มีคำสำคัญ หรือ Key Words ดูดีอยู่สองสามคำที่มักจะมีคนเอาไปพูดถึงพร่ำเพรื่อโดยหวังโฆษณาประชาสัมพันธ์ และ สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าดูดีจนน่ายกย่องชมเชยอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่ใช่… คำอย่าง “นวัตกรรม… ยั่งยืน หรือ โปร่งใส” ก็สามารถเรียกความฮาในบรรดาคนฟัง และ เพิ่มความพังให้บรรดาคนกล่าวได้เสมอ โดยเฉพาะคำว่า “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นคำที่กินความหมายกว้างขวางลึกซึ้งอย่างมาก
ความยั่งยืนเป็นประเด็นพูดกันมานานใน UN หรือ องค์การสหประชาชาติ จนกระทั่งปี 2015 จึงได้เห็นชอบในกรอบความยั่งยืนจนก้าวไปถึงขั้นกำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือ SDGs เอาไว้มากถึง 17 เป้าหมาย… ซึ่งไปไกลกว่าการเก็บขยะปลูกต้นไม้มาก… ก่อนอื่นไปดูกันก่อนว่าเป้าหมายความยั่งยืนแบบสากลที่ทั่วโลกกำหนดไว้ทั้ง 17 เป้าหมายมีอะไรบ้าง
- เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
- เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
- เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
- เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน
- เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
- เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
- เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ
- เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น
- เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
- เป้าหมายที่ 17 เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
จะเห็นว่า… กรอบเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทั้งระบบนิเวศบนห่วงโซ่เพื่อให้ “ผู้คน” มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… กรอบเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายที่มุ่งขับเคลื่อนโดยองค์การสหประชาชาตินี้ ถือเป็นโครงร่างสำหรับออกแบบ และ พัฒนาหลายสิ่งอย่างนับจากนี้ที่สามารถข้ามการคิดและพิจารณาเรื่องการกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าไปได้เลย ภายใต้เงื่อนไขของการยิบยกเอากรอบ SDGs มาใช้เป็นแนว… โดยไม่ลืมที่จะอ้างถึงเป้าหมายที่แท้จริงคือ ความยั่งยืนที่มี “ผู้คน” เป็นส่วนสำคัญที่ต้องพูดถึง
ที่น่าดีใจก็คือ… ประเทศไทยกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ตามกรอบขององค์การสหประชาชาตินั้น ถูกดูแลโดย สภาพัฒน์ หรือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ NESDC โดยกำหนดอยู่ในแผนแม่บทแห่งชาติไว้แล้ว… ซึ่งองค์กร หรือ ท่านใดที่อยากใช้ Key Words คำว่าความยั่งยืนสามารถหาเอกสารอ้างอิง และ เรื่องเล่าได้บนเวบไซต์ https://sdgs.nesdc.go.th ได้ตลอดเวลาครับ
Reference…