AI-Powered Assessment… สอบวัดความรู้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ #ReDucation

เรากำลังอยู่ในยุคที่ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์กำลังวิวัฒน์ศักยภาพให้ได้เห็นนิยามของคำว่า “ฉลาดล้ำ” ได้อย่างเด่นชัดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่มองว่า AI จะเป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเรา และ มีบางฝ่ายที่มองว่า AI กำลังคุกคามสติปัญญาของมนุษย์อย่างน่าวิตก

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมการศึกษาดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าวิตกในหลายๆ แง่มุม… โดยเฉพาะแง่มุมของการขายความรู้ และ อยากเห็นผู้เรียนเก่งกาจด้วยมันสมองและสติปัญญาที่มีมาตั้งแต่เกิด… ซึ่งทำให้โลกใบนี้มีคนเก่งกาจสามารถสูงอยู่ไม่มาก เพราะคนที่เกิดมาแบบสมองดีมีปัญญาเลิศล้ำ และ ได้โอกาสได้ไปเรียนกับครูเก่งๆ โรงเรียนดีๆ ตั้งแต่ชั้นปฐมจนจบปริญญาเอก ซึ่งโอกาสที่จะเป็นแบบนั้นถือว่ายากไม่ต่างจากการถูกล๊อตเตอรี่รางวัลใหญ่ก็ว่าได้

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ในอีกด้านหนึ่งของอุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางโอกาสในระบบการศึกษา ที่จะทำให้กลไกหลายอย่างในระบบการศึกษาแบบเก่าถูกให้ความสำคัญน้อยลง เช่น คนเรียนเก่งแบบการศึกษายุคเก่าต้องจำแม่น รู้เยอะหรืออย่างน้อยต้องรู้มากกว่าคนส่วนใหญ่ ปฏิภาณไหวพริบดี หลักแหลม มั่นใจในตนเอง ทำข้อสอบยากๆ ด้วยความจำและสติปัญญาล้วนๆ  ในขณะที่คนเก่งในยุคดิจิทัล… ย้ำว่าเป็นคนเก่งครับ ไม่ใช่คนเรียนเก่ง… จะเป็นคนฉลาดใช้เครื่องมือทางดิจิทัลในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงผ่านพ้นโดยเร็ว ทำการบ้านต้องค้นอินเตอร์เน็ต แถมยังใช้โซเชียลมีเดียมาคนช่วยทำการบ้านยากๆ ก็เอา รวมทั้งการใช้ AI ทำงานส่งครูกันหน้าตาเฉย… ซึ่งครูอาจารย์ทั่วโลกกำลังปวดเศียรเวียนไส้กับ AI นักจ้ออย่าง ChatGPT ที่นักเรียนทั่วโลกใช้ทำรายงานส่งครูกันเนียนๆ จนปิดกั้นทัดทานกันไม่ไหว

แต่นักเทคโนโลยีการศึกษาที่มองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือส่งเสริมการศึกษา และ มุ่งให้ความรู้ทั้ง “ผู้เรียน และ ผู้คน” ให้รู้จักใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี “ช่วยแก้ปัญหา หรือ แก้โจทย์” ให้ถูกต้องได้ ก็ถือว่ามีทักษะในการแก้โจทย์ชุดนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือ สร้างเงื่อนไขว่าต้องแก้โจทย์หรือแก้ปัญหาด้วยความรู้และสติปัญญาที่ต้องใฝ่หาและสะสมไปครึ่งค่อนชีวิต… ซึ่งครูอาจารย์หลายๆ ท่านก็เคยผ่านการเรียนแล้วเรียนอีกจนอายุ 30-40 กว่าจะจบปริญญาเอกก็มาก

ตัวอย่างกรณีการประยุกต์ใช้ AI ในระบบวัดความรู้ หรือ สอบความรู้ หรือ AI Assessment หรือ AI-Powered Assessment ซึ่งเป็นการเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใส่เข้าไปในกลไกทางการศึกษาตรงๆ เพื่อให้ AI จัดการกลไกการสอบความรู้และทักษะของผู้เรียน… ซึ่ง AI มีมิติในการวัดความรู้ในแนวทาง Personalized Education ได้อย่างชัดเจน สามารถแก้ไขกลไกวัดความรู้แบบที่ใช้ข้อสอบชุดเดียวสอบนักเรียนทุกคน ถึงแม้บางคนอาจจะเจ็บป่วยต้องลาเรียนไปเป็นเดือนก็ตาม… ที่น่าปวดใจที่สุดก็คือ ระบบการศึกษาช่างหวงข้อสอบและคำเฉลยอย่างน่าเศร้า

กลับมาเรื่อง AI-Powered Assessment ก่อนที่ผมจะเลอะเทอะไปมากกว่านี้… ข้อมูลจากเวบไซต์ opengovasia.com ได้รายงานกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ที่นำ AI-Powered Assessment มาใช้กับการวัดความรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับปฐมศึกษา และ มัธยมศึกษา… ซึ่งมีรายงานยืนยันว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ระดับชาติของสิงคโปร์ที่โฟกัส AI ในฐานะเครื่องมือส่งเสริมศักยภาพทุกด้านของมนุษย์ และ สังคมมนุษย์

อย่างไรก็ตาม… AI-Powered Assessment สำหรับระบบการศึกษาในปัจจุบัน ที่โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลยังไม่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สูงสุดของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะอยู่เป็นเพื่อนเรียนคอยปรับแต่งทักษะ และ ประเมิน และ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และ ช่วยติวทักษะที่ต้องมี และ ประเมินว่ามีทักษะแค่ไหน แบบ Automated Assessment ที่ AI จะเป็นทั้งครู ทั้งโค้ช และ คนคุมสอบ ที่จะอยู่กับผู้เรียนจนทั่งผู้เรียนบรรลุเป้าประสงค์ทางใดทางหนึ่ง… โดยเฉพาะเป้าประสงค์สุดท้ายของการเรียนอันเป็นอาชีพการงานที่ต้องการ!

รายละเอียดทางเทคนิคและข้อมูลเกี่ยวกับระบบ AI-Powered Assessment ขอยกไว้ก่อน… เพราะข้อมูลในมือผมยังมีไม่มากพอ และ ยังหาคำตอบได้ไม่ครบหลายประเด็น… ส่วนท่านที่ถามถึงระบบคุมสอบด้วย AI หรือ AI-Based Proctoring และ การคุมสอบทางไกลอัตโนมัติ หรือ Remote Proctoring ขอติดไว้คราวหน้าครับ ผมกำลังตามข้อมูลอยู่… ซึ่ง AI-Based Proctoring ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ AI-Powered Assessment ที่อุตสาหกรรมการศึกษาน่าจะได้สัมผัสกันก่อน… เร็วๆ นี้

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts