Action of Climate Empowerment หรือ ปฏิบัติการเสริมพลังรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ… ซึ่งใช้อักษรย่อ ACE ซึ่งเป็นแคมเปญใหม่ในการดำเนินงานตามมาตรา 6 และ มาตรา 12 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC ที่ริเริ่มขึ้นในการประชุม COP 21 ที่มีการบรรลุความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เมื่อปี 2015… โดยการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างจิตสำนึก และ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้นโดยที่รัฐภาคีสมาชิกต้องรับไปดำเนินการ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า… มาตรการสำคัญของ Action of Climate Empowerment หรือ ACE จะเน้น 6 กิจกรรมหลัก คือ
- Education หรือ การให้การศึกษา
- Public Awareness หรือ การสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวม
- Training หรือ การฝึกอบรม
- Public Participation หรือ การมีส่วนร่วม
- Public Access to Information หรือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
- International Cooperation หรือ ความร่วมมือระหว่างประเทศ
คุณสาวิตรี ศรีสุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า… มีการกำหนดกลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมไว้อยู่แล้วตั้งแต่ในพิธีสารเกียวโต ในปี 1997 แต่ถูกเพิ่มระดับความสำคัญขึ้นในการประชุม COP 21 ที่ปารีส เนื่องจากประเทศใหญ่ๆ ไม่ได้เข้าร่วม… ซึ่งที่ประชุมมองว่า การลดก๊าซตามความตกลงปารีสอาจจะไม่ได้ผล จึงต้องเน้นการเสริมพลังจากภาคส่วนต่างๆ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลักตาม Paris Agreement มาตรา 6 ระดับประเทศ หรือ National Focal Point on Article 6 of the Convention มาตั้งแต่ปี 2014
ทั้งนี้… ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในปี พ.ศ. 2560 ให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดทำแผนการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับนโยบาย และ แผนที่เกี่ยวข้อง… อีกทั้งให้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ และ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และ จัดทำหลักสูตรร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า… ก่อนการทำแผนปฏิบัติการเสริมพลังรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ… กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ทำแผน หรือ โรดแมปของ ACE มาแล้ว โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรกปี พ.ศ. 2562-2563 เน้นการทำแผนปฏิบัติการ ACE โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มการสื่อสาร
- ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2564-2568 เรื่องการศึกษา พัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ส่งเสริมบุคลากรภาครัฐให้เป็นผู้ที่มีความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังจนถึงขั้นมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ Climate Literacy
- ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2569-2571 การเสริมพลัง เช่น การจัดการขยะ การไปสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความตกลงปารีสให้ความสำคัญเรื่อง ACE ในฐานะเป็นเครื่องมือจึงจะมีการรายงานเรื่อง ACE ให้ที่ประชุมสหประชาชาติ โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้รายงานทุก 4 ปี แต่ตอนนี้จะเพิ่มการรายงานความก้าวหน้าทุก 2 ปี ก่อนที่จะต้องมีการเสนอรายงานทุก 4 ปี ซึ่งในรายงานทุก 4 ปี จะรวมถึงข้อมูลการปล่อย และ การลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งข้อมูลการดำเนินงานตามมาตรา 6 เดิม หรือ ACE ตามชื่อเรียกใหม่
ในแง่หลักสูตรการศึกษา… ทางกระทรวงศึกษาธิการมีการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยทางกระทรวงศึกษาธิการมองว่า การจัดการเรียนการสอนปัจจุบันมีการสอดแทรกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปประปรายอยู่แล้ว จึงควรเน้นเสริมศักยภาพไปที่การสอนของครูมากกว่า ขณะที่การสอดแทรก หรือ การฝึกอบรมก็ต้องดูระดับด้วยว่าควรเสริมไปให้กับใคร ต้องแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เน้นการฝึกอบรม การทำสื่อ แผ่นผับ ยังไม่ได้เป็นทิศทางเดียวกัน จึงต้องทำข้อมูลในภาพรวม เพื่อดูว่าเนื้อหาที่ควรจะให้ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างไร
คุณสาวิตรี ศรีสุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมย้ำว่า… เรื่องข้อมูลภาพรวมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นฐานว่าเราอยู่ตรงไหนแล้ว ซึ่งต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายทำอะไรไปบ้าง หลักสูตรครอบคลุมแค่ไหน ปีนี้ไม่ถึงกับรายงานตัวเลข แต่ต้องบอกความก้าวหน้าว่าทำอะไรไปบ้าง ซึ่งข้อตกลงปารีสเน้นเรื่อง “การตั้งรับ และ การปรับตัว” มาก
References…