ความก้าวหน้าของวิทยาการทุกด้านที่มนุษย์ช่วยกันพัฒนาขึ้น และ หนุนเนื่องด้วยพัฒนาการด้านสังคมซึ่งพาเราท่านในฐานะทรัพยากรมนุษย์… กลับไปเริ่มต้นที่การศึกษา… ซึ่งเด็กที่เกิดหลังปีมิลเลนเนียลส์ หรือ Millennials หรือ ปี ค.ศ. 2000 จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ หลากหลายสาขายิ่งกว่าคนที่เกิดยุค Baby Boomers ต้องเรียนรู้หลายเท่า… และแนวโน้มว่าเด็กที่จะเกิดหลังปี 2030 เป็นต้นไป จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ต้องเรียนทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ ที่มีมาเพิ่มจาก “วิทยาการนอกโลก” อีกมากเกินจะคาดถึงในปัจจุบัน ซึ่งเด็กรุ่นถัดไปต้องเลือกว่าจะเรียนรู้อะไร และ ต้องการทักษะแบบไหน… โดยชัดเจนว่าเวลาและโอกาสเท่าที่มีในปัจจุบันไม่พอเพียงอย่างแน่นอน
นักการศึกษาบางกลุ่มจึงเริ่มพัฒนาโมเดลการศึกษาภายใต้แนวคิด After-School หรือ Afterschool หรือโมเดลการเรียนรู้นอกกิจกรรมการเรียนหลัก เพื่อให้สามารถเพิ่มทักษะและประสบการณ์ทางเลือกแก่เด็กได้มากกว่าการพยายามใส่ทุกอย่างเพื่อพัฒนามนุษย์คนหนึ่งเอาไว้กับ School หรือ เอาไว้ในนามของโรงเรียนอย่างที่เคยเป็นมา… ซึ่งโรงเรียนได้รับภาระจนถึงขีดจำกัดจริงๆ ถึงขั้นที่หลายโรงเรียน… โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนชั้นนำทั่วประเทศไทย มีเปิดการเรียนการสอนประจำในวันสุดสัปดาห์ หรือ เปิดเรียนจันทร์ถึงเสาร์เต็มเวลากันแล้วจำนวนมาก
นอกจากนั้น… ระบบการศึกษาโดยมีรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็กลายเป็นภาระด้านงบประมาณชาติอย่างมากของทุกๆ ประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาไปมากมายเพื่อแลกกับคำว่า “พัฒนาคนด้วยต้นทุนแพงเท่าไหร่ก็เกินคุ้ม” ทั้งที่คนส่วนใหญ่ที่มีส่วนให้เกิดเป็นรายจ่ายเป็นงบประมาณด้านการศึกษา… กลับไม่ได้เติบใหญ่เพื่อกลายเป็นผู้เสียภาษีช่วยชาติอย่างที่ควร… ซึ่งห่างไกลจากคำว่า “คุ้ม” ที่กล้าเอามาอธิบายไว้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม… ระบบการศึกษาโดยมีรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ยังสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแม้ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งต้องข้ามที่จะคิดกันเรื่องคุ้มไม่คุ้มไปทั้งหมด… แต่แนวคิดที่จะให้ “ระบบโรงเรียน” แบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรับผิดชอบวิทยาการทุกมิติที่มนุษย์ควรต้องรู้ ซึ่งชัดเจนว่าจะมีมากขึ้นอีกมากในอนาคต… คงต้องหันกลับมานั่งทบทวนเพื่อช่วยให้ทั้งผู้สอน และ ผู้เรียนไม่ต้องร่วมกันแบกภาระ เหมือนที่เด็กๆ ในปัจจุบันไปโรงเรียนพร้อมเป้ใส่หนังสือจนยัดไม่ลงทุกวัน… แถมบางวันต้องแบกเป้โน๊ตบุ๊คเพิ่มเข้าไปอีก… โดยบางอาทิตย์ถึงขั้นมีผู้ปกครองหอบโครงงาน STEM เดินตามหลังลูกไปส่งครู… ยังไม่นับวันเวลาซ้อมแข่งกีฬา… แข่งวิชาการ… สอบวัดมาตรฐานร้อยแปดเครือข่าย ตบท้ายด้วยซ้อมฟ้อนช่วยรักษาประเพณี… ซึ่งหลายกิจกรรมโคตรไร้สาระจนไม่กล้าอ้างถึง
ในสหรัฐอเมริกา… Dr. Paul G. Young อดีตครูมากประสบการณ์ และ ผู้อำนวยการ National Association of Elementary School Principals แห่ง Ohio University… ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Young Principles Consulting และ ผู้เขียนหนังสือ Principal Matters ซึ่งผลักดันกิจกรรมหลังเลิกเรียนให้กลายเป็นโอกาสทางการศึกษาด้วยแนวคิด Afterschool ที่สามารถขยายโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้จนแทบจะไร้ขีดจำกัด… ซึ่ง Dr. Paul G. Young เสนอแนะให้โรงเรียนภายใต้การนำของผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ Principal นำแนวทาง Afterschool มาช่วยเด็กๆ ให้ได้โอกาสเพิ่มโดยไม่กดดัน… ช่วยลดภาระคุณครูลงจากความรับผิดชอบเกินจำเป็น และ แบ่งเบาผู้ปกครองให้ได้ทำหน้าที่ผู้ปกครองอย่างเท่าเทียม ซึ่งรากเหง้าปัญหาเลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างแท้จริง เกิดจากศักยภาพในการทุ่มเทเวลาและโอกาสให้บุตรหลานของผู้ปกครองที่มีไม่เท่ากันเป็นปฐมเหตุ… ทั้งๆ ที่ตัวตนและโอกาสของเด็กๆ แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… บ้านเราพูดถึง “การจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น” ซึ่งคิดกันหยาบๆ ด้วยการหาทางโอนโรงเรียนไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ เทศบาลเป็นเจ้าของโรงเรียน แบบที่วัด หรือ โบสถ์ กับ สุเหร่าเป็นเจ้าของโรงเรียนเท่านั้น… ซึ่งฝ่ายท้องถิ่นก็บ่ายเบี่ยงมานานนับสิบๆ ปี และ ไม่คุยด้วยทุกครั้งที่มีการเปิดประเด็น… ทั้งๆ ที่ควรจะขอให้ท้องถิ่นเข้ามาเติมเต็มระบบการศึกษาแบบ Afterschool ได้ทันที เพียงแค่สภาผ่านกฏหมายให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณกับกิจกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสของบุตรหลานในท้องถิ่นได้เท่านั้น… ที่เหลือก็แค่ร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบบ Afterschool ด้วยกัน หรือจะเอาตามนโยบายหาเสียงของนักการเมือง และ ผู้นำท้องถิ่นยังได้เลย
ผมบ่นออกทะเลไปแล้วครับ!… ตอนแรกตั้งใจว่าจะเกริ่นถึงความเคลื่อนไหวของ Afterschool โดย The National Institute on Out-of-School Time ของ Wellesley College ใน Massachusetts ซึ่งดำเนินงานมากว่า 40 ปี ซึ่งกำลังถูกปรับใช้แนวคิดเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในยุคถัดไป… เอาเป็นว่าติดค้างท่านไว้คราวหน้าก็แล้วกัน!
References…