Jean Bye สมาชิกบ้านพักคนชราที่ Elermore Glen Retirement Village ในออสเตรเลียวัย 90 ปี เพิ่งได้เห็นคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ เป็นครั้งแรก Susan ครูอาสาสมัครสอนคอมพิวเตอร์ของ Elermore Glen เล่าว่า แรงจูงใจของคุณยาย Jean Bye ก็คือ…
เธอได้ยินมาว่า ในคอมพิวเตอร์มีแบบและลายปักโคเชจากอินเตอร์เน็ตเยอะแยะ… เธอจึงเริ่มต้นค่อยๆ เรียนรู้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และใช้เวลาอยู่ในนั้นวันละ 6 ชั่วโมงขึ้นไป… เธอส่งอีเมล์หาลูกหลานและเพื่อนฝูง ใช้เวลาบนเวบไซต์ Pinterest, eBay และเวบไซต์งานฝีมือต่างๆ… แถมยังเปิดบัญชีกับ PayPal ด้วย… ที่เด็ดกว่านั้นคือ คุณยาย Jean Bye จองทริปท่องตะวันตกออสเตรเลียทางออนไลน์ด้วย แถมยังทำวิดีโอจากภาพถ่าย เชครายการโทรศัพท์ ดาวน์โหลด พิมพ์ภาพและซื้อของใช้ออนไลน์… ทั้งๆ ที่ Jean Bye อายุมากจนสั่นไปทั้งตัวแล้ว

ที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อจะบอกว่า… ทักษะดิจิตอลและคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุมากครับ… ผมก็ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านของผมจะยอมรับเรื่องวัยแค่ไหน แต่ถ้าทักษะทางดิจิตอลของท่านด้อยกว่าคุณยาย Jean Bye ก็ต้องคิดแล้วหล่ะครับว่า… ถ้าใช้ Digital Knowledge ประเมินวัยด้วย… ท่านจะวัยไหน?
นานมาแล้วผมก็เคยเป็นอาสาสมัครเข้าไปสอนคอมพิวเตอร์ให้ชมรมผู้สูงอายุในชุมชน… พร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลโครงการสอนคอมพิวเตอร์ผู้สูงอายุกลับมาด้วย… งานไม่ได้ทำระดับงานวิจัยหรอกครับ แค่เก็บข้อมูลเบื้องต้นมาดูแนวทางเท่านั้น และโครงการนั้นก็พับไปเพราะว่าผู้สูงอายุในชุมชนเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ไม่เห็นประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ และมองว่าคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับสำนักงานธุรกิจมากกว่า
ถึงวันนี้… คอมพิวเตอร์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือที่ค่ายมือถือเอามาแจกฟรีพร้อมซิมการ์ดในปัจจุบันเสียอีก… เมื่อ 15 ปีก่อนคอมพิวเตอร์ไม่ได้น่าสนใจ ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้… ถึงทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ไม่ได้น่าสนใจก็เป็นเรื่องเข้าใจได้
เพราะโลกได้ผ่านคอมพิวเตอร์มาถึงดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว… และดิจิตอลในยุคดิจิตอลนี่แหละครับที่จะเบียดเข้ามาในชีวิตเราท่าน เหมือนที่มือถือแทรกมาเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเรานั่นแหละ… ที่จะบอกก็คือ… อีกหน่อยจะไม่ได้มีแต่มือถือหรอกน๊ะครับ
เครือข่ายจัดอบรมคอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงอายุเมื่อ 15 กว่าปีมาแล้วของผม ยังมีที่ติดต่อได้อยู่สองสามท่านที่เป็นแกนนำและผู้ประสานงาน… ผมต่อสายถึงท่านเหล่านั้นนานๆ ครั้ง เมื่อคุยกับผม สองสามท่านที่ว่านี้จะเล่าเรื่องทักษะคอมพิวเตอร์ของตัวเองอวดผมเสมอ… เพราะท่านก็นั่งเป็นนักเรียนของผมด้วยในวันนั้น
คำตอบสำคัญที่ผมค้นพบจากความสำเร็จในการฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ก็คือ ทั้งสามท่านเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ที่เปิดใช้งานทุกวัน… หาคู่มือมาศึกษาเองและเปลี่ยนเครื่องใหม่มาแล้วหลายเครื่องตลอดหลายปี
ล่าสุดผมเพิ่งโทรหาท่านหนึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา… เพราะผมอยากเขียนบทความบทนี้แหละครับ และอยากได้คำแนะนำจากปากคนที่ เรียนคอมพิวเตอร์ด้วยวันเกือบห้าสิบปีตอนนั้น กับพื้นฐานอ่านออกเขียนได้… แม้ท่านจะเป็นผู้นำชุมชนเจ้าของรางวัลเต็มบ้านก็เถอะ… ผมทราบดีว่าไม่ใช่ทุกคนจะหัดคอมและเก่งดิจิตอลไม่แพ้เด็กรุ่นใหม่ได้ทุกคน… ผมหมายถึงทักษะระดับใช้งานทั่วไปที่กลืนเข้าไปในชีวิตประจำแบบที่ใช้เป็นเครื่องมือน๊ะครับ
ผมถามว่า… คิดว่าเพราะอะไรพี่กำนันถึงกลายเป็นเซียนคอมเล่นเกมส์แข่งกับหลานได้ขนาดนี้?… ท่านตอบว่า “ต้องรู้ก่อนว่าอยากเอาใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไร จะมีสาระหรือไร้สาระก็ได้หมด แล้วใช้เวลากับมันในชีวิตประจำวัน… แรกๆ ผมแค่อยากพิมพ์หน้าซองไปร่วมงาน… แล้วก็นั่งเล่นเกมส์… วีดีโอคอลกับลูก เวลาผมวิดีโอคอลกับลูกเมื่อก่อนจะเปิดเครื่องเปิดกล้องไว้เลยช่วงเย็น ลูกก็เหมือนกัน ถ่ายทอดสดหากันทุกวัน… ทุกวันนี้ใช้ IPAD ยิ่งสะดวก… ค่าเน็ต 3BB ก็เหมาจ่ายรายเดือน เปิดกล้องคุยกับเขาไปทั่ว…”
อีกยาวครับ ถ้าจะถอดความเห็นคำต่อคำ… เอาเป็นว่า Mindset แรกของการพัฒนาทักษะดิจิตอลคือ ต้องรู้ก่อนว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร… ประเด็นก็คือ หลายท่านมีทักษะดิจิตอลกับมือถือจนสามารถ Pivot ไปใช้ทำอย่างอื่นเช่น เป็น Bloger, YouTuber, ค้าขายออนไลน์ หรือแม้แต่พัฒนาความรู้และฝีมือให้ตัวเอง… แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งหมดก็จะวนกลับมาที่… จะทำอะไรไปทำไมอยู่ดี
หาแรงจูงใจให้เจอครับ!
อ้างอิง