ปัญหาการอ่านออกในเด็กเล็กและวัยเรียนระดับปฐมศึกษา ยังถือเป็นปัญหาสำคัญที่ยังเห็นข้อมูลจากการวิจัยในชั้นเรียนในหลายประเทศ ถูกระบุว่าเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนทำได้ไม่ดีอย่างที่หวัง ซึ่งงานวิจัยมากมายระบุคล้ายกันว่า… ปัญหาการอ่านออกมีความสำคัญต่อจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก โดยเด็กที่อ่านออกได้เร็วและถูกกระตุ้นทักษะการอ่านอย่างเหมาะสมจะเติบโตกลายเป็นเด็กรักการเรียนรู้มากกว่าเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกและทักษะการอ่านไม่ดีพอ
ข้อมูลจากเวบไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยชี้ว่า… ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกมีหลายสาเหตุ ซึ่งถ้าตัดความบกพร่องทางสติปัญญาโดยกำเนิดออกไปแล้ว สาเหตุใหญ่ที่เด็กอ่านไม่ออกจะมาจาก “บ้าน กับ โรงเรียน” โดยเฉพาะบ้านที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญกับทักษะการอ่านของลูกวัยอนุบาล และ โรงเรียนที่ปล่อยให้เด็กออกไม่ออก เลื่อนชั้นขึ้นไปเจอทักษะและองค์ความรู้ที่ต้อง “อ่านให้ออก–เขียนให้ถูก” จนตามเพื่อนร่วมชั้นวัยเดียวกันไม่ทัน
ข้อสรุปจากบทความเรื่อง Common Types of Reading Problems and How to Help Children Who Have Them ของ Louise Spear-Swerling ชี้ว่า… ปัญหาการอ่านมีรูปแบบสำคัญที่ต้องระบุอยู่ 3 รูปแบบคือ
- Word-Reading Difficulties หรือ SWRD หรือ ปัญหาการสะกดคำอ่านได้ยาก
- Specific Reading Comprehension Difficulties หรือ SRCD หรือ ปัญหาการอ่านแล้วไม่เข้าใจ
- Mixed Reading Difficulties หรือ MRD หรือ ปัญหาผสม หรือ ปัญหาการสะกดคำอ่านไม่ได้ผสมกับอ่านไม่เข้าใจ
งานวิจัยของ Richard L. Allington และ Anne McGill-Franzen ในปี 2008 พบว่า… เด็กที่มีปัญหา SWRD จะเกี่ยวข้องกับการอ่าน และ การผสมคำอ่านโดยเฉพาะ ซึ่งกลุ่มนี้จะสามารถเข้าใจความหมายของคำที่อ่านออกถูกต้องได้ทั้งหมด… ส่วนกลุ่มที่มีปัญหา SRCD จะมีปัญหาในการเข้าใจคำ และหรือ ความหมายของคำทั้งๆ ที่สามารถผสมคำอ่านออกได้ถูกต้อง… ส่วนกลุ่มที่หนักสุดคือกลุ่มผสมคำไม่ได้ และ ไม่เข้าใจความหมายของคำ และยังงงงวยกับความหมายของประโยค… ซึ่งข้อเสนอแนะจากงานวิจัยของ Richard L. Allington และ Anne McGill-Franzen เสนอให้ระบุรูปแบบปัญหาการอ่านออกให้ถูกต้องก่อนจะช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการอ่าน
อย่างไรก็ตาม… งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับปัญหาอ่านไม่ออก รวมทั้งงานวิจัยของ Richard L. Allington และ Anne McGill-Franzen ด้วยที่ชี้ชัดว่า… ความบกพร่องของทักษะการอ่านที่สำคัญเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์ในการอ่าน” ที่เด็กเคยมีมาก่อน โดยพบเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำมักจะมีปัญหาเรื่องประสบการณ์การอ่านอย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนข้อสังเกตุจากงานตีพิมพ์ของ Paula J. Clarke และ คณะ ชี้แนะว่า… กลุ่มที่มีปัญหา SWRD ควรเน้นการสอนผสมคำ และ ออกเสียงให้มากก็จะสามารถแก้ไขได้… ส่วนกลุ่มที่มีปัญหา SRCD จำเป็นจะต้องสอนความเข้าใจ และ การตีความประโยคผ่านกลยุทธ์หลากหลายที่เน้นประสบการณ์ภายใต้บริบทของการเรียงคำสร้างประโยค และ เรื่องเล่า
ประเด็นคือ… ถ้าเด็กอ่านไม่ออก และหรือ สะกดคำอ่านไม่ถูก สุดท้ายก็มักจะทำความเข้าใจประโยคจากคำที่อ่านไม่ออก หรือ แม้แต่สะกดคำอ่านได้ช้า หรือเป็นเด็กในกลุ่ม MRD ที่มักจะมีสมรรถนะในการเรียน และ ผลทดสอบต่างๆ ออกมาไม่ดี…
วิธีช่วยเหลือเด็กมีปัญหาการอ่านทั้งแบบ SWRD และ SRCD รวมทั้ง MRD นั้น… กลยุทธ์แรกคือการระบุรูปแบบความบกพร่องให้ชัดเจน และ ควร “ใส่ใจ” เด็กที่มีปัญหาเป็นรายกรณี ซึ่งจะดีมากถ้าโรงเรียนและผู้ปกครองสามารถร่วมมือกันช่วยเหลือเด็ก ส่วนเครื่องมือและวิธีการก็มีเพียงหนังสือและการสร้างประสบการณ์ให้เด็กได้อ่านให้มาก… จนอ่านได้อย่างเข้าใจ
References…