9 ขั้นตอน เตรียมการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์

สุดสัปดาห์นี้ผมมีนัดกับน้องๆ ที่ดูแลผมมาตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าของธุรกิจออนไลน์แบบอาชีพที่สองหรืองานอดิเรก… และวางแผนยาวถึงหลังเกษียณ…  ผมยินดีถ่ายทอดรูปแบบ ความรู้และเครื่องมือการค้าออนไลน์ภายใต้ Concept Reder Entrepreneur ที่ผมพัฒนาขึ้นจากวิสัยทัศน์ Forkplay เป็นปฐมฤกษ์ด้วยครับ

แน่นอนว่า… ผมก็ยังยืนอยู่ในฐานะที่ปรึกษาระหว่างการสร้างโมเดลการขายสินค้าออนไลน์ให้น้องกลุ่มนี้… เหมือนๆ ที่ผมทำมาหาเลี้ยงชีพมาตลอด… เพียงแต่วันนี้ผมมีเครื่องมือทำธุรกิจออนไลน์เป็นของตัวเอง ควบคุมและแจกจ่ายแบ่งปันให้ใช้ตั้งต้นทำธุรกิจออนไลน์ได้ทันที ลดการพึ่งพาโซเซี่ยลมีเดียและเครื่องมือออนไลน์ราคาแพงทั้งหลาย เพื่อสร้างสมดุลให้รูปแบบการทำธุรกิจและ Digital Marketing ให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น

ผมชวนน้องๆ กลุ่มนี้มาทดสอบโมเดลที่ผมพัฒนาขึ้นใหม่ และทุกคนตอบตกลง… ทั้งหมด… ผมดำเนินการด้วยกรอบ Design Thinking ที่จะดูแลกรณีนี้ในลักษณะการทดสอบโมเดล หรือใน Design Thinking Process ก็คือขั้นตอนการ Test Prototype นั่นเองครับ

วันนี้ผมเลยเอาบทความเรื่อง 9 ขั้นตอนสำหรับเตรียมตัวเป็นผู้ประกอบการออนไลน์… ที่ผมเตรียมไว้… ภายใต้กรอบที่ผมต้องออกแบบ และวางแผนหลายๆ อย่างเพื่อให้คนทำงานประจำ พร้อมภาระการดูแลครอบครัวพ่วงรอบตัว… มีฐานคิดว่าต้องเตรียมอะไรแค่ไหนในช่วงเริ่มต้น… และบันทึกไว้แบ่งปันท่านอื่นๆ ที่สนใจไปพร้อมกัน

9 ขั้นตอนเริ่มขายของออนไลน์ ผมลอกหัวขัอและรายละเอียดบางส่วนมาจาก Am2b Marketing ครับ มีตัดเติมเสริมแต่งด้วยกลิ่นอายของ Reder Entrepreneur ตามสมควร… ท่านที่สนใจความรู้ทางการตลาดที่แบ่งปันด้วยภาษาเข้าใจง่ายลองเข้าเวบ Am2bmarketing.co.th ไปศึกษาเพิ่มเติมและใช้บริการได้ครับ

เอาหล่ะ… ลำดับขั้นตอน 9 เรื่องที่ต้องเตรียม… คร่าวๆ มีดังนี้ครับ

  1. กำหนดแผนธุรกิจ
    แผนธุรกิจมีความสำคัญมาก เพราะนี่คือพิมพ์เขียวที่ท่านจะได้เห็นเงาร่างของธุรกิจตัวเอง… ธุรกิจเล็กใหญ่ก็ร่างออกมาครับ… เงินทุน ราคา กลยุทธ์ การตลาด ยังไม่ต้องสนใจรูปแบบ แต่ให้เน้นระดมไอเดียและทรัพยากรมากางดูแล้วค่อยจัดลำดับให้เข้าที่เข้าทาง…

  2. คิดให้แตกต่างและหาช่องว่างให้เจอ
    ในขั้นนี้… ถ้าสินค้าหรือบริการไม่ได้ผิดประหลาดจนไม่เคยมีใครทำธุรกิจในหมวดหมู่หรือแนวนี้มาก่อน… ผมหมายถึงหมวดหมู่สินค้าเลยน๊ะครับ!… ก็น่าจะมีใครซักคนทำธุรกิจคล้ายๆ ที่ท่านอยากทำอยู่ ตรงนี้อาจจะเป็นคู่แข่ง หรือเจ้าตลาดที่อยากไปปันส่วนแบ่งเขามา… หาข้อมูล หาช่องว่าง (Gap) หรือหา Pain Points มา… หาทางปิด Gap และแก้ Pain Points ได้… แสดงว่าท่านคิดต่างได้แล้ว

