งาน CES 2022 ที่เดินหน้าจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ใน Las Vegas เหมือนในอดีต ท่ามกลางการระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ในสหรัฐอเมริกาที่พุ่งสูงถึงหลักล้านคนต่อวัน ในขณะที่ความรุนแรงของโรคและอาการป่วยจากผลกระทบ ก็ไม่ได้น่ากังวลเหมือนการระบาดช่วงแรก
งาน CES ปีนี้มีรายการพิเศษที่น่าสนใจสำหรับแฟนกีฬาประลองความเร็วจากรายการ Autonomous Challenge @ CES ซึ่งเป็นการแข่งขันรถล้อเปิด หรือ รถฟอร์มูล่าขับเคลื่อนอัตโนมัติเทียบเท่าการแข่งขัน INDY อันลือลั่นในสหรัฐอเมริกา โดยมีการจัดแข่งขันที่สนาม Las Vegas Motor Speedway ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 มกราคม ปี 2022 ตามเวลาท้องถิ่น และ ในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับชุดนี้ ได้ปรากฏผลการแข่งขันได้ผู้ชนะเลิศเป็นทีม PoliMOVE จากสถาบัน Politecnico di Milano จากประเทศ Italy ร่วมกับ University of Alabama ในสหรัฐอเมริกา เฉือนคว้าชัยจากตัวเต็งแชมป์เก่าจากรายการ Indy Autonomous Challenge อย่างทีม TUM Autonomous Motorsport จาก The Technical University of Munich หรือ TUM ประเทศเยอรมนี

PoliMOVE wins 1st Place in the Autonomous Challenge @ CES! #IAC2022 #CES2022 pic.twitter.com/uRgUif9UUD
— Indy Autonomous Challenge (@IndyAChallenge) January 8, 2022
The final pass of the competition (and the amazing controlled spin by TUM Autonomous Motorsport)! #IAC2022 #CES2022 pic.twitter.com/jyS1jJgJqb
— Indy Autonomous Challenge (@IndyAChallenge) January 8, 2022
ย้อนกลับไปที่การแข่งขันยานยนต์อัตโนมัติรายการ Indy Autonomous Challenge รอบชิงชนะเลิศที่ผ่านไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 หมาดๆ ซึ่งถือเป็นรายการแข่งขันยานยนต์อัตโนมัติระดับฟอร์มูล่าครั้งแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยียานยนต์ชั้นสูงแบบไร้คนขับเข้าแข่งขัน โดยสืบทอดแนวคิด Formula E ของ FIA หรือ International Automobile Federation ซึ่งมีความพยายามในการจัดการแข่งขันมาแล้วหลายรายการก่อนหน้านั้น เพียงแต่รูปแบบจัดการแข่งขันออกมาในเชิงศึกษาทดลอง และ สาธิตเทคโนโลยีมากกว่า โดยเฉพาะการทำสถิติของ Roborace ในฤดูกาลปี 2016-2017 และ เข้าสู่การทดสอบใกล้เคียงการแข่งขันฟอร์มูล่าในปี 2019… ซึ่งผลการทดสอบรอบ อัลฟา และ เบต้า สองฤดูกาลได้สร้างสถิติใน Guinness World Records ในฐานะยานยนต์อัตโนมัติที่เร็วที่สุดในโลกเอาไว้ที่ 282.42 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
หลังจากนั้น… ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันในรายการ Indy Autonomous Challenge หรือ IAC ซึ่งในท้ายที่สุดยังคงจัดเป็นการแข่งขันกึ่งสาธิตเทคโนโลยีในระดับมหาวิทยาลัยก่อน เพื่อท้าทายวิทยาการจากสถาบันการศึกษาด้วยสนามแข่งขันจริง และ เงินรางวัลสุดเร้าใจ ในขณะที่เทคโนโลยีของฝั่งเอกชนส่วนใหญ่ ยังถือว่าด้อยกว่าความก้าวหน้าที่กำลังพัฒนาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาก
ส่วนกติกาหลักเพื่อความเท่าเทียม และ มุ่งประลองความสามารถในการเขียนอัลกอริทึมของนักศึกษาเป็นหลัก ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจึงกำหนดให้ทุกทีมที่เข้าแข่งขัน ใช้ตัวถังรถรุ่นเดียวกันคือ Dallara AV-21 ซึ่งเป็นโครงสร้างตัวถัง หรือ Chassis มาตรฐานการแข่งขัน Indy Lights
กระทั่งมาถึง Autonomous Challenge @ CES ซึ่งรูปแบบการแข่งขันถูกพัฒนาจนบรรยากาศเข้าใกล้การแข่งอาชีพไม่ต่างจากรายการแข่งขันฟอร์มูลา และ อินดี้ของรถล้อเปิดที่สืบทอดกันมานาน และนับจากนี้ไป… เราคงจะได้เห็นการแข่งขัน Autonomous ที่จะได้เห็นสถิติความเร็ว และ การแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งกว่านี้อีกมาก
References…