Pillars

Andragogy Theory… 5 Pillars 6 Outcomes

นักการศึกษาทั่วโลกที่ออกแบบหลักสูตรและการเรียนรู้ รวมทั้งครูอาจารย์และปราชญ์ทุกยุคทุกสมัย ล้วนถ่ายทอดความรู้ในแบบ “ครู” หรือในมุมของ การสอน หรือ Pedagogy และเรียกแนวทางการสอนรวมไปกับ “การเรียนรู้ หรือ Learning” ทั้งๆ ที่ Pedagogy หรือการสอน… “ครู” เป็นคนกำหนดรูปแบบการสอน การประเมินและกลยุทธ์การสอนอ้างอิง “ทฤษฎีการเรียนรู้” ที่คาดว่าผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างเข้าใจ ตรงตามความต้องการของผู้เรียน เข้ากับภูมิหลังและความสนใจใส่ใจของผู้เรียน… ซึ่งหลายกรณีพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง

ข้อเท็จจริงก็คือ… ครูสร้างทุกอย่างขึ้นบนกรอบการสอนตามบทบาท และเพียงคาดหมายอ้างอิงการเรียนรู้จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน ในสิ่งที่ครูเตรียมมาสอน… ซึ่งเงื่อนไขฝั่งผู้เรียนที่เรียนตามที่สอนไม่บรรลุวัตถุประสงค์… หลายท่านคงเคยได้ยินเหตุผล 108 ประการล้วนมาจากอุปสรรคฝั่งนักเรียนหรือผู้เรียน และเหตุผลข้อที่ 109 ก็ยังไม่เกี่ยวกับครูหรือผู้สอนอยู่ดี ที่การเรียนการสอนไม่บรรลุวัตถุประสงค์

ประเด็นก็คือ… ครูสอนเราให้อ่านออกเขียนได้และทำโจทย์คณิตศาสตร์พื้นๆ ได้แน่นอน… แต่ครูสอนเกินสิ่งที่ครูเข้าใจและเตรียมมาสอน… ไม่ได้!

ในทัศนส่วนตัวจึงเชื่อมาตลอดว่า… การเรียนการสอนด้วยการสอน มีข้อจำกัดที่ผู้สอน!

และผมเชื่อมาตลอดว่า ความต้องการ “ครูติวเพิ่ม” ล้วนมาจากข้อจำกัดว่าด้วย “การเรียนการสอนด้วยการสอน” ที่ผู้เรียนหรือนักเรียนหาจากครูคนเดียว หรือจากแหล่งเรียนรู้แหล่งเดียวไม่พอที่ “จะเอาความรู้ไปทำอะไรได้”

โดยส่วนตัวผมจึงเชื่อเรื่อง “องค์ความรู้หลากหลายจากหลายแหล่ง” มาตลอด… และเห็นด้วยกับการเรียนรู้ที่เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนด้วยแนวคิด Andragogy มากกว่า Pedagogy… ซึ่งผมก็รับฟังและยังให้ความสำคัญกับ Pedagogy ที่มีครูเป็นศูนย์กลางสำหรับเงื่อนไข “การเรียนรู้ที่จำเป็นต้องสอนหรือสั่ง” แม้หลายเวทีสนทนาผมจะเสนอความเห็นต่างเช่น การ Blended Andragogy กับ Padagogy ในระดับปฐมศึกษา ซึ่งท่านที่เห็นต่างก็แย้งว่า จะสอนเด็กแบบผู้ใหญ่ได้ยังไงในเมื่อทฤษฎีจิตวิทยาเด็กและทฤษฎีพัฒนาการเด็กก็บอกอยู่ว่ายังเด็ก

เหตุผลก็คือ เพราะเป็นเด็ก! ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ใหญ่ จึงต้องตัดสินใจหาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับลูกหลาน… จนกรณีการขอย้ายห้อง ย้ายหลักสูตร ย้ายโรงเรียน และหาที่เรียนพิเศษให้ลูก เป็นเรื่องวุ่นวายเรื่องหนึ่งจนต้องออกกฏ “ควบคุม” หลายอย่างเพื่อลดผลกระทบกับครูหรือสถาบันการศึกษาเอง… และยังไม่มีส่วนไหนรักษาผลประโยชน์ให้ผู้เรียน!!!

เรียนก่อนน๊ะครับว่า… ผมไม่ได้ดูแคลนครูอาจารย์จากชุดความคิดแบบนี้ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร บทบาทครูอาจารย์ไม่มีทางลดน้อยลง เพียงเพราะผู้เรียนและผู้ปกครองต้องการ “ความหลากหลายที่เหมาะสม” เพิ่มเติม… ซึ่งครูอาจารย์และนักการศึกษามีอยู่ในมือและอยู่ในอำนาจการตัดสินใจทั้งหมด เพียงแค่ตัดสินใจสร้างสมดุลย์ให้ “การเรียนนำการสอน” ดูบ้าง… ซึ่งแม้แต่คำที่ใช้ทั่วไปก็ให้คำว่า “การเรียน” มาก่อน “การสอน” มาตลอด

ถึงตรงนี้ผมขอข้ามการเรียนการสอนในช่วงวัยปฐมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นไปก่อน… เพราะข้อมูลแนวโน้ม Learning Disruption ในมือผมตอนนี้ ขอไม่พูดตอนนี้ดีกว่า… ปล่อยให้เด็กและผู้ปกครองใช้สิทธิ์การตัดสินใจให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ก่อน แล้วค่อยพูดถึงก็คงไม่สาย และน่าจะช่วยอธิบายได้ง่ายกว่าตอนนี้

และผมคิดว่าควรที่จะปูพื้นฐานแนวคิดและปรัชญาทางการศึกษาฝั่ง Andragogy เตรียมให้ท่านที่ “ตระหนักรู้” จากสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่หลายท่านเห็นเหมือนผมว่า… ข้อมูลกับความรู้กำลังบูรณาการอยู่นอกรั้วสถาบันการศึกษาตลอดเวลา… และผมมองว่า “ครู” ไม่มีขีดความสามารถในการย่อย “ข้อมูลความรู้” เพื่อ “ส่งต่อไปยังผู้เรียน” ได้หมดและทันเวลาแน่นอน เว้นแต่จะย่อย “ข้อมูลความรู้” เป็น Contents วางไว้ให้คนสนใจเรียนมาเลือกเรียนเอาเอง… โดยเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ มาทำหน้าที่ส่ง Contents ถึงผู้เรียนแทนครูผู้สอน

นี่คือเหตุผลที่ผมอยาก “ย่อยข้อมูลความรู้” เรื่อง Andragogy มาแบ่งปันท่านที่อยากเรียนรู้ เพื่อตามให้ทันพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือแม้แต่ผู้ปกครอง… ที่เปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและบทบาทใหม่ในชีวิต

Dr. Malcolm Knowles เจ้าของ Adult Learning Theory หรือ Andragogy Theory ได้วางกรอบครอบคลุม “วิธีการและหลักการที่ใช้ในการศึกษาผู้ใหญ่” ซึ่ง Dr. Malcolm Knowles เชื่อว่า… การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ หรือ Andragogy ต้องขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง แทนการศึกษาที่ให้ครูเป็นศูนย์กลาง โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ศูนย์กลางอยู่ที่ผู้เรียน และแนะนำหรือสอนให้พวกเขามีพลังในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

กุญแจหลัก หรือ Key Concepts ของ Andragogy Theory  เริ่มต้นโดยพัฒนาขึ้นบนหลักการ 4 เสาแห่งการตระหนักรู้ ก่อนจะเพิ่มเสาที่ 5 ในภายหลังเมื่อทฤษฎีและหลักการถูกนำไปใช้และทดสอบระหว่างที่ Dr. Malcolm Knowles ดำรงค์ตำแหน่งประธานกรรมการ หรือ Executive Director อยู่ที่ The Adult Education Association of the United States of America ช่วงปี 1950… Key Concepts ทั้ง 5 เสา หรือ 5 Pillars ประกอบด้วย

