Authentic Assessment… การประเมินตามสภาพจริงในระบบการศึกษา #ReDucation

กิจกรรมสำคัญในทุกๆ ระบบการศึกษาที่จำเป็นจะต้องมีก็คือ… ระบบการประเมินผู้เรียนเพื่อสอบหา “ความรู้ และ ทักษะ” ที่ผู้เรียนได้ไปจากกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่ได้ฝึกประสบการณ์ร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน และ การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ออกแบบโดยครูอาจารย์ และ นักวิชาการด้านการศึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นก็คือ… ระบบการประเมินผู้เรียน ที่มีใช้กันอยู่ในระบบการศึกษาทั่วโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนแต่มีข้อดี–ข้อเสียของ “รูปแบบ หรือ เทคนิคการประเมิน” แปลกแยกแตกต่างกันไป… วิธีประเมินความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนจึงถูกผู้สอน สถาบัน และ ระบบการศึกษาออกแบบ และ กำหนดขึ้นอย่างระมัดระวัง เพื่อหาทางพิสูจน์ “พื้นประสบการณ์ และ ฐานความรู้” จากผู้เรียนให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด… ก่อนจะรับรอง และ คืนผู้เรียนให้เอาความรู้ และ ทักษะไปทำประโยชน์ให้ตนเอง กับ สังคม และ ประเทศชาติต่อไป

ในช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ และ กระบวนการทางการศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้… รูปแบบการประเมินผู้เรียนที่ถูกพูดถึง และ แนะนำมากที่สุดดูเหมือนจะเป็นรูปแบบ “การประเมินตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment” ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่ละเอียด และ เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น สามารถออกแบบมาตรวัดความรู้ และ ดัชนีวัดทักษะได้อย่างหลากหลาย… ไม่ผูกติดอยู่กับการสอบอย่างเดียว สามารถใช้กิจกรรม เหตุการณ์ สถานการณ์ ภาระงาน และ ชิ้นงาน ที่ผู้เรียนพิสูจน์ให้เห็นว่าได้ใช้ความรู้ และ ทักษะไปกับผลงาน และหรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต หรือ Real Life มาร่วมประเมิน… โดยเฉพาะผลงานที่เห็นได้ชัดว่าถูกประยุกต์ด้วยความรู้ และ ทักษะที่ซับซ้อน… เด่นชัดว่าสร้างสรรค์ และ ดำเนินมาด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ปรากฏเห็นเป็นการต่อยอด หรือแม้แต่รังสรรค์ขึ้นใหม่… สะท้อนองค์ความรู้อย่างชัดเจน และ ปรากฏทักษะ กับ ความสามารถอย่างชัดเจน รวมทั้งการได้เห็นศักยภาพ หรือ Performance ของผู้เรียน กับ ผลงาน และหรือ กิจกรรมที่ผู้เรียนได้ “ปลดปล่อยความรู้ และ ประสบการณ์” ที่รังสรรค์ขึ้นมา

ปัญหาก็คือ… การประเมินตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment ไม่มีมาตรฐานในการวัดประเมินเป็นคะแนน หรือ ดัชนีที่ชัดเจน และ ตรงไปตรงมา… การตรวจประเมินผลงานของผู้เรียนในหลายๆ กรณี เช่น กรณีการตรวจโครงงาน STEM ระดับมัธยมศึกษาในหลายๆ บริบทยังคงได้เห็น Teacher Bias หรือ ความลำเอียงของครู ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับ และ วิพากษ์โครงงานให้นักเรียน… ซึ่งครูอาจารย์ส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาชี้แนะอะไรนักเรียนเพิ่มเติมได้ไม่มาก… แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้คะแนนนักเรียนไปตามที่ตนคิดฝ่ายเดียวรุ่นแล้วรุ่นเล่า

แนวคิดการนำใช้การประเมินตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment ในระบบการศึกษาที่ไม่ถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะ โดยขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดเดียวกับการสอบสารพัดแบบอยู่เช่นเดิม… ในขณะที่ครูอาจารย์ และ ผู้มีส่วนในการประเมินผลการเรียนตามสภาพจริงยังคงทำหน้าที่บนบริบทเดิม และ องค์ความรู้ กับ เทคนิคแบบเดิม… โดยส่วนตัวคิดว่าล้มเหลวตั้งแต่คิดจะใช้แล้ว! 

ข้อมูลจาก Center for Innovative Teaching and Learning หรือ CITL ของ Indiana University ชี้ว่า… Authentic Assessment จะต้องประเมินบนข้อเท็จจริง หรือ Realistic และ ต้องตัดสินด้วยวิจารณญาณ และ ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการประเมิน… ที่สำคัญคือ ควรจะประเมินความสามารถของผู้เรียนบน “รายการความรู้ และ ทักษะที่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเห็นประสิทธิผล” และ ควรจะเปิดโอกาสให้มีการฝึกฝน เตรียมการ หรือ ฝึกซ้อมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอก หรือ แหล่งข้อมูลที่สามารถเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้… 

โดยส่วนตัวผมจึงมองว่า… Authentic Assessment เป็นการใช้กระบวนการนวัตกรรมมาพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ และ เมื่อเป็นกระบวนการนวัตกรรมซึ่งมีบางสิ่งที่ใหม่ และ ต้องจัดการกันไปเป็นรายกรณี… ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment จากแหล่งข้อมูลอื่น ซึ่งอธิบายให้ใช้เป็นกลไกการให้คะแนนรูปแบบหนึ่งในระบบการเรียนการสอน โดยไม่ได้เน้นเทคโนโลยี และ กระบวนการทางนวัตกรรม ซึ่งให้คะแนนไปตามเนื้องานแบบ… ตรวจไข่เจียวไหม้–ดำ–เค็ม ก็หักคะแนนตามสภาพ โดยไม่สนใจกระบวนการได้มาซึ่งไข่เจียวไหม้–ดำ–เค็ม ที่ผู้สอนควรรับผิดชอบ “สอนนักเรียน” ให้สามารถทำไข่เจียวรสเลิศหน้าตาดีให้ลูกศิษย์ให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยมาตัดสิน หรือ แนะนำ… ด้วยความเคารพ!

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts