Road to Mindset

5 Roads of Vision Activity…

ผมไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ประเทศไทยบรรจุ “วิชาแนะแนว” เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่เมื่อไหร่และอย่างไร… โดยส่วนตัวได้รู้จักวิชาแนะแนวตอนเรียนมัธยม และจำไม่ได้แล้วว่าชั่วโมงแนะแนวได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง ซึ่งมันก็นานมาแล้วและผมคงจำไม่ได้เอง

ในโมเดลการศึกษาที่ดึงเอา VESPA Mindset มานำการเรียนการสอนนั้น… ความเห็นส่วนตัวมองว่า VESPA Mindset มีกลิ่นไอของวิชาแนะแนวกำกับบทเรียนที่ใช้สอนอยู่อย่างเข้มข้น เพื่อช่วยนำทางนักเรียนหรือผู้เรียน ให้เห็นจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนของตัวเอง ซึ่งภาพร่างอนาคตที่ปลายทางหรือเป้าหมายนี่เองที่เรียกได้เต็มปากว่า… วิสัยทัศน์ หรือ Vision ซึ่งเป็น V ตัวแรกใน VESPA Model

บทความตอน 15 Possible Motivations… พลังงานขับเคลื่อนพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งผมถอดแนวทางมาจากหนังสือ The Student Mindset ของ Steve Oakes และ Martin Griffin โดยหนังสือได้แบ่งแรงจูงใจของผู้เรียนอ้างอิงงานของ Professor Steven Reiss นักจิตวิทยาจาก Ohio State University ซึ่งแรงจูงใจที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง Vision ให้ผู้เรียนได้นั้น… ผู้เขียนหนังสือ The Student Mindset มีเครื่องมือและคำแนะนำให้ค้นหาแรงจูงใจจาก “หนทาง” ที่ผู้เรียนเลือกใช้ผลักดันหรือจูงใจชี้นำตัวเองเป็นหลัก

โดยหนทางที่ว่านี้… จะหมายถึง “การตัดสินใจเลือก” ว่าจะยึดเหตุผลจากแรงจูงใจใดเป็นหลัก ซึ่งแรงจูงใจทั้ง 15 แบบ… จะแฝงอยู่ในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งใน 5 เส้นทางดังต่อไปนี้คือ

1. The Head หรือ ใช้หัวคิด หรือใช้เหตุผลเลือก

เส้นทางนี้จะถูกเลือกอย่างไตร่ตรอง สมเหตุสมผลและมีเหตุมีผลรองรับ ความเสี่ยงต่ำ ปลอดภัยสูง เชื่อมั่นได้…  แต่ก็คงไม่ตื่นเต้นท้าทายอะไรเท่าไหร่ เพราะจุดหมายปลายทางหรือผลลัพธ์ มักจะมีคำตอบชัดเจนในตัวอยู่แล้ว หรือจะเรียกว่าไม่มีอะไรให้ลุ้นก็ได้

2. The Heart หรือ ใช้ใจนำ หรือทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ

ถนนสายนี้จะพาคนเลือกไปถึงจุดหมายปลายฝันแบบที่ใจต้องการ ไม่มีเหตุผล มีแต่เสียงเรียกร้องจากภายใน เสี่ยงและเป้าหมายปลายทางพร่ามัว… แต่เป็นถนนสายที่เดินทางเพลิดเพลินตอนเริ่มต้นแน่นอน

3. If I Couldn’t Fail หรือ ถ้าฉันล้มเหลวไม่ได้ หรือทางเลือกเพื่อสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น

เส้นทางนี้จะรับประกันความสำเร็จ 100% แต่ไม่รับรองความพึงพอใจหรือเหตุผล และส่วนใหญ่จะมีประเด็นให้ทั้งลำบากกายใจก่อนจะถึงเป้าหมายหรือความสำเร็จหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ที่ต้องการ

4. Parents and Peers หรือ ผู้ปกครองและคนรอบข้าง หรือทางเลือกตามใจคนอื่น

ถนนสายนี้ เป็นความต้องการของพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ที่มีอิทธิพลกับความคิดและการตัดสินใจ… คนเลือกถนนสายนี้อาจจะพอใจหรือไม่ก็ได้… ซึ่งกรณีที่ไม่พอใจเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้สูงที่ผู้เลือกจะอยู่ในภาวะถูกกดดัน

5. The 8-year-old Me หรือ ทางเลือกตอนอายุ 8 ขวบ หรือทางเลือกแรกในวัยเด็ก

เส้นทางสายนี้มาจากคำตอบของคำถามตอนเป็นเด็ก 8 ขวบว่า… อนาคตอยากทำอะไร และทำไมจึงอยากทำสิ่งนั้น?… ซึ่งเป็นทางเลือกที่บริสุทธิ์จนแม้แต่เหตุผล หรือความในใจก็ไม่อาจแปดเปื้อนตัวเลือกนี้

ในหนังสือ The Student Mindset ของ Steve Oakes และ Martin Griffin แนะนำให้เขียนรายละเอียดให้ทางเลือกทั้ง 5… ถ้าเลือก The Head จะเลือกเพราะเหตุผลใดบ้าง… ถ้าเลือก The Heart เรามีแรงจูงใจใฝ่ฝัน หรือมี Passion ใดกระตุ้นจากภายใน… ถ้าเลือกเอาแน่นอนไม่ขอล้มเหลว ตัวเลือกที่ว่าคืออะไร และมีเงื่อนไขใดรับประกันว่าสุดท้ายจะแน่นอนตามคาด… ถ้าเลือกตามพ่อแม่ ต้องเลือกอะไรยังไง… และตัวเลือกในวัยเด็กคือ?…

ประเด็นก็คือ… ผู้เรียนมีทางเลือกที่ต้องทำให้ตัวเองชัดเจนเห็นเป้าหมายของตัวเอง ผู้สอนมีหน้าที่ Amplify หรือ ขยายภาพในอนาคต หรือขยาย Vision ของผู้เรียนให้ชัด และทำหน้าที่ชี้แจงเงื่อนไขของทางเลือกต่างๆ ว่า เส้นทางนี้จำเป็น “ต้อง” เรียนรู้ฝึกฝนอะไรแค่ไหนอย่างไร… เส้นทางนี้ “ควร” เรียนรู้ฝึกฝนอะไรอย่างไร… และสามารถข้ามการเรียนรู้ฝึกฝนที่ไม่จำเป็นอะไรไปได้ตอนไหนอย่างไร

แบบทดสอบหรือแบบฝึกนี้ ไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขเพื่อจัดหลักสูตรเฉพาะให้ผู้เรียนเป็นรายบุคคล  หรือทำทางเลือกหลากหลายให้ผู้สอนหรือโรงเรียนวุ่นวายซับซ้อนมากขึ้นหรอกครับ… แต่ผมมองว่าเป็นการดึงให้ผู้เรียนได้ “เข้าใจเป้าหมายตนเองอย่างชัดเจน”  ซึ่งครูอาจารย์สามารถใช้แรงจูงใจบนทางเลือกที่ชัดเจนนี้ ขับเคลื่อนผลักดันผู้เรียนรายบุคคล พาผู้เรียนผจญภัยในเส้นทางที่พวกเขาเต็มใจจะลงแรงลงใจด้วยฉากทัศน์ หรือ Scenario อันเป็นภาพชัดๆ ในวิสัยทัศน์ หรือ Vision ของผู้เรียนเอง… โดยไม่จำเป็นต้องแตะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในหลักสูตรเนื้อหาและแผนการสอนเดิมก็ได้ 

เพราะการทำกิจกรรมหรือแบบทดสอบ 5 Roads Activity ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการในหลักสูตร… ซึ่งผมมองว่า คล้ายๆ จะเป็นเพียงการประยุกต์เอาวิชาแนะแนวมาใส่กลไกด้านจิตวิทยา เพื่อให้การสอนเริ่มต้นที่เข้าใจผู้เรียนจริงๆ และผู้เรียนตระหนักจริงๆ ว่าอะไรสำคัญกับตน จนต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพราะรับรู้ความสำคัญนั้นแล้ว

ในเล่มหนังสือ The Student Mindset จะมีเพียงตัวอย่างแบบสอบถามหรือเครื่องมือ เพียงคร่าวๆ ของ 5 Roads Activity ครับ… ตัวเครื่องมือฉบับจริงที่ผู้เขียนหนังสือ The Student Mindset คือ Steve Oakes และ Martin Griffin นำใช้ จะอยู่ในเล่มแบบฝึกหัดแยกต่างหาก ชื่อว่า The Level Mindset กับ The GCSE Mindset

ครับผม!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *