Cognitive Behavioral Therapy

Anxiety And Cognitive Behavioral Therapy… ความวิตกกังวล และ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม #SelfInsight

ความวิตกกังวล หรือ Anxiety เป็นภาวะอารมณ์อันเกิดจากความยุ่งเหยิงภายในจิตใจ โดยทั่วไปจะเป็นภาวะแปรปรวนทางอารมณ์ซึ่งสังเกตุเห็นเป็นความวิตกกังวลทางกาย ซึ่งสะท้อนความแปรปรวนสับสนหวั่นไหวจากภายใน เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจ หรือ ขบประเด็นที่ก่อความวิตกกังวลนั้นได้

ความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกด้านลบที่แปลว่า… เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผลเสียต่อเจ้าตัวมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะความวิตกกังวลจากการครุ่นคิด และ “พยายามคาดการณ์ถึงประเด็นที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล… โดยไร้คำตอบและทิศทาง”

ประเด็นก็คือ… ความวิตกกังวลส่งผลต่อจิตและประสาทโดยตรง เลยไปถึงภาวะเจ็บป่วยทางกายหลายประการตั้งแต่มึนศีรษะ ปวดหัว มวนท้อง กล้ามเนื้อตึงเครียดและอ่อนเพลียอิดโรย รวมทั้งกิริยาอาการอื่นๆ อีกมากที่ปรากฏให้เห็น… จนสามารถสังเกตุเห็นอาการวิตกกังวลได้อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน… การเยียวยาความวิตกกังวลโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา จะมีการวินิจฉัยและช่วยเหลือผู้ป่วยตามอาการและแนวทางเฉพาะ ซึ่งคนไข้ทางจิตเวชที่เข้ารับคำปรึกษาและการเยียวยาโดยผู้เชี่ยวชาญ ก็ถือว่าไม่มีอะไรให้น่ากังวลเพิ่มเติมอีก

แต่ความวิตกกังวล หรือแม้แต่ความวิตกกังวลต่อเนื่องสะสมที่เรียกว่าความเครียดในระดับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปนั้น คนส่วนใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากจะแวะไปเป็นคนไข้จิตเวช เพื่อรับคำปรึกษาเยียวยาจากผู้เชี่ยวชาญกันนัก การหาทางจัดการความวิตกกังวลด้วยตัวเอง จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับหลายๆ คนที่รู้สึกได้ถึงความหนักหน่วงถ่วงทุกข์ในจังหวะชีวิต

อย่างไรก็ตาม… ความเครียดและความวิตกกังวลระดับใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปสามารถเยียวยาได้ด้วยกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมเช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือกิจกรรมเชิงนันทนาการอื่นๆ มากมาย ที่แต่ละคนสามารถ “ใช้เวลา” ส่วนหนึ่งในกิจวัตรไปกับกิจกรรมนันทนาการและสันทนาการ… ซึ่งเป็นการพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์วิตกกังวล… อย่างน้อยก็เพื่อให้สมองได้พักการเสพความวิตกกังวล และจิตใจได้ย่อนคลายไปบ้าง

ส่วนความเครียดและความวิตกกังวลสะสมจนเข้าขั้นซึมเศร้า ไปจนถึงขั้นประเมินพบอาการทางจิตเวชนั้น…  ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาสาเหตุและพัฒนาการของอาการ ก็จะพบความคิดส่วนตัวที่ถูกบิดเบือนจากทัศนคติและความคิดส่วนตน… สร้างความยุ่งเหยิงขึ้นภายในจิตใจ จนเกิดแปรปรวนสับสนหวั่นไหว สะสมเรื้อรังโดยไร้การใส่ใจอย่างเหมาะสม… การเยียวยาสำหรับผู้มีอาการเครียดและวิตกกังวลสะสมจนเข้าขั้นซึมเศร้าแนวทางหนึ่งที่มีการใช้อย่างกว้างขวางมีชื่อว่า CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy หรือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม

CBT เป็นการทำจิตบำบัดเน้นการพูดคุย โดยใช้ความคิดและพฤติกรรมของผู้รับการบำบัดเองเป็นเครื่องมือในจัดการความคิดและอารมณ์อันยุ่งเหยิงภายในจิตใจ…  CBT ในประเทศไทยยังถือเป็นเครื่องมือใหม่ แต่การวิจัยทางจิตเวชเกี่ยวกับ CBT ในประเทศไทยก็มีมากขึ้นมากในปัจจุบัน สะท้อนการยอมรับและนำใช้ในทางคลีนิคต่อๆ ไป ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดแบบ CBT ในประเทศไทยจะยังมีน้อยอยู่

ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT หรือ  การบำบัดความคิดและพฤติกรรมนี้… จะพูดถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และร่างกายว่ามันสัมพันธ์กันหมด ถ้าคิดแบบนี้ ก็จะรู้สึกแบบนี้ พอรู้สึกแบบนี้ ก็จะทำแบบนี้… ดังนั้น ถ้าสามารถปรับตรงความคิดตั้งต้นได้ ความรู้สึกเราก็อาจจะเปลี่ยนไป พฤติกรรมก็อาจจะเปลี่ยนตาม ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข

แนวทางในกิจกรรมบำบัดในกระบวนการ  CBT โดยหลักๆ แล้ว… จะเริ่มต้นที่การถามคำถามเพื่อให้เจ้าตัวค้นพบ “คำตอบใหม่ จากมุมมองใหม่” โดยเฉพาะการตั้งคำถามแบบ Socratic Questioning หรือ การซักถามแบบโสเครติส… ซึ่งเป็นเทคนิคการสอนและถ่ายทอดมุมมองความรู้ของโสเครตีส หรือ Socrates ที่ใช้มาตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล… และเมื่อได้มุมมองหรือทางเลือกอื่นจากการตั้งคำถามแล้ว ก็ให้เอาไปวางแผนเพื่อ “สะสางปมค้างคา” ด้วยแนวทางที่ต่างออกไปจากเดิม

ดังนั้น… หลักการบำบัดความคิดและพฤติกรรม จึงมีสองประเด็นหลักในการช่วยเหลือคนที่อยู่ในภาวะวิตกกังวล หรือกังวลต่อเนื่องจนเครียด… ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการพูดคุยหรือตั้งคำถามหามุมมองใหม่ๆ ในประเด็นที่ก่อความเครียด… ซึ่งก็คือวิธีการหาทางจัดการปัญหาด้วยมุมมองและวิธีการอื่นๆ ที่ต่างออกไปจากเดิมนั่นเอง… โดยส่วนตัวผมจึงมองว่า การลองหาทางอื่นในการสะสางประเด็นปัญหาที่ก่อความเครียด จึงเป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินชีวิต ซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนเคยเจอ “ปัญหาค้างคา” กันมาทั้งสิ้น

ส่วนท่านที่อาการเข้าขั้นต้องหาผู้เชี่ยวชาญช่วยแล้ว… ก็แวะปรึกษาคลินิคจิตเวชได้เลยโดยไม่ต้องลังเล หรือจะลองโทรปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่มีบริการ 24 ชั่วโมงก็ได้

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts