Adaptive Learning

Adaptive eLearning… แนวคิดการศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยเทคโนโลยี

หลายท่านที่เคยศึกษาต่อข้ามสายอาชีพที่สำเร็จการศึกษามาก่อนหน้า คงมีประสบการณ์เรื่องเรียนเอาหน่วยกิตของวิชาที่ขาด เพื่อเพิ่มเติมคุณสมบัติเบื้องต้นให้ตัวเองเข้าเรียนต่อได้กันมาบ้าง… ผมยกกรณีนี้ขึ้นมาเทียบเพื่อจะชี้ให้เห็นวิธีประเมินความต้องการของผู้เรียน ที่กลไกทางการศึกษาในปัจจุบัน ก็มีประเด็นอยากเรียนอะไร ไปทำอาชีพไหน ต้องเรียนและรู้อะไรบ้างก็มีแนวทางอยู่แล้ว

ระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงมี “หลักสูตร” มากมายให้เลือกตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ที่อ้างอิงความต้องการและศักยภาพของผู้เรียน หรือแม้แต่ความต้องการและศักยภาพของผู้ปกครองของผู้เรียนอยู่แล้วเช่นกัน

เราจึงได้เห็นหลักสูตรอนุบาล 3 ภาษาบ้าง หลักสูตรปฐมศึกษาอิงภาษาศาสตร์บ้าง วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์บ้าง ไปจนถึงแบ่งสายวิทย์สายศิลป์สายอาชีพ ต่อเนื่องไปเป็น Faculty ที่ยังมีแยก Major/Minor ซึ่งท้ายที่สุด… เด็กทุกคนเติบโตเรียนรู้เพื่อเป็น “คนๆ หนึ่งที่ไม่เหมือนใคร” ทั้งสิ้น

Dr.Valerie Jean Shute นักจิตวิทยาการศึกษาจาก Florida State University เคยตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อ Adaptive E-Learning เมื่อครั้งทำวิจัยให้กับ Educational Testing Service ที่ Princeton University และเป็นผู้เขียนหนังสือ Innovative Assessment for the 21st Century: Supporting Educational Needs… ซึ่ง Dr.Valerie Shute ถือเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ที่ “เข้าใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา” ในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันที่สุดคนหนึ่ง และเคลื่อนไหวผลักดันแนวทาง Learner Centric Education ผ่านกรอบแนวคิดเรื่อง Adaptive eLearning มาตลอด

Dr.Valerie Shute อ้างอิงแนวทางของ The National Association of State Boards of Education หรือ NASBE หรือสมาคมการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ผลักดันแนวคิดเทคโนโลยีการศึกษาผ่านวิสัยทัศน์ที่ระบุชัดเจนว่า จะต้อง… Delivering the right content to the right person at the proper time in the most appropriate way, any time, any place, any path, and any pace… ส่งมอบเนื้อหาสาระความรู้ให้ถูกคน ในเวลาที่เหมาะควร ด้วยวิธีที่เหมาะเจาะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกแนวทางและย่างก้าว

กรอบแนวคิดและวิสัยทัศน์แบบนี้เป็นต้นธารของแนวคิด Adaptive Learning ที่กลายเป็นจริงได้เมื่อมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วย… ซึ่งนักการศึกษายุคใหม่เชื่อว่า แนวทาง Adaptive Learning จะกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบการศึกษาอย่างสำคัญ ที่สามารถ “เปลี่ยนผู้เรียนให้เป็นคนตามหาองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ต้องการด้วยตัวเอง” แทนการเตรียมความรู้เป็นชุดโดยผู้สอน เพื่อพัฒนาความรู้ของผู้เรียนตามความเห็นของผู้สอน หรือแม้แต่ตามความเห็นของคนออกแบบหลักสูตร หรือคนแต่งตำราเท่านั้น

Adaptive Learning จึงเป็นการเรียนรู้ที่ปรับวิธีการ ให้ตรงกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน บนความเชื่อเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือ Individual Differences ตามทฤษฎี P-E Fit …

ซึ่ง John L. Holland เจ้าของ Holland’s Theory of Person Environment Fit หรือ P-E Fit ซึ่งอธิบายว่า คนมักจะเลือกและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับลักษณะบุคลิกภาพของพวกเขา ในทำนองเดียวกัน… การเรียนจึงมีแนวโน้มที่จะเน้นในทักษะวิชาที่นำไปสู่ “การเลือกเรียนตามบุคลิกภาพและจุดมุ่งหมายการประกอบอาชีพ” เช่น คนเรียนแพทย์ที่ชอบ Coding สามารถเรียนทั้งสองอย่างได้โดยไม่ต้องเลือกคณะแพทย์ หรือเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์คณะใดคณะหนึ่งก็ได้

แนวคิดการจัดการศึกษาแบบ Adaptive Learning มิตินี้ จึงคลอบคลุมการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามอัธยาศัย ตอบสนองจุดมุ่งหมายการประกอบอาชีพ หรือก็คือ Personalized Learning ด้วยตัวผู้เรียนเอง… ซึ่งโดยบริบทการจัดการศึกษาทั่วไปในปัจจุบัน ถือว่าได้ทำ Personalized ทางเลือกอาชีพอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีอุปสรรคกฏเกณฑ์อีกมากรอให้ฝ่าฟันไปด้วยกันทั้งระบบ

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ วิธีการหาความรู้ของคนอยากเรียนในอนาคต น่าจะเน้นการพัฒนาคุณสมบัติและภูมิรู้ ตอบสนองอาชีพการงานโดยตรงเหมือนที่การประกาศจ้างงานตำแหน่งใหม่ๆ ที่สถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรสอนให้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งนักพัฒนา AI/ML ที่ทุกประกาศรับสมัครในโลก ล้วนไม่สนจนใบประกาศของสถาบันไหน แต่เอางานมาคุยกันและลงมือทำพิสูจน์ความสามารถตามตกลงกันเลยตรงๆ

ความเห็นส่วนตัวของผมจึงมองว่า โครงสร้างระบบการศึกษาที่มุ่ง Learner Centric Education ด้วย Adaptive Learning จะต้องปรับบทบาท “ผู้เรียน” ให้รับผิดชอบหาทางเรียนรู้และประกอบอาชีพของตนเองด้วยตนเอง… ส่วนบทบาท “ครูอาจารย์ผู้สอน” จะเป็นผู้ประกอบอาชีพพัฒนา Knowledge Contents ขายผู้เรียน… และบทบาท “สถาบันการศึกษา” ทำหน้าที่รับรองคุณวุฒิหรือวิทยะฐานะทั้งของผู้เรียนและผู้สอนเท่านั้น

ย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัวครับ… เพราะในโลกความจริง ยังมีบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการมากมายที่ผมเชื่อว่า ผู้บริหารหลายๆ สถาบันมองเห็นการเปลี่ยนแปลงกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ และหลายที่เลือกจะสร้าง “สถาบันการศึกษาตอบสนองแนวทางการเปลี่ยนแปลง” ในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทให้เห็นกันอยู่บ้างแล้ว… ซึ่งผมถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่าน ให้ “ระบบเดิม” เดินไปสุดทางได้ ในขณะที่ “ระบบใหม่” สามารถงอกเงยเติบโตขึ้นมาท้าทายเป็นทางเลือก

และอีกไม่นานภาพเหล่านี้จะเด่นชัดจนสัมผัสได้แน่นอน!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *