Vahana เป็นโครงการพัฒนายานบินไฟฟ้าขึ้นลงทางดิ่ง หรือ eVTOL หรือ Electric Vertical Take-Off And Landing ของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ด้วยสินทรัพย์ปี 2022 ที่ 58.76 พันล้านยูโรดอลลาร์อย่าง Airbus ซึ่งได้ก่อตั้งบริษัทลูกชื่อ Airbus Acubed หรือ Airbus A3 โดยดำเนินธุรกิจแบบ StartUp ใน Silicon Valley เพื่อพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ให้ Airbus เป็นหลัก ซึ่ง Airbus A3 มีโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่หลายโครงการอันเป็นนวัตกรรมในระบบนิเวศการบินยุคถัดไป ที่จะได้เห็นโฆษณารับจัดไฟแนนซ์ eVTOL และ โฆษณาขายประกัน 2+ สำหรับ eVTOL ในขณะที่ยานบินไฟฟ้าขึ้นลงทางดิ่ง หรือ eVTOL กำลังเข้าคิวใช้ลานจอดตามตึกสูงในเมืองใหญ่ทั่วโลก… โดยโครงการ Vahana เป็นหนึ่งในระบบนิเวศการบินยุคหน้าที่ศูนย์นวัตกรรมของแอร์บัส หรือ Airbus Acubed ดำเนินการในระยะพัฒนานวัตกรรม
คำว่า Vahana มาจากคำในภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครีว่า वाहन หรือ วาหน โดยออกเสียงว่า วา–หะ–นะ ซึ่งก็คือรากคำในภาษาไทยคำว่า พาหนะ ซึ่งความหมายในภาษาสันสกฤตจะหมายถึงสัตว์พาหนะของเทพฮินดูทั้งหมดที่มีในตำนานตั้งแต่ครุฑ และ พญานาค ไปจนถึงหนูนา…
โครงการ Airbus A3 Vahana เริ่มต้นในปี 2015 ภายในศูนย์นวัตกรรมของแอร์บัส หรือ Airbus Acubed ในซิลิคอนแวลลีย์ เพื่อพัฒนา eVTOL ส่วนบุคคลเพื่อใช้ทดแทนพาหนะบนทางวิ่ง ซึ่งการเดินทางด้วยยานบินจะประหยัดเวลา และ พลังงานได้มากกว่า อันเนื่องมาจากความสามารถในการเดินทางในระยะขจัด หรือ ตัดตรงได้ทุกเส้นทาง ซึ่งแตกต่างจากการใช้ทางวิ่ง หรือ ถนนหนทางมาก… โดยแนวคิดในการพัฒนายานบินในโครงการ Vahana ถูกนิยามว่าเป็นพาหนะแบบ AAM หรือ Short-Range Advanced Air Mobility ซึ่งมีเป้าหมายในการใช้งานเป็นยานบินในเมือง หรือ UAM หรือ Urban Air Mobility…
Airbus A3 Vahana ได้เปิดตัวต้นแบบ Vahana Alpha One รหัส N301VX ในงาน Paris Air Show เดือนมิถุนายน 2017 ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของ Airbus ในเวลานั้นที่หมายมั่นว่าจะต่อยอด Vahana ในฐานะรถบินอย่างชัดเจน… และ ขึ้นบินครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม ปี 2018 ซึ่งเครื่อง Vahana เต็มขนาดสามารถยกตัวได้นาน 53 วินาที ก่อนจะถูกพัฒนาให้ยกตัว และ บินไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่นในอีกไม่กี่สิบเที่ยวบินทดสอบต่อมา… ซึ่งได้นำไปสู่การประกอบเครื่องต้นแบบลำที่ 2 ภายใต้แนวคิด eVTOL เต็มรูปแบบในโครงการ Vahana Alpha Two รหัส N302VX ซึ่งบินได้ที่ความเร็ว 145 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง… รับโหลดบรรทุกสูงสุดได้ 450 ปอนด์ หรือ 200 กิโลกรัม โดยทำเพดานบินได้ 10,000 ฟุต หรือ 3,048 เมตร ด้วยปีกแบบ Canard ติดใบพัด 8 ตัวที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า





การทดสอบแนวคิด UAM หรือ Urban Air Mobility ในโครงการ A3 Vahana ได้สิ้นสุดด้วยเที่ยวบินสุดท้ายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 หลังจากทำการบินทดสอบ 138 เที่ยวบิน รวมเวลาบินกว่า 13 ชั่วโมง และ ระยะทาง 903 กิโลเมตร… ในขณะที่โครงการ CityAirbus NextGen ได้รับไม้ต่อในการพัฒนา eVTOL ส่วนบุคคลร่วมกับพันธมิตรของ Airbus มากมายทั่วโลก ในขณะที่ Vahana ภายใต้โครงการ CityAirbus NextGen ยังคงได้รับเกียรติให้เป็นแบรนด์ยานบิน eVTOL รุ่นหนึ่งในโครงการนี้ ซึ่งถูกออกแบบใหม่ภายใต้เอกลักษณ์จากต้นแบบที่ Airbus ปล่อยภาพออกมาเป็นระยะแต่ยังปกปิดรายละเอียดไว้เป็นความลับเกือบทั้งหมด
References…