  3. เลือกสินค้าที่จะขายและรูปแบบการบริการ
    ลำดับต่อมา… เจ้าของกิจการออนไลน์คนใหม่ต้องออกแบบก็คือ การเลือกของหรือสินค้าที่จะมาขายเพื่อเติม Gap แก้ Pain Point… ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะขายสินค้าอะไรดี… ก็ขอแนะนำให้เลือกสินค้าที่ท่านมีความรู้ดี สนใจสินค้านั้นมาก หรือมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้าตัวนั้นๆ หรือสินค้ากลุ่มนั้น… เลือกได้ทั้งสินค้าที่สร้างประสบการณ์ดีเยี่ยมให้เรา หรือจะเป็นสินค้าที่สร้างประสบการณ์สุดแย่ให้เราก็ได้… ถ้าทำให้มันดีกว่าได้… ท่านน่าจะเจอสินค้าแห่งความมั่งคั่งค่อนข้างแน่

  4. ทดสอบเสียงตอบรับของสินค้า
    ก่อนจะตัดสินใจลงทุนลงแรงกับสินค้าประเภทใด การทดสอบตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง eBay, Shopee, Lazada เพื่อทดสอบตรงกับกลุ่มลูกค้าออนไลน์… หรือจะทำ AB Testing เล็กๆ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าสินค้าของท่านได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน… งานตรงนี้มีเทคนิคมากมายที่สามารถทดสอบตลาด สินค้าหรือบริการ… สินค้าหรือบริการบางชนิดหรือบางประเภท อาจจะไม่ต้องใช้สินค้าจริงก็ได้… เพราะในโลกออนไลน์มีเครื่องมือและเทคนิคหลายร้อยเล่มเกวียนให้เลือกใช้
  5. เลือก Host และโดเมนของธุรกิจ
    เมื่อมีแผนงาน และสินค้าที่เหมาะสมในการทำธุรกิจออนไลน์ของแล้ว ต่อมาท่านต้องมีเว็บไซต์ หรืออย่างน้อยต้องมีเพจข้อมูลสินค้า ที่จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าของท่าน… เพราะลูกค้าออนไลน์จะไม่สอบถามอะไรท่านแน่นอน นอกจากสนใจจะซื้อ… และการสอบถามข้อมูลสินค้าส่วนใหญ่ที่ร้านค้าหรือธุรกิจออนไลน์หน้าใหม่เจอ มักจะเป็นคู่แข่งหรือเจ้าตลาดเดิมที่รบกวนเวลาเรื่องข้อมูลสินค้าที่ต้องถามเพิ่ม… ถ้าโชคร้ายท่านอาจจะเจอหน้าม้าจากแพลตฟอร์มสร้างเสียงตอบรับเทียมให้ท่านวางใจก็ได้…

    Host หรือ Page ข้อมูลสินค้าถือว่าสำคัญมาก… อย่าลืมให้ความสำคัญกับการเลือกชื่อเพจ หรือชื่อโดเมนที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายและลูกค้า ค้นหาท่านได้ง่ายๆ… หลีกเลี่ยงการวางข้อมูลสินค้าบน Host หรือ Page ที่ “ลดคุณค่า” ของสินค้าหรือธุรกิจของท่าน… รายละเอียดส่วนนี้มีมิติต้องทำความเข้าใจพอสมควรครับ… ข้อมูลหลายอย่างผมอธิบายออนไลน์เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้จริงๆ เพราะข้อความบางส่วนกระทบบุคคลอื่นหรือธุรกิจแนวทางอื่นๆ หรือไม่ก็ตีความได้คลาดเคลื่อนจากที่ควรจะเป็นได้ง่าย

    เรื่องการตั้งชื่อโดเมน เดี๋ยววันหลังผมจะเอามาคลี่รายละเอียดเป็นแนวทางให้อีกที…

  6. เลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
    ชั้นนี้เป็นการเลือกช่องทางการขาย… ร้านค้าออนไลน์ในยุคนี้จำเป็นต้องพาสินค้า ไปอยู่กับช่องทางการขายที่เหมาะสม… รวมทั้งพาสินค้าไปอยู่ทุกช่องทางที่เป็นไปได้ที่จะเจอลูกค้าจำนวนมาก เพื่อเสนอสินค้าให้เป็นตัวเลือกระหว่างที่ลูกค้าเปรียบเทียบสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ… หรือไปไกลได้ถึงการทำ Funnel Experience กับกลุ่มเป้าหมายได้ยิ่งประเสริฐเลิศเลอ

    ตรงนี้เป็นกลยุทธ์ครับ… แม้แต่สินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ก็ต้องพาตัวเองไปอยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชอื่นๆ นอก Official Website กันทั้งนั้น… ถึงตรงนี้คำแนะนำที่ดีที่สุดก็ยังแนะนำให้ใช้ทุกช่องทางที่เป็นไปได้กับความสามารถของเรา… และตามกลิ่นลูกค้าไป!

