ถ้าเราเป็นคนพูด เราจะได้ยินสิ่งที่ตัวเองพูดชัดเจนลึกซึ้งกว่าใคร… และเมื่อเราเงียบเสียงตัวเองลง แล้วตั้งใจฟังคนรอบข้างให้มากขึ้น เราจะได้ยินความคิดของคนอื่น กระแอมไอไปกับคำพูดพรั่งพรูอยู่เบื้องหน้าเสมอ… ผมจำไม่ได้แล้วว่าผมจดข้อความนี้มาจากไหนและใครพูด… แต่เป็น Note ท่อนหนึ่งที่ผมชอบทุกครั้งที่อ่าน…
ระยะหลังมานี้ผมเข้าใจความสำคัญของการฟังมากกว่าแต่ก่อน แต่ทักษะการฟังก็ยังไม่ได้เรื่องเท่าไหร่เข้าขั้นแย่เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นคนใจร้อน… ระยะหลังมานี้ผมจึงหาโอกาสเรียนรู้เทคนิคการฟัง และฝึกหุบริมฝีปากให้ถูกกาลเทศะให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
วันนี้ผมเลยคัดเอาความรู้เรื่องการฟังบางมิติมาแบ่งปันทุกท่าน… โดยยกเอาทฤษฎีของ Otto Scharmer ที่เรียกว่า Theory U ซึ่งพูดถึงคุณภาพของการฟังแต่ละระดับ เผื่อท่านที่สนใจจะได้เอาไว้สังเกตและ Feedback ตัวเอง
Claus Otto Scharmer เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Sloan School of Management… โรงเรียนสอนธุรกิจของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT และยังเป็น Co-founder หรือผู้ร่วมก่อตั้ง Presencing Institute และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ MIT IDEAS ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยสหวิทยาการที่จะเห็นนักศึกษาแพทย์กับนักศึกษาวิศวะทำงานร่วมกัน… และยังเขียนหนังสือขายดีอีกหลายเล่ม
การฟังระดับต่างๆ อย่างที่โปรยชวนเอาไว้ตอนต้นประกอบด้วย
1. Downloading
การฟังระดับ Downloading เป็นการฟังคนอื่น แต่เราได้ยินตัวเอง… ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินจะเชื่อมโยงกับความคิด ความเชื่อ ทัศนคติและความคุ้นเคยเดิมที่สะสมอยู่ในสมอง… การได้ยินและตัดสินใดๆ จึงขึ้นอยู่กับเสียงของตัวเองเป็นหลัก… โดยเราจะ Download ข้อมูลในสมองของตัวเองออกมาแสดงปฏิกิริยา ตอบสนองการฟังหรือการได้ยิน ซึ่งสาระของเรื่องที่ได้ยินจะถูกนำมาใช้เพียงเล็กน้อย
การฟังระดับนี้จึงเข้าลักษณะที่เรียกว่า I–IN–ME หรือ การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือ เอาตัวกูความคิดกูเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นประเด็นการลดคุณค่าตัวเองในระหว่างสนทนามากมายทีเดียว
การฟังขั้นนี้ ตัวคนฟังจะมีข้อสรุปในใจค่อนข้างชัด เช่น รู้สึกเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังอยู่ทั้งหมด… หยุดให้ความสนใจคนพูด หรือเลวร้ายถึงขั้นแสร้งเป็นฟังแต่ไม่ได้ใส่ใจ หรือถึงขั้นกำลังสนใจกับความคิดของตนเองอยู่แทน… ซึ่งจะเห็นด้วยและพอใจกับสิ่งที่ตนเองเห็นด้วยเท่านั้น…
การโต้เถียงจึงมักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อคนฟังแบบ Downloading สองคนคุยกันบนประสบการณ์และข้อมูลที่แตกต่าง… เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเชื่อสิ่งที่ “ตนเองมีในตนเอง หรือ I–IN–ME” มากกว่าจะฟังคู่สนทนา
นอกจากนั้น… การพูดคุยที่ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบ เธอพูดฉันเงียบฟัง เธอหันหลังทุกอย่างก็เหมือนเดิม… ซึ่งหลายครั้ง คนพูดก็ Download I–IN–ME มาพูด พอๆ กับคนฟังแบบเอาหูโต้คลื่นเสียง และ Download ข้อมูล I–IN–ME มาแลกเปลี่ยน
2. Factual Listening
การฟังระดับนี้จะมีการหยุดฟังข้อเท็จจริง หรือ ข้อมูลจากคนพูดที่กำลังสื่อสารอยู่… ซึ่งการฟังระดับนี้จะข้ามความคิด ความเชื่อ มุมมองและประสบการณ์ตนเองไปได้เพื่อพิจารณา “สาระ” ในเรื่องที่คนพูดกำลังถ่ายทอดออกมา
การฟังขั้นนี้จะ Open Mind หรือเปิดความคิด โดยไม่ยัดเยียดความเชื่อหรือประสบการณ์เดิมของตน ใส่ไปในการสนทนาหรือครุ่นคิดขณะที่ฟัง… และจะเป็นการฟังโดยเอา “เนื้อหาสาระ” ในประเด็นที่พูดเป็นศูนย์กลางแบบที่เรียกว่า I–IN–IT
ซึ่งลักษณะการฟังแบบ I–IN–IT จะให้ความสำคัญกับเนื้อหา ข้อมูล และเหตุผลเป็นหลัก… ผู้ฟังจะพยายามทำความเข้าใจว่า… อะไร? อย่างไร? ทำไม? เพราะอะไร?… การฟังแบบนี้จะเรียกหาแหล่งอ้างอิงหรือข้อมูลเชิงสถิติมาเปรียบเทียบ หรือใช้ประเมินเรื่องที่กำลังฟังอยู่… ส่วนมากจะพบในการสนทนาแบบอภิปราย หรือ Discussion เพื่อหาข้อสรุป หาแนวทาง หรือหาการตัดสินใจที่อาศัยข้อมูล หรือเป็นการพูดคุยเชิงวิชาการ
3. Empathic Listening
การฟังขั้นนี้จะเชื่อมต่อความรู้สึกและอารมณ์กับคนพูด… โดยจะเข้าใจ “ความสำคัญของเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูด” และยังเข้าใจผู้พูด โดยไม่มีความคิดเห็นหรือทัศนคติที่แตกต่าง แสดงออกระหว่างสนทนา
การฟังขั้นนี้จะเป็นการฟังขั้น เปิดใจ หรือ Open Heart และ ยกให้ผู้พูดเป็นศูนย์กลางจนเรียกได้ว่าเป็นลักษณะ I–IN–YOU
โดยจะมีความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับผู้พูด เข้าใจสาเหตุและสิ่งที่เล่าเสมือนว่าเป็นคนๆ นั้น… มีการยอมรับกันและกัน… ระดับความขัดแย้ง ความหงุดหงิด หรือทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยจะลดลงมาก หรือ ไม่มีเลยในขณะที่ฟัง… หลายครั้งอาจถึงขั้นเกิดอารมณ์ร่วมจนร้องไห้ หรือตะเบ็งเสียงหัวเราะ เพราะรู้สึกทุกข์สุข ไปพร้อมกับผู้พูด
4. Generative Listening
การฟังขั้นนี้จะเป็นการฟังที่ฟังและได้ยินเสียงของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ… โดยจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะของการได้ยินเสียงพูด และสาระในการสนทนานั้นให้ “ผ่านไป–มา”… คุณลักษณะของการฟังในระดับนี้ จะรับรู้การมีอยู่ของผู้พูด เรื่องที่พูด เชื่อมโยงรับรู้อย่างปัจจุบัน และปล่อยผ่านไป…
การฟังขั้นนี้จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ขึ้น การไม่ยึดติดในความเป็นตัวตน ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม ไม่มีความกลัว และยังเปิด “ความตั้งใจ หรือ Open Will” จากการไม่ยึดติดอดีต และไม่กังวลอนาคตที่จะเกิดขึ้น การฟังในระดับนี้จึงเรียกว่าเป็น Generative Listening เพราะสามารถทำให้การสนทนา เติมความคิดที่สดใหม่ให้ตนเอง
ลักษณะการฟังขั้นนี้จึงเรียกว่า I–IN–NOW… เพราะสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายในตนเองและวงสนทนา ทั้งความคิดและความรู้สึกของตนที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่กำลังฟัง เข้าใจสิ่งที่คนพูดต้องการสื่อ รับรู้ความรู้สึกของผู้พูด… ให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ปรากฏใน “ปัจจุบันแต่ละขณะ” และเปิดใจอนุญาตให้สิ่งที่ไม่รู้ ไม่พอใจ สามารถปรากฏขึ้นมาได้และผ่านไปได้ด้วย

ประเด็นมีอยู่ว่า… ในการสนทนาครั้งหนึ่งๆ… คนเราอาจไม่ได้อยู่ในสภาวะเดียวตลอด… บางขณะอาจจะ Downloading และ I–IN–ME อยู่ แล้วก็เปลี่ยนเป็น I–IN-NOW จนเกิดวิสัยทัศน์พลิกโลกก็ได้… และการฟังเป็นทักษะ แปลว่าฝึกได้และเรียนรู้ได้… และเรื่องง่ายอย่างการฟังนี่แหละที่คนส่วนใหญ่ละเลยจนลดคุณค่าตัวเองลงโดยไม่รู้ตัว
เงียบเสียงตัวเองลงหน่อยมั๊ยครับ!!!
อ้างอิง