ว่ากันว่า… นักธุรกิจที่ยังคงได้ทำธุรกิจอยู่จนถึงปัจจุบันล้วนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้คนทำธุรกิจส่วนหนึ่งจะกล้ายอมรับ และ เปิดเผยว่าเคยได้ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลว และหรือ ความผิดพลาดกันมาบ้าง แต่การที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบันได้อย่างดีในระดับหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าความล้มเหลว และหรือ สิ่งผิดพลาดในอดีตไม่ได้ทำลายอะไรให้น่าเสียใจตรงไหน… อย่างมากก็แค่เพียงมีเรื่องน่าเสียดายคอยผุดขึ้นมาในหัวเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้นเอง
ประเด็นก็คือ… ความล้มเหลวอันน่าเสียดายในอดีตในวันที่คนทำธุรกิจรู้สึกเสียดายจะหมายถึง “การได้เรียนรู้ และ การได้จดจำ” บทเรียนที่สำคัญ ซึ่งมักจะเป็นบทเรียนที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาสู่ธุรกิจ และ เส้นทางการทำธุรกิจของคนทำธุรกิจคนนั้น… ถึงแม้คนทำธุรกิจหลายคนจะล้มเหลวเข้าขั้น “ป่นปี้” จนต้องเปลี่ยนจากธุรกิจมูลค่าสูงไปเป็นธุรกิจเล็กๆ เพื่อเริ่มต้นในแบบที่เป็นไปได้ก็ตาม…
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… มุมมอง และ การรับรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจล้มเหลวของคนทำธุรกิจส่วนใหญ่มักจะตีความในเชิง “เปรียบเทียบส่วนได้–ส่วนเสีย” เป็นราคา อันเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ซึ่ง “การได้เรียนรู้ และ การได้จดจำ” ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบเป็นราคาได้… นอกจากจะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเปลี่ยนแปลง และ ไปสร้างธุรกิจความสำเร็จใหม่ให้มีราคาและมูลค่าขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะสร้างกับธุรกิจเดิม หรือ ทำกับธุรกิจใหม่… โดยหลายคำแนะนำยืนยันว่า ความล้มเหลวสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีมากๆ แนวทางหนึ่ง โดยเฉพาะความล้มเหลว 3 รูปแบบดังต่อไปนี้
- Preventable Failures หรือ ความล้มเหลวที่สามารถป้องกันได้… ซึ่งถ้าใครเคยผิดพลาดล้มเหลวในเรื่องที่สามารถป้องกันได้ คนๆ นั้นก็น่าจะได้เรียนรู้ว่าตนเป็นผู้ประกอบการที่ละเลยแนวปฏิบัติที่ดี หรือไม่ก็ทักษะความสามารถส่วนตัวไม่เหมาะสม รวมทั้งขาดความใส่ใจในประเด็นที่สำคัญ
- Unavoidable Failures หรือ ความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ความล้มเหลวประเภทนี้มักจะเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงเสมอถ้าเกิดสถานการณ์บางเหตุการณ์ขึ้นมา เช่น กรณีการเกิดโรคโควิดระบาดในปี 2019 หรือ กรณีราคาน้ำมันแพงลิบลิ่วในปลายยุค 70… ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่หลายๆ ธุรกิจที่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอด ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีกครั้ง… การเผชิญความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มาก่อนก็มักจะผลิตแนวปฏิบัติ “การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ให้ทุกครั้ง
- Intelligent Failures หรือ ความล้มเหลวอย่างชาญฉลาด… การล้มเหลวที่เสียหายน้อย และ จัดการความเสียหาย กับ ผลกระทบได้ “ดี และ เร็ว” จะถือว่าเป็นความล้มเหลวอันแสนฉลาดจากแนวทางการตระเตรียม และ ไตร่ตรองมาก่อนจะล้มเหลวแบบที่คาดถึง… ซึ่งกรณีความล้มเหลวของคนทำสตาร์ทอัพแบบที่พูดกันว่า Fail Fast………. จึงเป็นรูปแบบความล้มเหลวอันชาญฉลาดที่ได้ล้มลงอย่างที่คิด
ทราบกันแบบนี้แล้วก็อย่าพลาดที่จะ “เรียนรู้ และ จดจำ” ความล้มเหลวและให้คุณค่ากับหนทางที่หาความสำเร็จได้ยากเหล่านั้น… อย่างที่ Thomas Alva Edison กล่าวไว้ว่า I Have Not Failed. I’ve Just Found 10,000 Ways That Won’t Work หรือ ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมเพียงแค่เจอ 10,000 หนทางที่ไม่เวิร์คเท่านั้น
References…