แนวคิดและองค์ความรู้ว่าด้วย คุณธรรมและจริยศาสตร์ หรือ Virtue and Ethics ซึ่งเป็นแนวทางหรือ Guideline ว่าด้วย แนวทางปฏิบัติซึ่งโน้มเอียงไปในทางการทำดี โดยวางเกณฑ์การตัดสินดีไม่ดีอ้างอิงหลักศีลธรรมและวินัยประจำวันที่คนๆ หนึ่งคิดออก ทำได้และได้ทำ… ซึ่งจริยศาสตร์และคุณธรรมนี่เองที่แยกมนุษย์ให้แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น… รวมทั้งมนุษย์ที่จริยธรรมก็น้อยและคุณธรรมก็เบาบาง
ด้วยเหตุนี้… ศาสดาจากทุกศาสนาจึงเริ่มต้นพัฒนามนุษย์ผ่านหลักคุณธรรมและจริยศาสตร์ หรือ Virtue and Ethics ก่อนอื่น แม้ว่าแก่นแท้จริงของทุกศาสนาจะคลุมแนวทางคุณธรรมและจริยะด้วยความเชื่อตามโครงสร้างสังคม จนบางศาสนาหรือบางลัทธิจะหลงทางไปกับความเชื่อล้วนๆ เข้ารกเข้าพงลงเหวอย่างน่าสมเพชเวทนาก็ตาม… แต่จริยศาสตร์และคุณธรรมก็ยืนหยัดเป็นกำแพงให้ทุกความเชื่อ ได้พิงหลังใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิได้ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นวิทยาศาสตร์ที่แม้แต่ เบนจามิน แฟรงคลิน ก็พิสูจน์ไว้จนเป็นที่ประจักษ์ว่า… จริยะและคุณธรรมในตนสำคัญกับบทบาทและอนาคตเบื้องหน้าอย่างไร
เบนจามิน แฟรงคลิน หรือ Benjamin Franklin ซึ่งเป็นเจ้าของรูปบนธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “Founding Fathers of the United States หรือ บิดาผู้ร่วมก่อตั้งสหรัฐอเมริกา” เป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้า นักการทูต นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักสื่อสารมวลชน ช่างพิมพ์ และเป็นอะไรดีงามอีกหลายอย่างจนกลายเป็นบุคคลที่น่าพิศวงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
เบนจามิน แฟรงคลิน เกิดในปี 1806 ตรงกับพุทธศักราช 2349 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย… Josiah Franklin และ Abiah Folger บิดากับมารดาของเขาเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง จึงพยายามส่งเบนจามินเข้าเรียนจากรายได้และเงินสะสมน้อยนิด เพื่อหวังว่าเบนจามินจะได้เข้าร่วมคณะนักบวช ซึ่งเป็นโอกาสทางการศึกษาโอกาสเดียว ที่ครอบครัวแฟรงคลินจะผลักดันเบนจามินให้ได้เรียนหนังสือสูงขึ้นกว่าพื้นฐานครอบครัวและพ่อแม่… แต่การเรียนของเบนจามินก็สิ้นสุดลงเพียงอายุ 10 ขวบ ซึ่งต่อมาได้ไปเป็นลูกจ้างโรงพิมพ์… อันเป็นสถานที่ๆ สร้างเบนจามิน แฟรงคลิน ให้กลายเป็นช่างพิมพ์ฝีมือดี พร้อมๆ กับโอกาสในการได้อ่านหนังสือทุกชนิดที่โรงพิมพ์รับงานมาพิมพ์ ตั้งแต่ขั้นการเรียงพิมพ์ ซึ่งต้องเรียงแม่พิมพ์ตัวอักษรลงแท่นพิมพ์โดยไม่ผิดพลาด… และนั่นเป็นที่มาขององค์ความรู้ล้นเหลือในตัวเขา… จนสามารถร่วมมือกับมิตรสหายสร้างอเมริกาขึ้นมาจากอาณานิคมแร้นแค้นกันดาน กลายเป็นมหาอำนาจในอีกไม่กี่สิบปีต่อมาหลังการจากไปตลอดกาลของเขา
แน่นอนว่า… งานพิมพ์เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกิจการด้านเผยแพร่ศาสนา นั่นทำให้เบนจามินวัย 20 ปี ทำร่างต้นฉบับว่าด้วยคุณธรรม 13 ประการ หรือ 13 Virtues ของตนเองขึ้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เบนจามิน แฟรงคลิน วัยหนุ่มฉกรรจ์น่าจะพยายามเขียนต้นฉบับหนังสือของเขาตามความฝันที่คุกรุ่นในจิตวิญญาณมากกว่า… แต่การนำข้อปฏิบัติทั้ง 13 ประการนั้นมาใช้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บอกต่อใน “ยุคเรืองปัญญาในอเมริกา” ซึ่งต่อยอดมาจากอุดมคติว่าด้วยมนุษย์นิยม ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กับการบุกเบิกความรู้และการค้นพบในสาขาปรัชญาธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในอังกฤษและยุโรป… เบนจามิน แฟรงคลินจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในไม่ช้า
เบนจามิน แฟรงคลินผู้มาจากภูมิหลังระดับสามัญชน ผู้ครองตนด้วยคุณธรรมประจำตัว 13 ประการของเขา จึงประสบความสำเร็จทั้งร่ำรวยขึ้นมาก พร้อมๆ กับการได้รับการยอมรับอย่างมากมาย และเกษียณตัวเองจากงานโรงพิมพ์และนักสื่อสารมวลชน เพื่อมาทำงานบริการสาธารณะในวันสี่สิบเศษ… ซึ่งเป็นความฝันของหลายคนในยุคปัจจุบันนี้ ที่อยากปลดปล่อยตัวเองออกจาก “สิ่งที่ควรทำ เพื่อมาทำสิ่งที่อยากทำ” ซึ่งหลายคนเรียกกันว่า… Passion
วันนี้ผมก็เลยเอา 13 Virtues หรือ The Thirteen Virtues หรือ คุณธรรม 13 ประการของ Benjamin Franklin มาฝาก… ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
1. Temperance หรือ กินแต่พอดี
ไม่กินจนจุกไม่ดื่มจนหาม เพราะคนที่ควบคุมตัวเองเรื่องการกินได้ จะมีแนวโน้มในการพัฒนาตนเองด้านอื่น ๆ ได้อย่างหนักแน่นตามไปด้วย
2. Silence หรือ เงียบไว้
ไม่พูดมาก เว้นแต่พูดแล้วเป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพูดคุยไร้สาระให้สิ้นเปลืองเวลาโดยเปล่าประโยชน์
3. Order หรือ มีระเบียบ
จัดข้าวของให้เข้าที่ จัดสรรเวลาในการทำงานให้ถูก ความมีระเบียบช่วยให้ทำงานต่างๆ ราบรื่นกว่า
4. Resolution หรือ เด็ดเดี่ยว
ยืนหยัดในสิ่งที่ควรทำ ทำสิ่งที่ยืนหยัดโดยไม่หวั่น ไม่ถอย ล้มเหลวก็พยายาม ผิดพลาดก็แก้ไข
5. Frugality หรือ ประหยัด
ใช้ทรัพย์ให้น้อยประหยัดให้มาก เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้มั่งคั่ง อย่าใช้โดยไม่จำเป็นนอกจากเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือต่อตนเอง
6. Industry หรือ อุตสาหะ
อย่าเสียเวลาเปล่า และจงทำตนให้มีประโยชน์ตลอดเวลา ตัดขาดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
7. Sincerity หรือ จริงใจ
อย่าหลอกลวงให้ใครเจ็บปวด จงคิดอย่างซื่อสัตย์เที่ยงตรง ถ้าหากต้องพูดจงพูดให้ตรงกับใจ ไม่เอ่ยคำลวง ให้คิดอย่างบริสุทธิ์ พูดจาตรงไปตรงมา
8. Justice หรือ ยุติธรรม
ไม่ทำผิดโดยสร้างความเสียหายหรือละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตน ไม่ทำผิดโดยไม่สร้างความเสียหายหรือละเลยให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ และไม่ละเว้นหน้าที่ความรับผิดชอบของตน
9. Moderation หรือ พอดี
หลีกเลี่ยงการกระทำสุดขั้ว เพราะผู้ที่ไม่รู้จักความพอดีจะต้องการสิ่งต่างๆ ไม่สิ้นสุด
10. Cleanliness หรือ สะอาด
ไม่อดทนต่อความสกปรกทั้งทางร่างกาย เสื้อผ้าและที่อยู่อาศัย การใส่ใจในความสะอาดส่งผลดีเรื่องบุคลิกภาพและสุขภาพ
11. Tranquillity หรือ สงบ
หยุดวิตกกังวลกับเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิม อันเป็นปัจจัยที่ควบคุมด้วยตนเองหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
12. Chastity หรือ ยับยั้งชั่งใจ
ไม่มักมากในกาม เว้นแต่เพื่อพลานามัยหรือสัมพันธ์สืบสายสกุล โดยหลีกเลี่ยงประเวณีที่เป็นไปโดยโง่เขลา อ่อนแอ ทำให้ผู้อื่นและตนเองเสื่อมเสียเกียรติ
13. Humility หรือ ถ่อมตน
รู้จักถ่อนตนเยี่ยงพระเยซูหรือโสเครติส ยามเช้าให้ถามตนว่าวันนี้จะทำความดีอะไร ยามเย็นให้ถามว่าวันนี้ได้ทำความดีอะไร
ประมาณนี้ครับ… ขอบคุณบล๊อกสาระศาสตร์ สำหรับการตีความที่ถอดต้นฉบับไว้ด้วยภาษาที่งดงาม
References…
- http://www.thirteenvirtues.com
- https://www.thesimpledollar.com
- Tell Me And I Forget, Teach Me And I May Remember, Involve Me And I Learn – Benjamin Franklin
- https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_one-hundred-dollar_bill
- https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/21479.html
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benjamin_Franklin
- https://www.gotoknow.org/posts/68855
- https://www.xn--m3c1absic4bod7x.com/2020/01/13.html