Lifelong Learning

5 แนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา… ข่าวการประกาศรับสมัครทีมงานสาย AI บนทวิตเตอร์ของ Tech Tycoons คนดังอย่าง Elon Musk ที่ต้องการทีมงานเทคฮาร์ดคอร์แบบไม่ง้อใบปริญญา และขอแค่เจ๋งสุดในสิ่งที่ทำได้ก็พอ… ซึ่งนอกจากจะสร้างความฮือฮาไปทั้งโลกแล้ว ยังสะท้อนแนวทางการศึกษาที่ใบปริญญาอาจจะสำคัญน้อยกว่าทักษะงานของจริงที่พิสูจน์ได้

แนวทางการจ้างงานแบบไม่สนใจว่าเป็นใครมาจากไหน ขอให้มีผลงานจริงๆ มาอวด… และต้องพร้อมรับการทดสอบและแข่งขันโชว์ทักษะเดี๋ยวนั้น… เก่งจริง สุดยอดจริงรับรองได้งานแน่… และถ้ามีคนเก่งกว่าสุดยอดกว่าก็ต้องถอยไป เพราะสุดยอดงานที่ต้องการเฉพาะทักษะขั้นเทพนั้น… ต้องการผู้ชนะระดับเหรียญทองพร้อมกับทำลายสถิติเท่านั้น… แค่ชนะเลิศในบริบทนั้นยังไม่พอ!

ประเด็นก็คือ… ระบบการศึกษาแบบคลาสสิกที่มีหลักสูตร มีครูอาจารย์ มีห้องเรียน… คงไม่เพียงพอที่จะแข่งขันเพื่อเข้าร่วมทีมที่จะได้โอกาสสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่สำคัญต่อโลกใบนี้

ข่าวดีคือ การเป็นสุดยอดระดับโลกก็ไม่ได้สำคัญนักหรอก… ถ้าท่านยังเป็นท่านที่สุดยอดกว่าท่านคนเมื่อวานอยู่… ที่ใบประกาศหรือใบปริญญาที่ท่านเคยพิชิตมาได้ ก็เป็นเพียงของเดิมในอดีต ที่เหล่าบุคคลที่ก้าวหน้าทั้งหลาย พัฒนาตัวเองจากฐานความรู้เดิมมาไกลมากกันทุกคน

ประเด็นก็คือ… สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันด้วยอัตราเร่งที่กระชั้นขึ้นกว่าเดิมทุกวัน… ซึ่งสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นจากความรู้ใหม่ๆ หรือ New Knowledge ที่อย่างน้อยเราท่านต้องการการอัพเดท หรืออาจจะหนักหนาเข้าขั้นต้องเรียนรู้กันใหม่หมดก็มี

เมื่อความรู้เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน… การเรียนรู้ก็ควรเกิดขึ้นใหม่ให้ทันกัน… ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ และหลากหลายต้องการ Mindset หรือหลักคิดสองอย่างเพื่อสร้างพฤติกรรมให้ตอบรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำสิ่งที่รู้มาใหม่ไปต่อยอดใช้ประโยชน์

หลักแรกคือต้องรู้ว่า ความรู้ใหม่ๆ เรื่องใดต้องเรียนรู้และเรื่องใดต้องไม่สนใจ… เพราะทั้งหมดที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต นั่นหมายความว่า เราต้องเข้าใจตัวเองและเลือกได้ว่าจะเสียเวลากับอะไรและไม่ควรเสียเวลากับอะไร

หลักที่สองคือการฝึกเรียนรู้ตลอดชีวิต… ซึ่งวันนี้ผมมีแนวทาง 5 ประการ มาแนะนำสำหรับท่านที่เชื่อว่า New Knowledge คือโอกาสใหม่ และพร้อมจะเรียนรู้ได้เรื่อยๆ

  1. อ่าน… การอ่านหนังสือให้ประโยชน์กับคนอ่านเสมอ เพราะธรรมชาติของการอ่านหนังสือ จะเริ่มตั้งแต่การเลือกหนังสือที่จะอ่าน… ที่แม้แต่หลายๆ ท่านจะสามารถอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า… แต่การเลือกหยิบทุกอย่างตรงหน้ามาอ่าน ล้วนผ่านการเลือกด้วยทักษะที่เป็นธรรมชาติเพราะรักการอ่านล้วนๆ แต่การไม่ชอบอ่านหนังสือ ก็ไม่ได้แปลกหรือผิดพลาดด่างพร้อยอะไรหรอกนะครับ… เพราะยังมีอีกหลายวิธีในการเรียนรู้
  2. ฟัง… คนส่วนใหญ่ชอบฟัง ซึ่งนั่นทำให้กลยุทธ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์ ต้องมีใครซักคนมาอธิบายเป็นคำพูดให้เราเข้าใจ แม้ว่าคนๆ นั้นจะถอดคำพูดมาจากหนังสือเปะๆ แต่เราก็อยากฟังจากปากมากกว่าการอ่านเอง… ซึ่งผมก็บอกไม่ได้ว่า ลึกๆ ระดับสัญชาตญาณแล้ว เป็นเพราะเราโตมาแบบมีคนคอยสอนมาตลอดหรือเปล่า จึงทำให้การฟังกลายเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้… และในมิติของการเรียนรู้ การฟัง Podcast หรือหนังสือเสียง ย่อมช่วยตามหา New Knowledge ได้ง่ายกว่าค้นหาเองแบบสะเปะสะปะมาก
  3. ดู… เดี๋ยวนี้ในโลกออนไลน์มีคลิปติวโน่นนี่เยอะมาก ขอเพียงมีแรงจูงใจใฝ่รู้ โดยเฉพาะเรื่องง่ายๆ อย่างทำขนม ปรุงอาหาร แก้ปัญหาร้อยแปดที่คนส่วนใหญ่เจอในชีวิตประจำวันอย่างท่อตัน ส้วมแตก หรือทำไข่เค็มกินขาย…  ซึ่งคลิปเหล่านี้หาได้ไม่ยากเลยใน YouTube หรือ Google Search ที่บรรดา Contents Creator ต่างแข่งขันกันสร้างเนื้อหาดีๆ มาแบ่งปันแลกค่าโฆษณากันเป็นล่ำเป็นสันกันทุกชาติทุกภาษา
  4. เรียน… อ่านแล้วฟังแล้วดูแล้วยังไม่พอ… ต้องเรียนแล้วครับ เดี๋ยวนี้คอร์สเรียนออนไลน์มีมากมาย หลายคอร์สเรียนฟรีละเอียดยิบ ที่บอกเลยว่ามีสอนทุกอย่างจริงๆ ครับ โดยเฉพาะคอร์สที่เสียค่าใช้จ่ายเรียน ซึ่งหลายกรณี… ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าค่าเดินทางไปเรียนด้วยตัวเองเสียอีก… ปัญหามีเพียงอย่างเดียวแหละครับ… อยากเรียนหรือเปล่าแค่นั้นเอง ผมได้ยินหลายท่านอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้าง อยากก้าวหน้าบ้าง อยากออกจาก Comfort zone บ้าง… แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน… ตอบไว้ตรงนี้ให้เลยครับว่า “เริ่มที่เรียน” ครับ!… ซึ่งท่านจะต้องเรียนไปจนถึงจุดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ช้าเร็วยากง่ายของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน
  5. ลอก… หลายท่านที่ผมรู้จัก คงเคยลอกการบ้านเพื่อนหรือให้เพื่อนลอกการบ้านมาบ้าง สมัยเราเป็นเด็ก การลอกการบ้านเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ของครู และตราหน้าว่าการลอกการบ้านเป็นเรื่องผิด… ซึ่ง Mindset ใหม่เรื่องการลอกไม่ได้มองแบบนั้น ถ้า… ลอกมาแล้วเก่งขึ้น ดีขึ้น ต่อยอดได้เร็วขึ้น หรือแม้แต่การลอกเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง… ถ้าย้อนกลับไปราวสิบห้ายี่สิบปีที่แล้วช่วงปี 2000-2005 สินค้าจากจีนมักถูกประณามเรื่องขี้ลอกอย่างน่าชังมากมาย แต่ในปัจจุบันสินค้าจีนพัฒนาก้าวหน้าแทบจะทุกมิติ… ซึ่งการลอกและเลียนแบบคราวนั้นคือการเรียนรู้อย่างหนึ่งครับ… ผมเองเสนอให้ใช้เทคนิคการลอกแบบที่เรียกว่า Analogy ในหลายที่ๆ พูดกันเรื่องพัฒนานวัตกรรมบ่อยๆ … แต่ก็ยังรังเกียจการลอกเพราะไม่อยากเรียนรู้อยู่น๊ะครับ

อ่อ… ประเด็นตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการปริญญา แต่ต้องการ “คนเป็นงาน” พร้อมใช้เลยแบบที่ Elon Musk ประกาศนั้น… ความจริงมีงานแบบนี้สำหรับคนเก่งๆ เสมอแหละครับ ที่จะบอกก็คือ จะเรียนในระบบหรือเรียนด้วยตัวเองก็ได้ทั้งนั้น ขอให้ผลการเรียนสะท้อนถึงทักษะอาชีพก็พอ… ส่วนความเป็นเลิศของทักษะและอาชีพการงานนั้น ต้องสร้างจากประสบการณ์ที่ทำได้ดีขึ้นกว่าเก่าทุกวันเท่านั้น… แค่นั้น!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts