เมื่อพูดถึงคำว่า “ความใส่ใจ” ในบริบทของภาษาไทยที่นิยามถึง… การที่คนๆ หนึ่ง “คิดและทำ” หลายอย่างเพื่อคนอื่น หรือ ทำให้คนอื่นโดยหวังว่า หรือ เชื่อว่ามันจะดีกับผู้รับ… ซึ่งถ้าเป็นความใส่ใจภายใต้ “ความเข้าใจความต้องการของผู้รับ” อย่างแท้จริง… เรื่องดีงามบนสายสัมพันธ์ก็มักจะเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมมาก… แต่ถ้าเป็นการ “คิดและทำ” อะไรที่คนรับไม่ต้องการด้วยเหตุผล หรือ เงื่อนไขแบบใดก็ตามแต่ สิ่งที่คิดและทำโดยเชื่อว่าเป็นการใส่ใจก็มีโอกาสจะกลายเป็นความน่ารำคาญ หรือ กลายเป็นเงื่อนไขบั่นทอนความสัมพันธ์ให้แย่ลงได้เช่นกัน
ความใส่ใจอันเป็นที่ต้องการโดยทั่วไปจึงถูกนิยามเอาไว้ด้วยคำว่า “Empathy” ในภาษาอังกฤษ อันเป็นความใส่ใจด้วยความเข้าอกเข้าใจ… แต่จะมีความใส่ใจแบบที่นิยามเอาไว้ในภาษาอังกฤษว่า “Attend หรือ Attending” ซึ่งเป็นพฤติกรรมการคิดและทำอะไรๆ ให้คนอื่น หรือ เพื่อคนอื่นแบบเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังต้องการความสนใจ และ ความใส่ใจเป็นหลัก… โดยเฉพาะอะไรๆ ที่ฝ่ายรับไม่ได้ต้องการจากการคิดและทำโดยฝ่ายที่ให้ผู้เชื่อว่าตนกำลังใส่ใจอยู่
Jackie Tabick ซึ่งเป็น Rabbi หรือ ศาสนาจารย์สตรีคนแรกในศาสจักรยูดาห์ หรือ Judaism ในอังกฤษชี้ว่า… ทุกศาสนามีคำสอนที่มุ่งให้เกิดความรักซึ่งความรัก ณ ที่นี้จะถูกแนะนำให้แสดงออกต่อกันผ่านความเห็นอกเห็นใจ และ ความใส่ใจกัน… แต่ “การใส่ใจ และหรือ เห็นอกเห็นใจ” จะส่งผลต่อชีวิตของเราทั้งด้านดี และ ด้านไม่ดีได้ด้วย… โดยเฉพาะการใส่ใจที่มากเกินไป ก็จะทำให้บุคคลที่เราต้องการใส่ใจรู้สึกไปในทางรำคาญก็มี… ทั้งๆ ที่เราคิดว่าทำไปโดยเจตนาดี แต่ผู้รับความใส่ใจไม่ต้องการสิ่งนั้น… สิ่งนั้นก็ไร้ประโยชน์ และ ยังทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันไปเสียอีก…
รายละเอียดเกี่ยวกับ “ความใส่ใจ” ที่เป็นประโยชน์จึงควรมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ…
- Impartiality หรือ ความไม่ลำเอียง… เพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน… ความใส่ใจ หรือ การเอาใจใส่จึงต้องมีพอเพียง และ เสมอภาคที่สุด… โดยยึดหลักของการให้ต่อคนที่ควรให้ ในปริมาณที่ควรได้รับ
- Awareness หรือ การตระหนักรู้ด้วยสติ… ซึ่งสำคัญที่ต้องรับรู้ว่า “เรากำลังทำอะไรให้ใคร และ แสดงออกถึงการใส่ใจอย่างไร” ซึ่งจำเป็นต้องรับรู้ถึงสิ่งที่คิดและทำทั้งหมด โดยไม่มีข้อแก้ตัวว่า ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ในภายหลัง
- Empathy หรือ ความใส่ใจด้วยการเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริง… ซึ่งการใส่ใจที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้ว่า “บุคคลที่เรารักชอบอะไร และ ไม่ชอบอะไร” และ ในสถานการณ์หนึ่งๆ จะรู้สึก หรือ คิดอะไร อย่างไร… ซึ่งก็คือการเข้าใจคนที่ต้องใส่ใจก่อนอื่น
ว่ากันว่า… ถ้ามี 3 องค์ประกอบนี้อย่างครบถ้วนแล้ว สายสัมพันธ์ที่ต้องการความใส่ใจทั้งให้และรับ ก็จะถูกบิดเบือนได้ยาก และ มักจะเกิดแต่ปรากฏการณ์ดีๅ กับทุกฝ่าย
References…