การเลี้ยงดูบุตรหลานในแง่มุมการส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence ท่ามกลางสื่อมัลติมีเดียทั้งรายการโทรทัศน์ ภาพยนต์และเกมคอมพิวเตอร์ที่มีภาพหรือฉากความก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงจากสื่อที่บุตรหลานเข้าถึง… สัมผัสได้ง่าย และ มีอยู่เกลื่อนกลาดมากมายในปัจจุบัน… คำถามสำคัญถึงผลกระทบจากการสัมผัสสื่อเหล่านั้นของเด็กๆ จะมีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงของบุตรหลานหรือไม่อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมานาน
งานวิจัยชุด Bobo Doll Experiment ในระหว่างปี 1961 ถึงปี 1963 ของ Professor Albert Bandura มีคำตอบให้ข้อกังวลและคำถามเรื่องสื่อมัลติมีเดียที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ส่งผลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ…
การทดสอบในงานวิจัยชุด Bobo Doll Experiment ของ Albert Bandura จะให้เด็กกลุ่มแรกได้ดูคลิปวิดีโอที่มีฉากผู้ใหญ่ทำร้าย Bobo ซึ่งเป็นตุ๊กตาล้มลุก… ส่วนกลุ่มที่สองจะให้ดูคลิปวิดีโอที่ไม่มีฉากทำร้าย Bobo และ กลุ่มที่สามไม่ได้ดูคลิปวิดีโออะไรเลย… แล้วจึงทดลองให้เด็กเข้าไปในห้องที่มีตุ๊กตา Bobo ตั้งอยู่… เด็กกลุ่มแรกจะตรงเข้าไปทำร้ายตุ๊กตาล้มลุกทันที โดยบางคนใช้ค้อนทุบตีแบบที่เห็นในคลิปวิดีโอ และ ยังมีเด็กบางคนเอาปืนของเล่นมาจ่อตุ๊กตาด้วย… ส่วนเด็กกลุ่มที่สอง และ กลุ่มที่สามก็มีบางคนแสดงพฤติกรรมต่อยเตะ Bobo บ้าง… แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนกลุ่มแรกที่ “เห็นและมีภาพ” การใช้ความรุนแรงกับ Bobo มาก่อน
เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ มีพฤติกรรมเลียนแบบสื่อจริงๆ โดยไม่ใช่พฤติกรรมเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นของเล่น เพียงแต่เด็กบางคนชอบเล่นแรงๆ เหมือนกลุ่มที่ไม่ได้ดูคลิปความรุนแรง แต่ก็มีบางคนเตะต่อย Bobo… Albert Bandura จึงทดสอบซ้ำแต่เปลี่ยนจากตุ๊กตา Bobo เป็นคนใส่ชุดตัวตลก… ซึ่งเด็กกลุ่มที่ได้ดูคลิปการทำร้ายตัวตลกมาก่อน จะตรงเข้าทำร้ายตัวตลกที่รออยู่ในห้องเหมือนเดิม… Albert Bandura จึงสรุปผลการทดลองได้ว่า เด็กสามารถเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงได้จริงๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะเด็กยังไม่มีความตระหนัก และ เข้าใจถึงผลร้ายด้านอื่นที่จะตามมา และ ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่แสดงออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ… แต่การทดลองนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้านจริยธรรมการวิจัยอย่างหนัก ในแง่ของการชี้นำให้เด็กที่เข้าร่วมการทดสอบ มีพฤติกรรมรุนแรงติดตัวไปเพราะการทดลองของนักวิจัย
ประเด็นก็คือ… ความก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมพื้นฐานระดับสัญชาตญาณในสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด ซึ่งมีไว้เพื่อแย่งชิงและปกป้องทรัพยากร หาอาหาร รักษาอาณาเขต ปกป้องคู่กับทายาท และ ปกป้องตนเองจากศัตรู…
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… พฤติกรรมก้าวร้าวในสิ่งมีชีวิตมักจะมาพร้อมสัญชาตญาณในการใช้พิษสงติดตัว ทั้งกงเล็บ คมเขี้ยว และ พิษสงติดตัวอื่นๆ พร้อมกลไกการยับยั้งชั่งใจโดยธรรมชาติที่สมดุลกัน เหมือนรถแรงๆ ก็ต้องใส่เบรคใหญ่ๆ ติดมา… กรณีแมวน้อยที่มีกงเล็บกับอุ้งเท้าเล็ก และมักจะมีพฤติกรรมตะกุยขีดข่วนไปทั่ว เพราะกงเล็บสัตวเล็กอย่างแมวไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรได้มากนัก กลไกการยับยั้งชั่งใจโดยธรรมชาติของแมวจึงไม่มีมาก… ในขณะที่กงเล็บของเสือ หรือ สิงโต จะตะปบและใช้กงเล็บก็เมื่อยามออกล่า หรือ ต้องสู้เพื่อเอาตัวรอด มากกว่าจะใช้เล็บหรืออุ้งเท้าเล่นสนุกเหมือนแมว… กลไกการยับยั้งชั่งใจการใช้กงเล็บของแมวจึงด้อยกว่าเสือหรือสิงโตอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะพิษสงที่มีติดตัวมาสร้างความเสียหายได้น้อยกว่ามาก
ส่วนมนุษย์ซึ่งไม่มีทั้งเล็บคมๆ หรือ เขี้ยวแหลมๆ หรือไม่มีแม้แต่น้ำลายพิษมาก่อนตั้งแต่รุ่นดึกดำบรรพ์… กลไกการยับยั้งชั่งใจต่อการปลดปล่อยพิษสงของมนุษย์โดยธรรมชาติจึงแทบจะไม่มีอยู่เลย ซึ่งทำให้สมดุลความก้าวร้าวของมนุษย์ในระดับสัญชาตญาณมีน้อย และ ด้อยกว่ากลไกการยับยั้งชั่งใจโดยธรรมชาติของแมวอย่างชัดเจน…
ยิ่งมนุษย์มีเครื่องทุ่นแรงเสริมความก้าวร้าวในครอบครองเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าเขี้ยวงอก หรือ เล็บคม… มนุษย์ซึ่งมีทั้งหิน ไม้ มีด ปืน ไปจนถึงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ และ ยังเรียนรู้การใช้เครื่องทุ่นแรงผ่านการเลียนแบบจากภาพเหตุการณ์ที่เห็นมา… มนุษย์จึงปลดปล่อยความกร้าวร้าวได้ยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดไหนๆ ในโลก พร้อมเครื่องทุนแรงเสริมความก้าวร้าวได้เกินคาดคิดเสมอ
ความก้าวร้าว หรือ Aggression ซึ่งเป็นพฤติกรรมพร้อมเจตนาที่มุ่งทำร้าย หรือ ทำลายผู้อื่นด้วยวิธีการมากมาย… จึงเป็นรากฐานของความรุนแรงที่มนุษย์มักจะปฏิบัติต่อกัน เมื่อสัญชาตญาณถูกกระตุ้น และ กลไกเชิงสังคมและความสัมพันธ์อยู่ในเงื่อนไขที่ควบคุมความก้าวร้าวไว้ไม่ได้อีก
นักจิตวิทยาได้ศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะต่างๆ มากมาย ซึ่งพอจะแบ่งประเภทของความก้าวร้าวได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ…
1. แบ่งตามเจตนาในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
โดยจะพบความก้าวร้าวตามเจตนาอยู่ 2 ลักษณะคือ พฤติกรรมก้าวร้าวแบบโต้ตอบ หรือ Reactive Aggression ซึ่งจะแสดงความก้าวร้าวเมื่อถูกกระทำเพื่อเอาคืน หรือ แก้แค้น… และ พฤติกรรมก้าวร้าวแบบใช้เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย หรือ Instrumental Aggression อันเป็นการใช้ความก้าวร้าวในเชิงกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จ หรือ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง
2. แบ่งตามรูปแบบ และ วิธีการแสดงความก้าวร้าว
- ความก้าวร้าวด้านร่างกาย เช่น การทุบตี ชกต่อย หรือ การทำลายสิ่งของ
- ความก้าวร้าวด้านวาจา เช่น การด่าทอ การต่อว่า และ การนินทาลับหลัง
- ความก้าวร้าวด้วยอวัจนภาษา หรือ ภาษากาย เช่น การมองด้วยหางตา หรือ การใช้สายตาล้อเลียน
- ความก้าวร้าวด้วยพฤติกรรมความสัมพันธ์ เช่น ให้เพื่อนต่อต้านและไม่รับเข้ากลุ่ม หรือ กีดกันด้วยวิธีทางอ้อมไม่ให้เข้ากลุ่ม
- ความก้าวร้าวด้านที่ไม่แสดงออก เช่น การเมินเฉย หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงโดยไม่สนใจว่าใครจะได้ประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ความก้าวร้าวมีอยู่กับทุกคน และ บ่อยครั้งที่แสดงออกต่อผู้อื่นทั้งโดยเจตนา และ โดยขาดความใส่ใจต่อผู้คนรอบตัว… ส่วนที่เจตนาใช้ความก้าวร้าวเป็นเครื่องมือ หรือ เป็นกลยุทธ์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งการรู้เท่าทันความก้าวร้าวในตัว และ ใช้ความก้าวร้าวเพื่อความสำเร็จสมหวังนั้น แม้จะมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ชัดเจน แต่ก็ถือว่าคนใช้ความก้าวร้าวเป็นน่าจะเอาตัวรอดได้… แต่กับคนที่เชื่อว่าตัวเองไม่แม้แต่จะคิดฆ่ามด หรือ ตบยุงให้ตายคามือมาก่อน… ในขณะที่ภาษากาย และ การแสดงออกกลับไม่ใส่ใจใยดีความเดือดร้อน หรือ ปัญหาที่ตนทำขึ้นโดยไม่ใส่ใจว่าเป็นปัญหากับคนอื่นๆ ในสายสัมพันธ์… ถึงวันที่เจอ Reactive Aggression หรือ ความก้าวร้าวเอาคืนบ้าง… ก็อย่าได้ประหลาดใจ หรือ งงให้นานก็แล้วกัน
References…