Pillar 1: A Maturing Self-concept หรือ บ่มเพาะแนวคิดส่วนตน

การเป็นผู้ใหญ่ หรือ ที่ถูกต้องคือการคิดแบบผู้ใหญ่ หลายกรณีไม่ได้อ้างอิงอายุหรือวัย แม้โดยธรรมชาติเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความคิดและหลักคิดจะเปลี่ยนแปลงจาก “หลักคิดแบบพึ่งพา” ไปเป็น “หลักคิดของตัวเอง” ตามวัย ผ่านประสบการณ์การพึ่งพาผู้อื่นในวัยเด็ก สู่การพึ่งพาตนเองเมื่อเติบใหญ่จนเกิด “แนวคิดและหลักการความเชื่อ” ของตัวเอง กลายเป็นรากฐาน “การตัดสินใจ” ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการคิด… การบ่มเพาะ “ตัวตน” ล้วนสร้างจากการเรียนรู้ หรือ Learning ที่บุคคลไม่ได้สะสมข้อมูลความรู้ทุกอย่างที่ถูกสอน มาสร้าง “ตัวตน” ทั้งหมด… แต่สะสมสิ่งที่เรียนรู้ไว้ทั้งหมด ให้กลายเป็นหลักคิดของตนเอง จนทำให้มนุษย์แตกต่างหลากหลาย

Pillar 2: Increasing Experience หรือเพิ่มพูนประสบการณ์

การเป็นผู้ใหญ่จะมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กทุกคน ซึ่งประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอตลอดเวลาที่ผ่านไปจนเป็นผู้ใหญ่ จะเพิ่มพูนและพอกพูนจนกลายเป็นทักษะที่ส่งผลต่อหลักคิด และคลังภูมิปัญญาได้ด้วยในหลายกรณี จนผู้อื่นสามารถพึ่งพาหรือเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สะสมนั้นได้… หลายกรณี ประสบการณ์ที่สะสม อาจผลักดัน “การตัดสินใจ” ระดับสัญชาตญาณได้ด้วย

Pillar 3: An Increasing Readiness to Learn หรือ พร้อมเรียนรู้เพิ่มเติม

การเป็นผู้ใหญ่จะมีบทบาททางสังคม หรือ Social Roles ที่หลากหลาย บนความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น โดยธรรมชาติของการรับบทบาททางสังคม มักจะพาคนๆ หนึ่งปรับตัวผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดอ่านและทัศนคติของผู้อื่น บ่มเพาะดัดแปลงเป็นความคิดและประสบการณ์ส่วนตนอยู่แล้ว… การมีสังคมและบทบาททางสังคมจึงทำให้ผู้ใหญ่ อยู่ในสถานะพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา

Pillar 4: A Shifting Application and Orientation หรือ ยกระดับผ่านการประยุกต์และปรับเปลี่ยน

การเป็นผู้ใหญ่จะอยู่ในฐานะพร้อมจะ “คิดต่อ” เพื่อประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากเด็กที่หลายครั้ง “การเรียนรู้ของเด็ก เป็นการเรียนเพื่อรู้” โดยไม่ได้คิดถึงการนำไปใช้ หรือประยุกต์ใช้ เช่น เด็กเรียนบวกลบคูณหารเพื่อรู้ มากกว่าจะเรียนเพื่อเอาไปค้าขายจ่ายทอน… แต่เมื่อเด็กโตขึ้นจนมีแนวคิดส่วนตนแบบผู้ใหญ่ ก็เข้าใจได้เองว่าบวกลบคูณหารเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

Pillar 5: An Internal Motivation to Learn หรือ แรงจูงใจใฝ่รู้จากภายใน

การเป็นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทเชิงสังคมชัดเจนกว่าเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องมิติต่างๆ กับตัวเองได้ซับซ้อน จนเกินแรงจูงใจส่วนตนเพื่อให้ “การตัดสินใจ” ตามแรงโน้มนำจากภายในที่เป็น “เป้าหมาย” ซึ่งทุกครั้งที่ “เกิดแรงจูงใจใหม่” ภายในใจหรือความคิด สมองของผู้ใหญ่จะเรียนรู้เพื่อหาทางไปให้ถึงเป้าหมายเสมอ… ต่างกับแรงจูงใจของเด็ก ที่มาจากการโน้มน้าวชี้นำจากภายนอกหรือบุคคลอื่น ซึ่ง “เป้าหมายของเด็ก” จะไม่ใช่เป้าหมายที่ตัวเองสร้างและชี้นำตัวเองจากภายใน… เด็กจึงยังไม่มีเป้าหมายของตัวเอง ไม่มีการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีแรงโน้มน้าวในตัวเองเหมือนผู้ใหญ่

ทั้ง 5 Pillars หรือ 5 เสาตามความเชื่อของ Dr.Malcolm Knowles มีอยู่ตามลำดับเท่านี้ ซึ่งวิธีนำไปประยุกต์ใช้ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผลักดันผ่าน Pillar 1 คือการบ่มเพาะความคิดส่วนตนให้ผู้เรียน… และอีก 4 Pillars ที่เหลือก็เพียงแต่ สร้างระบบนิเวศน์ให้ส่งเสริมการเกิด “ผลลัพธ์การตัดสินใจ” ที่เกิดจากพลังการเรียนรู้ของตัวผู้เรียนเอง… ซึ่งผู้สอนและผู้สร้างหลักสูตรหรือสถาบัน ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรส่งเสริม “ระบบนิเวศน์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” ให้มาก

ผมจงใจใช้คำว่า “ระบบนิเวศน์เพื่อการเรียนรู้” แทนที่จะใช้คำว่า “สภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนการสอน” เพื่อให้เข้าใกล้การเกิด การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือ Organic Learning ที่จะทำให้ผู้เรียนปรับตัวเข้าสู่ภาวะ Lifelong Learning… ที่จะเห็นผลชัดเจนบนกรอบผลลัพธ์ 6 ขั้นที่ Dr.Malcolm Knowles อธิบายไว้ได้แก่

Outcome 1: A Mature Understanding of Oneself หรือ เป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจตนเอง

Outcome 2: Acceptance, Respect and Love Toward Others หรือ เป็นที่รักและยอมรับนับถือจากผู้อื่น

Outcome 3: A Fluid and Dynamic Attitude Toward Life หรือ มีชีวิตที่มีพลวัตรและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

Outcome 4: Understanding and Reacting to Causes, Not Symptoms หรือเข้าใจและตอบสนองต่อสาเหตุไม่ใช่กิริยาอาการ

Outcome 5: Understanding Human Experience หรือ เข้าใจถ่องแท้กับประสบการณ์ของผู้คน

Outcome 6: Understanding Of and Ability to Change Society หรือ เข้าใจโดยถ่องแท้และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ในบทความตอนนี้ผมขอไม่ลงรายละเอียดของ Outcomes ทั้ง 6 เกินกว่านี้เพราะเชื่อว่าประเด็นค่อนข้างชัดเจนอยู่ในตัวพอสมควรแล้ว… ซึ่งชัดเจนว่าพลังการเรียนรู้เปลี่ยนคนให้ทำอะไรได้บ้าง ขอเพียงเป็นการเรียนรู้ที่พร้อมเติบโตและมีชีวิตไปกับ “ความเป็นผู้ใหญ่” ที่ระหว่างเรียนรู้ ไม่ได้มีแต่เรียน กับ รอเรียนอีกที หรือเล่นรอเรียน… เท่านั้น

ตอนหน้าผมจะพาไปเรียนรู้ Process Model for Learning ของ Andragogy Theory ซึ่งมี 8 ขั้นตอนครับ… โปรดติดตาม

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts