Start

15 Possible Motivations… พลังงานขับเคลื่อนพฤติกรรมการเรียนรู้

การศึกษาและระบบการศึกษา… ใช้เวลาของชีวิตเราท่านทุกคนเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงวัยเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเรียนจบมหาวิทยาลัย… บางกรณีเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งคำแนะนำเรื่องอ่านหนังสือ เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ได้คุ้นชินผ่านคลื่นเสียง มีงานวิจัยมากมายรองรับความเชื่อและแนวคิดส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งคำแนะนำมากมายค้นจาก Google Search ก็เจอแล้ว

พอเด็กๆ เติบโตมาถึงวัยเข้าอนุบาลจนถึงช่วงประถมศึกษาตอนต้น เด็กทุกคนมักถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ซึ่งคำว่าอะไร หรือ What ในคำถามนี้… พาเด็กค้นหาคำตอบใกล้ตัวมาให้คนถามโดยที่คนถามส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก… ซ้ำร้าย เจอคนถาม “คิดน้อย” ก็จะเอาคำตอบและไอเดียของเด็กมาล้อเลียนถากถางสนุกปากต่อไปอีก

ในหนังสือ The Student Mindset ของ Steve Oakes และ Martin Griffin แนะนำให้สอนเด็กหาคำตอบด้วย “Why?”

กรณีคำตอบว่า “อยากเป็นหมอ!” กับคำตอบว่า “มนุษย์เกิดแก่เจ็บตายเกี่ยวข้องกับหมอพยาบาลและโรงพยาบาล อยากเป็นหมอเพื่อดูแลภาวะที่วงจรชีวิตคนต้องเจอ 4 สิ่งนี้”

ซึ่งคำตอบยาวๆ ส่วนที่สองได้จากการถาม “ทำไม หรือ Why”

ประเด็นการตั้งคำถามเพื่อถามหามุมมองหรือวิสัยทัศน์ หรือ Vision ในโมเดล VESPA ซึ่งอธิบายนิยามกว้างๆ ไว้ในบทความตอน VESPA Mindset และ Students’ Vision and Attitude… จุดเริ่มต้นของ VESPA Model ซึ่งเป็นขั้นการเตรียมสอน หรือ Preparation… เมื่อมาถึงขั้นการสอน หรือ ขั้นการเริ่มขั้นตอนการเรียนรู้ให้นักเรียน หรือ ผู้เรียน… การตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมุมมองหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนให้ผู้เรียน… ฝั่งผู้สอนจึงควรต้องเตรียมข้อคำถามในมิติ Why Question มาช่วยผู้เรียนสร้างการรับรู้ต่อเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่จะเรียน

ซึ่งผู้สอนอาจเตรียมเป็นคำถามปลายเปิดส่งให้นักเรียนตอบตามที่คิดด้วยดินสอ ส่งคืนหลังชั่วโมงเรียน… หรือขอให้นักเรียน อภิปรายคำถามที่ผู้สอนเอาขึ้นกระดานก่อนเริ่มเรียน… หรือให้นักเรียนอภิปรายหรือตอบคำถามบนแบบฟอร์มอิเลคทรอนิคส์ล่วงหน้า… ซึ่งคำถามปลายเปิดที่แนะนำคือ การขึ้นต้นคำถามด้วย How ในภาษาอังกฤษ… หรือในภาษาไทยควรต้องขึ้นต้นประโยคคำถามว่า “ทำไม…..” หรือลงท้ายคำถามว่า “อย่างไร?” แม้ว่าวัตถุประสงค์จะต้องการถามว่าทำไม หรือ Why ก็ตาม!!!

ความสำคัญของชุดคำถามพัฒนา Students’ Mindset แบบนี้และชุดนี้… เป็นการตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนโดยตรง และย้ำความสำคัญของปัจจัยเงื่อนไขบนทางเลือกที่ผู้เรียน ต้องแลกด้วยเวลาและค่าเล่าเรียน เหมือนหลักกิโลข้างทางที่บอกจุดหมายปลายทางคนขับรถและจ่ายค่าน้ำมันว่า เรากำลังมาถูกทางแล้วและจำเป็นต้องผ่านเส้นทางนี้เพื่อไปให้ถึงปลายทาง… ซึ่งการเชื่อมั่นว่าเลือกเรียนมาถูกทางคือแรงจูงใจชั้นเลิศ ที่ไม่ใชเรื่องบังเอิญโชคดีหรือโชคร้ายที่ต้องเลือกมาทางนี้

งานวิจัยของ Professor Steven Reiss นักจิตวิทยาจาก Ohio State University ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 6,000 ราย เพื่อศึกษา “แรงจูงใจพื้นฐานต่อพฤติกรรม” ของคนเหล่านั้น… ซึ่งงานของ Professor Steven Reiss สามารถจัดกลุ่มแรงจูงได้มากถึง 15 กลุ่มจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนหนังสือ The Student Mindset คือ Steve Oakes และ Martin Griffin ได้นำแนวทางแรงจูงใจของ Professor Steven Reiss มาแนะนำเป็นกรอบในการพัฒนาคำถาม หรือชุดคำถามจากผู้เรียน จนผู้สอนสามารถแยกแยะจัดกลุ่มแรงจูงใจของผู้เรียนได้

กลุ่มแรงจูงใจทั้ง 15 ที่ Steve Oakes และ Martin Griffin พัฒนาต่อยอดงานค้นคว้าของ Professor Steven Reiss ได้แก่

  1. Acceptance หรือ การยอมรับ… เป็นความต้องการให้คนรอบข้าง เห็นด้วย ส่งเสริม สนับสนุนและรู้สึกที่ดีกับตน
  2. Competition หรือ การแข่งขัน… เป็นความรู้สึกท้าทายผ่านการเผชิญหน้าและแข่งขันกับผู้อื่น เพื่อยืนยันว่าตนเอง โดยใช้ผลแพ้ชนะมาสร้างแรงจูงใจขั้นต่อไป
  3. Curiosity หรือ ความอยากรู้อยากเห็น… เป็นความอยากรู้อยากลองและอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ
  4. Creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์… เป็นความต้องการสร้างผลงานที่แตกต่าง เพื่อให้ได้รับการยอมรับโดยมีงานสร้างสรรค์เป็นของพิสูจน์
  5. Family หรือ ครอบครัว… เป็นความต้องการช่วยเหลือดูแลคนในครอบครัวผ่านสายสัมพันธ์ทางสายเลือดด้วยความรับผิดชอบ
  6. Honour หรือ เกียรติ… เป็นความต้องการได้การยอมรับจากคนรอบข้างและสังคม ผ่านจารีตและค่านิยม หรือ Values ที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนอยู่ก่อนแล้ว
  7. Idealism หรือ อุดมคติ… เป็นความต้องการจะเห็นแนวทางในอุดมคติ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตนเอง เช่น ความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเสมอภาค
  8. Independence หรือ เสรีภาพ… เป็นความต้องการสร้างความแตกต่าง รวมทั้งการจัดระเบียบ และดำเนินการในแบบของตน
  1. Order หรือ คำสั่ง… เป็นความต้องการอยู่และดำเนินการภายใต้สภาวะที่คาดเดาได้ มีแนวทางชัดเจนหรือมีกิจวัตรที่ชัดเจน
  2. Physical Activity หรือ กิจกรรมทางกายภาพ… เป็นความต้องการใช้กิจกรรมจากแรงกาย สร้างผลลัพธ์ทั้งกับสรีระร่างกายตน ผ่านการท้าทายร่างกายและจิตใจตน
  3. Power หรือ อำนาจ… เป็นความต้องการมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของผู้อื่น และรับผิดชอบธุระการงานและผลงานของกลุ่ม
  4. Saving หรือ ประหยัด… เป็นความต้องการจัดการและจัดลำดับความสำคัญของทุกสิ่งรอบตัว ภายใต้เงื่อนไขคุ้มค่า หาง่ายได้ประโยชน์สูงสุด
  5. Social Contact หรือ ต้องการติดต่อสื่อสารและอยู่ในสังคม… เป็นความต้องการมีเพื่อน ต้องการมีเครือข่ายทางสังคม เพื่อยืนยันการเป็นที่ยอมรับของตน ที่มีต่อสมาชิกของสังคมในวงกว้าง
  6. Social Status หรือ สถานะทางสังคม… เป็นความต้องการเป็นคนสำคัญในกลุ่มคน ต้องการการยอมรับจากกลุ่มคนเป็นพิเศษ
  7. Tranquillity หรือ ความสงบ…  เป็นความต้องการผ่อนคลาย ปลอดภัยและไม่วุ่นวายสับสน

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… แรงจูงใจ 15 แบบที่กล่าวมานั้น สำคัญกับการนำมาใช้เพื่อผลักดันศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน เหมือนเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนพฤติกรรม ซึ่งเหตุผลว่าทำไมผู้เรียนคนนั้น หรือกลุ่มนั้นจึงเลือกเรียนรู้เส้นทางนี้ โดยผู้เรียนที่รู้ “ทำไมจึงเลือกเข้าเรียนวิชานี้ หลักสูตรนี้ เส้นทางนี้?” ของตนเอง

ส่วนผู้เรียนที่ไม่เข้าใจแรงจูงใจหลักของตน เหมือนนักศึกษาเลือกเรียนตามเพื่อนหรือแฟนในหลายๆ กรณี… จะขาดแรงจูงใจหลักของตนจนล้มเหลวเพราะแรงจูงใจที่ใช้เป็นของผู้อื่น ซึ่งผมมักจะเรียกแรงจูงใจแบบนี้ว่าเป็นแรงจูงใจมือสอง

คำแนะนำในหนังสือ The Student Mindset ของ Steve Oakes และ Martin Griffin จึงขอให้ผู้สอน ตามหาแรงจูงใจ 3 อันดับแรกจากแรงจูงใจ 15 แบบตามทฤษฎีของ Professor Steven Reiss… ทั้งของตนเองและของผู้เรียน 

และเราจะเอาแรงจูงใจ 3 อันดับแรกนั้น มาเลือกเส้นทางหรือแนวทางซึ่งมีอยู่เพียง 5 เส้นทางเท่านั้นเองให้เลือก… ตอนหน้ามาเล่าต่อครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *