นักวิจัยจากสถาบัน BEDR หรือ Behavioral Economics and Decision Research แห่ง Cornell University ประมาณการเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจเอาไว้ว่า… คนทั่วไปในวัยผู้ใหญ่จะมีการตัดสินใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวในสารพัดเรื่องเป็นประจำไม่น้อยกว่า 35,000 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นตั้งแต่การเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าคนนายคน หรือ อยู่ในฐานะและบทบาทผู้นำแล้วหล่ะก็… การตัดสินใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวในแต่ละวันจะมีประเด็นอันซับซ้อนยุ่งยากมากกว่าปกติเพิ่มเติมกว่าปกติอีกมาก
การตัดสินใจจึงเป็นทั้งงานประจำที่คุ้นชิน และ เป็นงานจรที่ก่อความยุ่งยากให้ผู้นำในบทบาทต่างๆ เสมอ ถึงแม้รูปแบบและทักษะที่ใช้ในการตัดสินใจทุกครั้งจะมีความเหมือนกันที่ใช้หลักการพิจารณา “ข้อดี และ ข้อเสียของผลลัพธ์” คล้ายๆ กัน…. แต่ในหลายกรณีที่ต้องตัดสินใจก็ไม่ได้ง่ายที่จะแยกแยะข้อดีและข้อเสียได้อย่างชัดเจน และ อีกหลายกรณียังต้องตัดสินใจบนข้อดีข้อเสียในเชิงทำนาย หรือ สมมุติฐานที่บอกได้ยากว่าผลลัพธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไรอีกด้วย
ประเด็นก็คือ เรื่องที่ทำให้เราตัดสินใจได้ยาก กับ เรื่องที่ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายมักจะขึ้นอยู่กับ “ความรู้ และ ประสบการณ์” ของคนตัดสินใจเป็นสำคัญ…. ระดับความรู้ กับ ระดับของทักษะและประสบการณ์จึงทำให้ผลลัพธ์ และ รูปแบบการตัดสินใจมีผลลัพธ์ที่แตกต่าง… นอกจากนั้น โมเดล หรือ รูปแบบที่ถูกใช้ตัดสินใจอย่างเหมาะสม และ สอดคล้องกับบริบทที่ต้องตัดสินใจ ก็มีส่วนสำคัญในการผลิตผลลัพธ์ที่สามารถเพิ่มข้อดี ลดข้อเสียได้ด้วย โดยเฉพาะ 6 โมเดลการตัดสินใจดังต่อไปนี้คือ
- Rational Model หรือ โมเดลความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร… ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง ลำดับขั้นตอน และ ตรรกะในการตัดสินใจ… โดยโมเดลการตัดสินใจรูปแบบนี้จะมีความแม่นยำสูง และ ดีกับการตัดสินใจทั้งระดับบุคคล และ ระดับทีม แต่ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และ เสียเวลามาก
- Intuitive Model หรือ โมเดลง่ายๆ หรือ โมเดลการใช้กึ๋นกับเก๋า… จะเป็นโมเดลการตัดสินใจที่เร็ว และ ผลักดันให้เห็นผลลัพธ์ได้ค่อนข้างทันเวลา สิ้นเปลืองน้อย เด็ดขาด แต่ไม่สามารถใช้ในการตัดสินใจแบบกลุ่มได้ แต่ก็เป็นวิะีตัดสินใจที่ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดีในภาวะวิกฤต และ ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
- Vroom-Yetton Model หรือ โมเดลการตัดสินใจของ Victor Vroom และ Philip Yetton… ซึ่งเป็นหลักและแนวทางการตัดสินใจจากทฤษฎีจิตวิทยาองค์กรชื่อ Situational Leadership Theory อันเป็นหลักการใช้โซ่คำถาม หรือ Question Chain ช่วยตีกรอบทางเลือกและชี้นำผลลัพธ์ของการตัดสินใจ…. Vroom-Yetton Model มีข้อดีที่มักจะให้คำตอบได้ค่อนข้างลึกซึ้งและเป็นกลาง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถาม และ การเลือกคำตอบในแต่ละขั้นของการสะสางทางเลือกที่บ่อยครั้งอาจหลงประเด็นได้ง่ายถ้ามีข้อมูลน้อย และ ไม่หลากหลายพอ
- Recognition Primed Model หรือ โมเดลการตัดสินใจที่เน้นความสัมพันธ์ของเงื่อนไขทางเลือกกับตัวเลือก… ซึ่งจะเป็นวิธีตัดสินใจที่ถูกเตรียมทางเลือกเอาไว้ล่วงหน้าแบบที่โปรแกรมเมอร์จำลองเหตุการณ์รอไว้ในระบบซอฟท์แวร์บนฟังก์ชั่นเงื่อนไข IF – THEN – ELSE ซึ่งจะเรียกใช้ทางเลือกได้เร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ก็จะมีทางเลือกที่ไม่ยืดยุ่นกับเงื่อนไขนอกเหนือจากที่ถูกกำหนดไว้
- Bounded Rationality Model หรือ โมเดลความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล… ซึ่งการใช้หลักเหตุและผลในการตัดสินใจมักจะช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบที่คาดไม่ถึงได้มาก ใช้ในการชี้แจงต่อกลุ่ม หรือ ทีมได้ค่อนข้างดี แต่ก็มักจะได้ทางเลือกที่ค่อนข้างหยาบ ขาด Soft Power และ บ่อยครั้งที่เหตุผลในสถานการณ์เดียวกันแต่เกิด และ ตัดสินใจในต่างบริบทกันก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกันได้ด้วย
- Creative Model หรือ โมเดลความคิดสร้างสรรค์… จะเป็นการตีความ กำหนดนิยาม และหรือ ใช้มุมมองในการอธิบาย หรือ เล่าเรื่องแบบใหม่ ซึ่งการตัดสินใจด้วยมุมมองใหม่ และ การตีความใหม่จะมีรูปแบบ และ วิธีการที่หลากหลาย พิสดารพัลึกในบางกรณี และบ่อยครั้งก็หวังผลได้ยาก… เป็นเทคนิคการกลบทับ หรือ เบี่ยงเบนข้อเท็จจริงที่จัดการอย่างตรงไปตรงมาได้ยากเทคนิคหนึ่ง ใช้ได้ดีกับการหาทางจัดการปัญหาที่ไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นโมเดลการหาทางเลือกเพื่อการตัดสินใจที่สิ้นเปลืองทั้งเวลา และ ทรัพยากรค่อนข้างมาก
References….
Decision Making