คำว่า Learning ตามนิยามของ LEXICO หรือ Online Oxford Dictionary ให้นิยามว่า The acquisition of knowledge or skills through study, experience, or being taught. หรือ การได้มาซึ่งความรู้หรือทักษะผ่านการศึกษา การฝึกประสบการณ์หรือด้วยการสอน…
ในขณะที่คำว่า Education ตามนิยามของ LEXICO หรือ Online Oxford Dictionary ให้นิยามว่า The process of receiving or giving systematic instruction, especially at a school or university. หรือ กระบวนการรับหรือให้ การชี้แนะอย่างเป็นระบบเฉพาะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
และคำว่า Study ตามนิยามของ LEXICO หรือ Online Oxford Dictionary ให้นิยามว่า The devotion of time and attention to gaining knowledge of an academic subject, especially by means of books. หรือ การทุ่มเทเวลาและความสนใจเพื่อการเพิ่มพูนความรู้ในวิชาการ โดยเฉพาะจากหนังสือ
วันนี้ขึ้นต้นด้วยนิยามคำ 3 คำอย่าง Learning, Education และ Study เพื่อแยกความต่างเมื่อต้องอธิบาย “บริบท” ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกรอบการเรียนการสอนและการศึกษาในยุคที่ Learning, Education และ Study ไม่จำเป็นต้องเกิดในบริบทเดียวกันอีกแล้วก็ได้… โดยเฉพาะคำว่า Education ที่มีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิด Study และ Learning
ผมไม่กล้าบอกว่าสถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียนหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยจะหายไป แต่ในทางเทคนิคเองโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็หายไปเรื่อยๆ ตลอดหลายปีมานี้… ข้อมูลจาก insidehighered.com ระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2019 เฉพาะในรัฐ Massachusetts มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 17 แห่งเตรียมปิดกิจการ…
Professor Dr.Clayton M. Christensen จาก Harvard Business School ได้วิเคราะห์ผ่านหนังสือ The Innovative University: Changing the DNA of Higher Education from the Inside Out ชี้ว่า… ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ และจำนวนนักเรียนไฮสคูลที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง… ซึ่งวิกฤต “ฟองสบู่มหาวิทยาลัย” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กำลังบิดโมเดลการศึกษาให้หลุดมือสถาบันการศึกษาไปเรื่อยๆ
แต่… แนวโน้มที่ผู้คนจะต้องเรียนรู้มากขึ้น ถึงขั้นต้องเรียนกันตลอดชีวิตจากการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้คนจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา… ทำให้ การศึกษา หรือ Education ไม่สามารถเกิดขึ้นบนจารีตสถาบันที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป… เหมือนที่ธุรกรรมทางการเงินก็ปรับตัวออกห่างจารีตที่ “เคยเกิดธุรกรรม” ในสถาบันการเงิน ไป “เกิดธุรกรรมอยู่ในมือของเจ้าของเงิน” ตัวจริงกันหมด
โมเดลการจัดการศึกษา จึงจำเป็นต้องลดบทบาท Education ลง เพื่อให้ Learning และ Study เติบโตเป็นโมเดลหลัก ที่โฟกัส “คนที่อยากเรียนรู้และรู้ว่าจะเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์แบบไหนอย่างไร” มากกว่าจะตีกรอบให้ “คนที่อยากเรียนรู้” เรียนตามกรอบที่สถาบันหรือผู้สอนกำหนดให้
ถึงตรงนี้หลายท่านคงนึกถึงชีวิตในมหาวิทยาลัย กับช่วงวัยที่ตัวเป็นผู้ใหญ่แต่ยังต้องทำอะไรๆ เหมือนเด็กที่ชีวิตยังมีแต่ “เรียนกับเล่น” เหมือนที่ทำมาตั้งแต่อยู่อนุบาล… ซึ่งแนวคิดและนโยบายแบบโลกเก่ากำลังถูกริบคืน เพื่อปรับโฉมและทดแทนรูปแบบการศึกษาดั้งเดิม ที่นักการศึกษาครูอาจารย์เองก็รู้ตัวกันหมดแล้วว่า บรรยากาศเด็กๆ แห่แหนมาเรียนกับครูและอยู่กันแบบโลกเก่าพบหน้ามองตากำลังจะหมดลง… แม้ครูอาจารย์และสถาบันส่วนใหญ่ในปี 2020 ยังพยายามจะยื้อและยืดเวลาการเปลี่ยนแปลงออกไปอีกหน่อย แต่เดิมพันใหญ่ระดับสถาบันที่ท้าทาย “การอยู่รอดหรือล้มหาย” สำคัญกว่า “ความจำเป็นที่ต้องประคับประครองคนเก่าๆ ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง” มากมายเหลือเกิน
คำตอบเรื่องทิศทางจึงไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจากเปลี่ยนแปลงโดยให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด… และในแวดวงนักการศึกษาทั่วโลกที่เป็นสาวก Malcolm Knowles กับ Adult Learning Theory และ Andragogy Methodology จึงคึกคักโดดเด่นในวันที่โครงสร้างพื้นฐานทุกอย่าง พร้อมแล้วสำหรับการจัดการศึกษาด้วย “วิธีการสอนผู้ใหญ่” ที่เหลือรายละเอียดมากมายให้สะสางเพื่อให้เกิด Learning และ Studying ที่ตัวผู้เรียนผู้รู้ว่าต้องเรียนอะไรไปใช้ทำอะไรในที่สุด
ท่านที่เป็นแฟนประจำของ Reder คงจะเคยอ่านบทความเรื่อง Andragogical Model และ Lifelong Learning มาก่อนแล้ว… แต่หลายท่านที่รู้จักผมก็ติงว่า เนื้อหาบทความตอนนั้นไม่สมราคาเจ้าของฉายาขี้โม้ใหญ่ ที่พก eBook ชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development พกติดมือถือไปโม้ทับคนอื่นตามสภากาแฟซักนิด
จัดให้ตามคำขอครับ ตอนหน้าผมจะพูดถึง 5 Pillars 6 Outcomes ของ Andragogy อ้างอิง The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ครับ!
อ้างอิง
- https://www.researchgate.net/publication/325264269_Application_of_Principle_of_Andragogy_in_Learning
- https://www.ispringsolutions.com/blog/andragogical-model-the-who-what-and-why-of-it
- https://www.baanjomyut.com/library/theory_of_malcolm_knowles/index.html
- https://www.insidehighered.com/news/2019/01/24/green-mountain-latest-small-college-close