  7. ข้อมูลสินค้าและข้อความเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์
    ตอนนี้เรารู้แล้วว่าสินค้าที่จะขายคืออะไร จะขายผ่านช่องทางไหน… สิ่งที่ต้องเตรียมต่อมาคือข้อมูลสินค้า… ต้องเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเตรียมได้ ละเอียด ชัดเจน… จำไว้ว่า การขายสินค้าออนไลน์เป็นการเสนอข้อมูลให้ลูกค้าพิจารณาทางเดียว… สินค้าที่ข้อมูลชัดเจนย่อมได้เปรียบสินค้าที่ข้อมูลคลุมเคลือ… ธุรกิจออนไลน์ที่มีข้อมูลชัดเจน ย่อมน่าเชื่อถือกว่าร้านค้าที่สร้างคำถามวาดระแวงให้ลูกค้าตั้งแต่เห็นข้อมูล

    คำแนะนำคือ… ข้อมูลสินค้าให้หาระดับค้นคว้า และนำมาเรียบเรียงไว้อย่างดี สามารถ Copy ไปใช้ได้ง่าย เพราะทุกช่องทางการขาย รวมทั้งทุกๆ touch point ที่ต้องสัมผัสลูกค้า ข้อมูลสินค้าจำเป็นมาก ต้องพร้อมใช้เหมือนท่านมีโบว์ชัวส์เด็ดๆ ติดมือไว้ตลอดเวลา… รูปภาพประกอบ คลิป และข้อมูลเพื่อสื่อสารการตลาดทั้งหลาย ต้องจัดเตรียมอย่างดี… ที่จะบอกก็คือ ไม่ว่าท่านจะนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางไหน ข้อมูลที่เตรียมไว้ทั้งหมดจะได้ใช้เรื่อยๆ… ส่วนเทคนิคการเตรียมข้อมูลสินค้าและธุรกิจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดเฉพาะสูงมากครับ… ถ้าท่านรู้จักสินค้าดี รู้จักลูกค้าดี ใช้เครื่องมือเป็น… ก็จะช่วยเตรียมข้อมูลเหล่านี้ได้ดีไปด้วยแน่นอนครับ

  8. เลือกวิธีชำระเงิน
    ขายแล้วไม่ได้ตังค์คงเรียกว่าขายไม่ได้… ถ้าท่านใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชเป็นช่องทางหลัก โดยมากท่านจะถูกบังคับใช้ระบบชำระเงินของแพลตฟอร์มอยู่แล้ว… แน่นอนว่ามันจะมีค่าธรรมเนียม แต่ผมคิดว่ายังไงก็คุ้ม…

    ส่วนที่เป็นร้านค้าย่อยที่ไม่มีระบบหลังบ้านเป็นของตัวเอง โดยมากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในบ้านเราจะเลือกใช้ช่องทางการโอนเงินชำระค่าสินค้าและส่งสำเนายืนยันกันก่อนส่งสินค้า แม้จะเป็นวิธีที่ “ไม่สะดวก” กับลูกค้านัก แต่ก็ใช้กันอย่างกว้างขวาง… ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จำนวนหนึ่ง ก็พาธุรกิจตัวเองไปใช้บริการ Payment Gateway เพื่อสร้างภาพลักษณ์และประสบการณ์ที่ดีกว่าให้ลูกค้า… แต่ก็เป็นช่องทางการชำระเงินที่มีค่าใช้จ่ายอย่าง “ค่าธรรมเนียม” เกิดขึ้นเหมือนๆ กับที่ใช้แพลตฟอร์มเช่นกัน…

    การเลือกช่องทางการชำระเงินก็เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงเช่นกันครับ… ควรเรียนรู้ให้มาก ประเมินให้รอบคอบและปรับเปลี่ยนเครื่องมือรับชำระเงินให้เหมาะสม ยิ่งเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ FinTech กำลังไล่ Disrupted ทุกสิ่ง… เปิดหูเปิดตาเปิดใจตามกระแสให้ทัน… ผมหมายถึงให้ทันลูกค้าครับ


  9. เลือกวิธีส่งสินค้า
    ขั้นนี้จะเป็นการส่งมอบ… สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สินค้าจากเราถึงลูกค้าต้องสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียหาย… โดยมากการเลือกวิธีและช่องทางการขนส่ง เราจะเลือกเครือข่ายการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าของเรา สินค้าเบา สินค้าหนัก ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ แตกง่าย เน่าเร็ว… ต้องศึกษาเปรียบเทียบ เรียนรู้ หลายที่หลายอย่าง

    หาข้อมูลเยอะๆ ทั้ง Packaging and Logistics… และต้องไม่ลืมว่า ส่วนนี้อยู่ในโครงสร้างต้นทุนการดำเนินการด้วยครับ

คร่าวๆ ก่อนน๊ะครับ เรื่องแบบนี้เขียนยังไงก็ไม่น่าคลุมประเด็น… เอาเป็นว่า ท่านสนใจประเด็นไหน ก็ทักถามเข้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้เสมอเช่นเดิม… เพิ่ม @reder เป็นเพื่อนไลน์ แล้ว DM เข้ามาเลยครับ

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts