ปัญหาก๊าซเรือนกระจกและโลกร้อน เป็นประเด็นใหญ่มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายแง่มุม จนคนส่วนใหญ่แทบจะแยกไม่ออกระหว่างปัญหามลพิษในอากาศ กับปัญหาโลกร้อน ที่อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน แค่อยู่คนละชั้นเท่านั้นเอง… ข้อมูลโลกร้อนกับข้อมูลมลพิษทางอากาศ หลายกรณีจึงมีจำเลยถูกกล่าวหาพาดพิงเป็นประเด็นน่าอึดอัด
ข้อมูลจากงานสัมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องผลการดำเนินงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557 อ้างอิงงานวิจัยเรื่อง การจัดการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว: กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ โดย ดร.อัครพล ฮวบเจริญ นักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติการ ประจำสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงกระเษตรและสหกรณ์
ตัวเลขจากงานวิจัยของ ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ระบุว่า… ข้าวหอมมะลิอินทรีย์บรรจุถุง 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5.75 กิโลกรัมคาร์บอน… ส่วนข้าว บรรจุถุง 1 กิโลกรัมจากนาใช้เคมีและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.72 กิโลกรัมคาร์บอน
การเปิดประเด็นก็ไม่ใช่เรื่องการเปรียบเทียบเพื่อให้ร้ายหรือโจมตีกัน เพราะพืชอาหารหลักอย่างข้าว ยังสำคัญต้องปลูกกิน ด้วยน้ำและดินปนซากอินทรีย์วัตถุเน่าเปื่อยซึ่งเป็นกลไกการคืนแร่ธาตุให้ดินตามวัฏจักร…

ส่วนงานวิจัยเรื่อง Evaluating the effects of alternate wetting and drying (AWD) on methane and nitrous oxide emissions from a paddy field in Thailand โดย รศ. ดร.อำนาจ ชิดไธสง และคณะ ได้ร่วมกันหาทางปลูกข้าวแบบ “นาแบบเปียกสลับแห้ง” โดยไม่ขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา จะปล่อยให้ดินแห้งสลับกับขังน้ำสูง 5 เซนติเมตร… ช่วยลดการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ส่งผลให้ปล่อยก๊าซมีเทนลดลง ร้อยละ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับการขังน้ำไว้ในนาตลอดฤดูเพาะปลูก ซึ่งการระบายน้ำออก ปล่อยให้นาแห้งจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในดิน จึงลดจุลินทรีย์ที่ผลิตมีเทน เพิ่มจุลินทรีย์ที่ใช้มีเทน… ลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ในระดับหนึ่ง… แต่ผลการทดลองก็ไม่ดีในแง่ผลผลิตที่ได้ข้าวเปลือกต่อไร่ลดลงด้วย
ประเด็นก็คือ… ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร กำลังกลายเป็นเป้าใหม่ที่ดึงแรงกดดันออกจากอุตสาหกรรม หันมาสนใจก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากปศุสัตว์และเกษตรอินทรีย์ จากขั้นตอนการย่อยสลายเน่าเปื่อยทุกรูปแบบไปจนถึงวัวผายลม… ซึ่งการก่อภาระต่อชั้นบรรยากาศของปศุสัตว์และเกษตรกรรมทุกมิติ กระทบภาวะโลกร้อนจริง… แต่!!! โลกก็ต้องการอาหารและต้องการอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชิวิตของคน วนเป็นวัฏจักรไป

ความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงถูกจัดการโดยวิธีทางการเมืองบ้าง ทางยุทธศาสตร์บ้าง แบบแก้ปัญหาระยะสั้นมากๆ ด้วยการหาเป้าหมายใหม่ๆ ให้แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่า… ปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า ปัญหาก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาหลัก กระทบอุณหภูมิพื้นผิวและชั้นต่างๆ ของบรรยากาศโลก โดยเฉพาะ Photochemical Smog และ Temperature Inversion ที่กดควันและฝุ่นละอองให้ตลบอบอวลยาวนานหลายสิบสัปดาห์ในบางฤดูกาล
ข้อเท็จจริงที่เจ็บปวดก็คือ… การเปิดประเด็นเรื่องก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ จะมีเพียงข้อมูลที่มาของก๊าซเรือนกระจก กับตัวเลขอัตราการปล่อย และเปรียบเทียบบอกเล่า ว่ากล่าวเสียดสีว่าแหล่งไหนและใครสร้างก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ จากกิจการแบบไหน… แล้วก็จบไป
กรณีก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรทั้งไร่นาและปศุสัตว์ การค้นคว้าเรียนรู้ก็เรื่องหนึ่ง… แต่การเปิดพื้นที่ความขัดแย้งเกลียดชังอีกแนวรบหนึ่ง ผมอยากให้ระมัดระวังในการพูดคุยเคลื่อนไหว ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน มากกว่าจะพยายามกดดันเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยเฉพาะหนทางการเพิ่มภาระต้นทุน ที่มันสำคัญกับชีวิตบางคน… โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งผมเห็นด้วย 100% ว่าควรผลักดัน… แต่ไม่เอากดดันครับผม!
#FridaysForFuture
อ้างอิง