การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของคน Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึงปี 2012 ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เกิดในยุคบูมอินเตอร์เน็ต และ ถือเป็น “คนรุ่นใหม่” ในช่วงเวลานี้… กล่าวเฉพาะพฤติกรรมการเสพสื่อของคน Gen Z ซึ่งคุ้นเคยกับคอนเทนต์มากมายท่วมท้นบนอินเตอร์เน็ต และ ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาเสพคอนเทนต์เหล่านั้นด้วยเวลาเพียงสั้นๆ ทำให้พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของคนรุ่นปัจจุบันมี “ค่าเฉลี่ยระยะเวลาความสนใจของคน หรือ Human Attention Span” ลดลงไปเหลือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระยะเวลาความสนใจของปลาทองมาตั้งปี 2015…
ข้อเท็จจริงเชิงลึกเรื่องเวลาที่คนๆ หนึ่งสนใจคอนเทนต์เพียงน้อยนิดนี่เองที่นำมาซึ่ง “การออกแบบกระบวนสื่อสารใหม่” จนได้เห็น Short Form Video กลายเป็นรูปแแบบคอนเทนต์ที่คนสนใจทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเติบโตของแพลตฟอร์ม TikTok และ การปรับตัวของแพลตฟอร์มโซเชียลทุกค่ายที่เปิดฟังก์ชั่นให้ Short Form Video เหมือนกันหมด… ซึ่งกระแสคอนเทนต์แนวนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้คอนเทนต์คล้ายกันทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการศึกษาที่มีการพูดถึง Nano Learning และ Bite-Sized Learning หรือ การเรียนรู้พอดีคำ… จนกลายเป็นแนวโน้ม “การสอน” ใหม่ที่ถูกนำใช้ในระดับ ReSkill ขององค์กรเอกชนมากมาย
ในหนังสือ 3-Minute E-Learning : Rapid Learning and Applications, Amazingly Lower Cost and Faster Speed of Delivery ของ Ray Jimenez ซึ่งเป็นคำภีร์ในการประยุกต์ใช้ eLearning กับองค์กรเพื่อข้ามการฝึกอบรมสัมนาที่สิ้นเปลืองเวลา และ ทรัพยากรไปกับการเตรียมความรู้ให้คนในองค์กรที่นำไปใช้ได้จริงๆ ไม่ถึง 30% ของหลักสูตรฝึกอบรม… ในขณะที่การเตรียมองค์ความรู้เพื่อการแก้ปัญหา และ ให้ข้อมูลไว้ในรูปแบบ eLearning Content ให้พนักงานใช้แก้ปัญหา หรือ เอาไว้ให้คำตอบต่อประเด็นที่อยากถาม หรือ อยากรู้โดยตรง… ซึ่งแม้แต่ระบบการศึกษาที่ผ่านมาก็มีคนได้ใช้ความรู้ที่คร่ำเคร่งการเรียนในวัยเด็กไม่มาก… ผมไม่มีข้อมูลอ้างอิงหรอกครับ แต่ยืนยันว่าตัวเองใช้ “ความรู้ที่ค้นเอาใหม่” จากอินเตอร์เน็ตทำงานเกือบทุกวัน และ ความรู้จากที่ร่ำเรียนในระบบมาแทบไม่ได้ใช้โดยตรงเลย…
ในหนังสือ Visible Learning and the Science of How We Learn โดย John Hattie และ Gregory Yates ก็ได้พูดถึงงานวิจัยของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ที่ยืนยันวิธีการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า… ผู้เรียนต้องได้สัมผัสข้อมูลหลายครั้งด้วยวิธีที่แตกต่าง และ รวมทั้งการทบทวนเนื้อหา หรือ ได้ฝึกทักษะและเรียนรู้ซ้ำๆ เพื่อย้ายองค์ความรู้จากความจำระยะสั้น “ไปเก็บไว้ใช้” ในความจำระยะยาว
เมื่อนำพฤติกรรมการใช้คอนเทนต์ของ “คนรุ่นใหม่” มารวมกับความเชื่อเรื่องเรียนรู้ของสมองที่ต้องได้เห็นคอนเทนต์ซ้ำๆ แบบที่นักการตลาดทำโฆษณาให้กลุ่มเป้าหมายเห็นซ้ำๆ จนจดจำและเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์… โอกาสในการทำคอนเทนต์การศึกษาแบบ Short Form ตามแนวคิด Bite-Sized Learning หรือ การเรียนรู้พอดีคำ จึงแทบจะเป็นเส้นทางบังคับให้นักการศึกษาต้องหยุดคิด และ จริงจังกับ Bite-Sized Learning ที่ต้องยอมแบ่งเนื้อหาที่ต้องสอนให้เป็นส่วนเล็กๆ ให้ได้มากที่สุด… และ อย่าพลาดที่จะเชิญใครก็ตามที่ชอบอ้างว่า “ทำไม่ได้ หรือ เป็นไปไม่ได้” ไปทำงานอนุรักษ์ศิลาจารึกเพื่อให้หมดโอกาสขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
References…