจะทำยังไงต่อ

เครื่องมือวัดและประเมินก็คือยอดขายนั่นแหละครับ ดีที่สุด… แต่ก่อนจะเกิดยอดขาย อาจจะต้องพึ่งพาพวก เครื่องมือทางสถิติอย่าง Google Analytics หรือ Facebook Pixel ก็คงพอ… ถ้าใช้คู่กับเวบไซต์หรือ Landing page

8. พาสินค้าเข้า Market Place

ของบ้านเราก็ Shopee/Lazada ครับ… สมัครขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Market place ได้เลย… โดยได้ทั้งสินค้าที่มีคู่แข่งมากมาย และสินค้าที่มีแต่เราขายอยู่เจ้าเดียว ซึ่งการพาสินค้าหรือร้านค้าไปอยู่บน Market place ผมมองว่ามีแต่ข้อดีทั้งในแง่การประชาสัมพันธ์ และการแข่งขันที่จะทำให้เราใกล้ชิดคู่แข่งโดยปริยายอีกด้วย

9. หารีวิวเชิงบวก

ถ้าท่านเอาสินค้าขึ้นขายบน Market place แน่นอนว่าท่านจะได้รีวิวค่อนข้างแน่ จากลูกค้าที่ใช้บริการท่านด้วย… ซึ่งรีวิวเชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการรีวิวยกยอ หรือแม้แต่ให้เพื่อนหรือญาติสนิท สั่งของแล้วไปรีวิวยกยอให้เกินจริงจนบิดเบือน… ที่สุดท้ายก็อาจจะถูกลูกค้าตัวจริง รีวิวแหกไปอีกทางจนลูกค้าใหม่ทิ้งไปจากตัวเลือก เพราะข้อมูลน่าสงสัย

ในกรณีท่านมีเวบไซต์หรือ Landing page เป็นที่เป็นทาง ก็อย่าลืมเปิดกล่องความเห็นให้ลูกค้าด้วย… หลายร้านมีของชำร่วยเล็กๆ น้อยๆ ส่งกลับไปให้ลูกค้าเก่าที่เข้ามาเขียนรีวิวให้ที่เวบไซต์หรือบน Facebook ด้วยก็มี

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… ไล่ล่ารีวิวดีๆ มาสะสมไว้เยอะๆ หรืออย่างน้อยอย่าให้ขาดตอนเป็นดี

10. รักษาสัญญา

โฆษณาไว้อย่างไร… ทำให้ได้ตามนั้น… หมดยุคการพูดความจริงครึ่งเดียวหรือดอกจันกั๊กความจริงมาหลายปีแล้วครับ… การใช้เลห์เหลี่ยมโฆษณาในโลกออนไลน์ที่ใครก็จับภาพหน้าจอเก็บไว้ยืนยันทีหลังได้ สุดท้ายจะทำให้ท่านเสียเวลากับคนที่ไม่มีทางจะกลายเป็นยอดขายให้ได้ แถมยังจะกลายเป็นจำเลยตั้งแต่โดนด่าฟรีจนเป็นคดีความก็ได้

แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างคำสัญญาเรื่องเวลาและนัดหมาย ในยุคที่การรอเวบเพจโหลดนานๆ ยังไม่ไหวที่หลายครั้ง… คนขายของออนไลน์ที่รับปากส่งๆ เสียโอกาสที่จะได้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำมากมาย… ไม่ต้องพูดถึงลูกค้าใหม่จากการบอกต่อ ที่โอกาสถูกทำลายเพราะความพร่อยและกะล่อนของแม่ค้าพ่อค้าเอง ที่หลายท่านคงเห็นกรณีปิดเพจหนีเสียงด่าและรีวิวอุกกาบาตถล่มใส่ร้าน จนเจ๊งมานักต่อนัก

ขอให้ทุกท่านร่ำรวยครับ… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts