ขยะแบตเตอรรี่ หรือ แบตเตอรี่หมดอายุใช้งาน โดยเฉพาะแบตเตอรี่จากรถยนต์ทุกคันทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นแบตเตอรี่กรด–ตะกั่ว ที่มีอายุการใช้งานราว 20–30 เดือนบวกลบแล้วแต่สภาพการใช้งาน และ คุณภาพแบตเตอรี่ ซึ่งประสิทธิภาพที่เสื่อมลงในการสะสมปะจุไฟฟ้าจนใช้เป็นพลังงานสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ไหว… ก็จำเป็นจะต้องปลดระวางปล่อยให้แบตเตอรี่ลูกเก่า เกษียณจากหน้าที่การเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งแบตเตอรี่ลูกใหม่เข้าไปแทน… และก็เป็นวงจรเดียวกันกับแบตเตอรี่ Li-Ion ที่ใช้ในรถยนต์สมรรถนะสูง รวมทั้งรถยนตไฮบริดแบบต่างๆ และ พาหนะไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ก่อนจะได้เปลี่ยนรถเสมอ
แบตเตอรี่ใช้แล้ว หรือ แบตเตอรี่เกษียณจึงเป็นของเหลือส่วนเกินที่มีสถานะระดับเดียวกับขยะเกือบทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะกรณีที่มีการนำแบตเตอรี่เสื่อมสภาพจาก EV ไปใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านขบวนการรีไซเคิล ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในการดัดแปลงใช้เก็บพลังงานจากลมและแสงแดดเอาไว้ใช้ยามกังหันไม่หมุนและพระอาทิตย์ตกดิน… ซึ่งนักวิชาการหลายท่านจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภูมิใจแนะนำเลยว่า… ดีงามและคุ้มค่ากว่าทิ้งเป็นขยะ หรือ ขายคืนระบบรีไซเคิลถูกๆ ซึ่งรอจนเสื่อมสภาพจากการใช้เก็บแดดเก็บลมอีกหลายปีก็ยังขายคืนได้ราคาเดิมอยู่
ส่วนแบตเตอรี่ตะกั่ว–กรด ซึ่งเจ้าของรถส่วนใหญ่ยินดีขายคืน หรือ แลกเป็นส่วนลดแบตเตอรี่ลูกใหม่ และ ผมขอข้ามการวิจารณ์เรื่องราคาการเทรดแบตเตอรี่ไปทั้งหมด รวมทั้งการรีไซเคิลแบบ “ย้อมแมวไปขายหมู” ทั้งหมด เพื่อจะได้ข้ามไปคุยเรื่องสร้างสรรค์อย่างอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่จริงๆ
ข้อมูลจาก Microtex Energy ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตะกั่ว–กรด และ โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว–กรดในอินเดีย ที่ให้ข้อมูลค่อนข้างจริงว่า… เป็นไปไม่ได้ที่จะรีไซเคิลแบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้ 100% ให้เป็นวงจรรีไซเคิลแสนสวย… ความสำเร็จในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ทุกชนิดมีเป้าหมายกู้คืนวัตถุดิบ หรือ แปรรูปวัตถุดิบให้กลับมามีคุณค่าสมบูรณ์ได้ราว 90% ก็ถือว่ามากแล้ว… และ คำบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการจาก Microtex Energy ในอินเดียยังชี้ว่า… ขยะแบตเตอรี่ส่วนใหญ่มาจากยุโรป เพราะโรงงานรีไซเคิลในยุโรปที่รีไซเคิลแบตเตอรี่ได้จริงมีอยู่ใน 8 ประเทศของยุโรปทั้ง 30 กว่าประเทศเท่านั้น และ มีเพียง 4 ประเทศที่มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้เข้าใกล้ 100% ตามอุดมคติ… ที่เหลือจะส่งออกขยะแบตเตอรี่ทั้งถูกกฏหมาย และ ขยะเถื่อนมากกว่า
ส่วนรูปแบบการรีไซเคิลหลักๆ ที่ทำกันก็จะมี 2 รูปแบบคือ Close Loop Recycle หรือ รีไซเคิลนำกลับไปผลิตสินค้าเดิม หรือ รีไซเคิลแบตเตอรี่กลับไปผลิตแบตเตอรี่… ส่วนแบบที่สองคือ Open Loop Recycle หรือ รีไซเคิลไปเป็นวัตถุดิบใหม่ เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกนำไปแยกเป็นเม็ดพลาสติก และ สารเคมีอื่นๆ ก็รีไซเคิลโดยแยกองค์ประกอบให้กลับไปเป็นสารเคมี หรือ ธาตุดั้งเดิม และ ขายออกเป็นวัตถุดิบ… โดยเป้าหมายการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในอนาคตต้องการทำ Close Loop Recycle 100% ให้ได้
ส่วนขั้นตอนการรีไซเคิลแบตเตอรรี่ที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว–กรด ยังคงเป็นแบบ Pyrometallurgical Methods หรือ วิธีไพโรเมทัล ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับการใช้เตาเผาความร้อนเพื่อแยกสกัดโลหะบริสุทธิ์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม… ธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ และ ธุรกิจจัดการแบตเตอรี่เสื่อมสภาพหมดอายุ ถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตมากที่สุดอีกหนึ่งโมเดลที่จะมาพร้อมการเฟื่องฟูของตลาด EV ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าจะมีมาร์จิ้นค่อนข้างสูงไม่ต่างจากการรีไซเคิลมอเตอร์ไฟฟ้าเช่นกัน… ท่านที่สนใจปรึกษาผมได้ทางไลน์ ID: dr.thum ครับ
References…