รายงานวิจัยล่าสุด 2 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience และ PNAS ระบุว่ากระแสน้ำ Atlantic Meridional Overturning Circulation หรือ AMOC หรือ Gulf Stream หรือ กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งเป็นสายธารหลักสายหนึ่งของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะนี้อ่อนกำลังลงถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งพันปี ทั้งยังเสี่ยงเข้าใกล้จุดวิกฤตที่จะหยุดไหลเวียนอย่างถาวรเร็วขึ้น ซึ่งอาจเป็นภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้
นักวิจัยจาก Potsdam Institute for Climate Impact และ Copenhagen University พบการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำอุ่น AMOC หรือ Atlantic Meridional Overturning Circulation ซึ่งจะเคลื่อนตัวจากเขตร้อนในอ่าวเม็กซิโกไปยังยุโรปตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวช้าลง โดยพบอัตราการชะลอความเร็วลดต่ำลงกว่าที่เคยคาดกันไว้
ปรากฏการณ์นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หวั่นกันว่า สภาพการณ์ดังกล่าวจะไปถึงจุดวิกฤต หรือ Tipping Point ภายในปี 2100… โดยคาดกันว่า เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขให้กระแสน้ำอุ่น AMOC กลับมาไหลเวียนดังเดิมได้… และยุโรปจะหนาวเหน็บลงกว่าเดิมอย่างมากถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง
การที่กระแสน้ำอุ่น AMOC ไหลช้าลงนั้น เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลไหลลงสู่มหาสมุทร รบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยแรงดันเกลือ ส่งผลให้กระแสน้ำอ่อนแรงและไหลช้าลง จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของผิวน้ำและมวลอากาศข้างบนเย็นตัวได้

หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้งในอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระแสน้ำอุ่น AMOC จะยิ่งอ่อนกำลังลงไปอีก 34%–45% ในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และอาจหยุดนิ่งไปอย่างถาวรในช่วงของศตวรรษถัดไป
กระแสน้ำอุ่นที่ไหลช้าจนหยุดนิ่งและเย็นตัวลง จะทำให้ภูมิภาคยุโรปเผชิญอากาศหนาวเหน็บและความแห้งแล้ง รวมทั้งคลื่นความร้อนที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม ส่วนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐด้านที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก จะมีน้ำทะเลหนุนสูงรวมทั้งเกิดพายุใหญ่ที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น
นอกจากนี้ การที่กระแสน้ำอุ่นซึ่งนำพาแร่ธาตุและสารอาหารจากเขตร้อนไปสู่ซีกโลกเหนือหยุดนิ่ง จะทำให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างใหญ่หลวงติดตามมาด้วย
References…