ทักษะ 9 ด้านที่สามารถพัฒนาผ่าน Executive Function ตั้งแต่วัยหัดเดิน #ReDucation

Executive Functions หรือ EF หรือ สมองการจัดการ อันเป็นกระบวนการทางสมองที่ฟังก์ชั่นอยู่ภายในสมองส่วนหน้า หรือ Frontal Lobe… ซึ่งสมองส่วนหน้าจะฟังก์ชั่นการเคลื่อนไหว บุคลิกภาพ การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การได้กลิ่น และ บริเวณสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Broca’s Area จะฟังก์ชั่นการพูดและทักษะสื่อสารที่สัมพันธ์กันด้วย… โดยมีฟังก์ชั่นการจัดการ หรือ Executive Functions เป็นศูนย์กลางของฟังก์ชั่น หรือ กลไกการทำงานทั้งหมดของสมองคิด หรือ สมองส่วนหน้า… ซึ่งเติบโตสูงสุดในวัยทารกอายุ 1 ถึง 6 ขวบปีที่พ่อแม่ และ นักการศึกษาปฐมวัยไม่ควรพลาดแม้แต่นาทีเดียว

ประเด็นก็คือ… Executive Functions หรือ EF หรือ สมองการจัดการจำเป็นสำหรับการควบคุมพฤติกรรมทางปัญญาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมบุคคล และ การตัดสินใจเพื่อบรรลุเป้าหมายอันพึงประสงค์ ​​ซึ่ง EF จำเป็นสำหรับการตัดสินใจที่เหมาะสม… การแก้ปัญหา… ช่วยให้ลำดับการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อวางแผน ตัดสินใจและดำเนินการใดๆ ได้ดี ภายใต้ความรู้ความเข้าใจและบริบทที่ซับซ้อน โดยมีงานวิจัยของ Philip David Zelazo และ Stephanie M. Carlson ยืนยันอย่างชัดเจนว่าการพัฒนา EF ในวัยเด็กเกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมถึงผลลัพธ์ชีวิตที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภาวะสุขภาพ ความมั่นคงทางการเงิน และ ความเป็นอยู่ที่ดี

ส่วนหลักการพื้นฐานในการพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการผ่านการพัฒนาทักษะทั้งหมด 9 ด้าน โดยกระตุ้นฟังก์ชั่นการทำงานของสมองส่วนหน้าอย่างเป็นระบบ เพื่อให้กลไกทางประสาทวิทยาของสมองส่วนนี้ สามารถทำงานเทียบเท่ากลไกทางประสาทวิทยาของสมองนักปราชญ์ที่สามารถคิดวิเคราะห์ และ จัดการระบบความจำ ความคิดและการตัดสินใจได้อย่างซับซ้อนลึกซึ้ง

จากการค้นคว้าของนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก และ นักประสาทวิทยาที่ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ Executive Functions หรือ EF อย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้ด้าน EF ในปัจจุบันสามารถระบุทักษะด้านต่างๆ ที่ทารกและเด็กปฐมวัยควรถูกกระตุ้นเพื่อพัฒนา Executive Functions หรือ EF จะมีอยู่ทั้งหมด 9 ด้าน ใน 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ EF ได้แก่

กลุ่มทักษะพื้นฐาน หรือ Basic Skills… ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. Working Memory หรือ ความจำใช้งาน… เป็นศักยภาพในการจดจำข้อมูลจากประสบการณ์เพื่อใช้ประกอบการใช้สติปัญญาที่จะทำให้เด็ก IQ สูงขึ้น
  2. Inhibitory Control หรือ ความยับยั้งชั่งใจและการคิดไตร่ตรอง… อันเป็นทักษะและความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะเด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะเหมือน “รถไม่มีเบรก” ที่อาจจะทำสิ่งใดๆ โดยไม่ยั้งคิด และหรือไตร่ตรองอย่างรอบด้าน 
  3. Shift Cognitive Flexibility หรือ ทักษะการยืดหยุ่นความคิด… ที่เป็นความสามารถในการยืดหยุ่น หรือ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ยึดติดจนเป็นปัญหา แต่ก็ไม่โลเลจนไม่กล้าตัดสินใจ

กลุ่มทักษะการกำกับตนเอง หรือ Self-Direction Skills… ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านอารมณ์ ประกอบด้วย…

  1. Emotion Control หรือ การควบคุมอารมณ์… อันเป็นความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มักเป็นเด็กก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว และ อาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วยง่าย
  2. Focus/Attention หรือ ความสนใจจดจ่อ… ที่บ่งบอกการมีสมาธิ และ ความสามารถในการใส่ใจโดยจดจ่อ และ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่สนใจอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง หรือ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายหนึ่ง
  3. Self-Monitoring หรือ การประมาณตน… จะเป็นทักษะการประเมิน และ สะท้อนสิ่งที่คิดและการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง เท่าทันอารมณ์ความคิดตนเอง เข้าใจนัยยะแฝงการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง รวมถึงการประเมินผลงานตยเองเพื่อหาข้อบกพร่อง

กลุ่มทักษะการปฏิบัติ หรือ ทักษะการลงมือทำ หรือ Practical Skills… ประกอบด้วย

  1. Initiating หรือ การริเริ่มและลงมือทำ… อันเป็นความสามารถในการริเริ่มการงาน และ ลงมือทำตามที่คิด ไม่หวั่นกลัวความล้มเหลวก่อนจะได้ลงมือทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
  2. Planning and Organizing หรือ การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ… เป็นทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวมอย่างปรุโปร่ง ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น จัดลำดับความสำคัญไม่ได้ ทำให้งานยุ่งเหยิง ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันแต่ไม่เสร็จ หรือ ไม่สำเร็จสักอย่าง
  3. Goal-Directed Persistence หรือ การมุ่งเป้าหมาย… ซึ่งเป็นความเพียรเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างมีเหตุผล ตั้งใจและลงมือทำด้วยวิริยะอุตสาหะ และ มุ่งมั่นอดทน กล้าข้ามอุปสรรค และ อดทนแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ประเด็นสำคัญก็คือ… ทักษะเหล่านี้จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตั้งแต่ยังเป็นทารก โดยงานวิจัยมากมายยืนยันว่า…พัฒนาการของสมองส่วนหน้า และ EF จะเติบโตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 1-6 ขวบปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีกระบวนการสร้างไมอีลิน หรือ Myelination และ ซินแนปโตเจเนซิส หรือ  Synaptogenesis ขึ้นในสมอง… ช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาทองของการส่งเสริมการทำงานของ Executive Functions หรือ EF ก่อนที่สมองจะแตกกิ่งเป็นใยประสาทตามประสบการณ์การเลี้ยงดู และ การส่งเสริมพัฒนาการที่ให้คุณค่าน้อยกว่า

หมายเหตุ… องค์ความรู้ด้าน Executive Functions หรือ EF ในปัจจุบันยังคงมีการค้นคว้า และ เสนอทฤษฎีเพิ่มเติมและท้าทายองค์ความรู้เดิมอย่างต่อเนื่อง ท่านที่สนใจจึงจำเป็นต้องติดตามการศึกษาค้นคว้าใหม่ๆ เพื่อ Update องค์ความรู้ก่อนนำใช้และถ่ายทอด

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *