ในสถานการณ์ที่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ ขึ้นกับคนๆ หนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักจะมีสาเหตุของความผิดพลาดอย่างน้อยหนึ่งประการ ถูกใช้อธิบายความบกพร่องผิดพลาดนั้น และ ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องมี “เจ้าภาพ หรือ คนที่ต้องรับผิดชอบความผิดพลาด” ปรากฏอยู่… ซึ่งเจ้าภาพความผิดพลาดส่วนใหญ่ก็มักจะถูก “ตำหนิ หรือ Blaming” จากคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดนั้นด้วยเสมอ
David D. Burns นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือ Feeling Good: The New Mood Therapy กับ The Feeling Good Handbook และ Feeling Great: The Revolutionary New Treatment for Depression and Anxiety ได้อธิบาย “การตำหนิ” ว่า… เป็นพฤติกรรมบิดเบือนทางปัญญาด้วยรูปแบบการหาข้อสรุปที่เป็นเท็จในขั้นที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจ ซึ่งก็มีทั้งการตำหนิตัวเองในข้อผิดพลาดใดๆ ที่ตนเองควบคุมเงื่อนไขความสำเร็จล้มเหลวไม่ได้ และ การตำหนิผู้อื่น หรือ กล่าวโทษคนอื่นในข้อผิดพลาดใดๆ ที่เกิดเป็นผลกระทบกับเรา
การตำหนิจึงเป็นการการกำหนดความรับผิดชอบ และ คนที่ต้องรับผิดชอบในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น… โดยเฉพาะการตำหนิผู้อื่นเพื่อ “โยนความรับผิดชอบ” ไปให้คนอื่นโดยตรง ซึ่งก็มักจะตามมาด้วยความขุ่นข้องหมองใจ ความโกรธ และแม้แต่ความเกลียดชัง
David D. Burns ระบุว่า… เหตุผลที่คนๆ หนึ่งตำหนิผู้อื่นก็เพื่อจะบิดเบือนความรับผิดชอบให้พ้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อเสียของการตำหนิผู้อื่นก็มักจะนำมาซึ่ง “ความสัมพันธ์ที่อ่อนไหวขึ้น” ในขณะที่เจ้าตัวก็มักจะละเลยและไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขความล้มเหลวผิดพลาดที่ “ตัวเองควรจะมีส่วนในการแก้ไขและป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดซ้ำ” ขึ้นอีก
นั่นแปลว่า… คนที่ตำหนิผู้อื่นจนเป็นนิสัยก็จะเป็นคน “เห็นแก่ตัว” จนไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อใคร หรือ เพื่ออะไร… ซึ่งเป็นภาระกับคนอื่นๆ ในสายสัมพันธ์อย่างมาก โดยหลายกรณีได้กลายเป็น “ความกดดัน” ให้เกิดสุขภาวะทางจิตที่เลวร้าย… โดยเฉพาะกับ “คนที่ถูกโยนผิดใส่” ให้ต้องรับผิดชอบความล้มเหลวผิดพลาดนั้น ซึ่งบางกรณีรุนแรงจนเข้าข่าย Victim Blaming หรือ เหยื่อการกล่าวโทษ” โดยผู้ที่ถูกกล่าวโทษหรือ โยนความผิดให้มักจะได้รับผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมในหลายรูปแบบ ซึ่งผลกระทบบางรูปแบบอาจรุนแรงและกระทบกระเทือนเป็นวงกว้างอย่างมาก
พฤติกรรมการเป็นคนชอบตำหนิผู้อื่น ทั้งแบบที่ตำหนิผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา และ ก้าวร้าว รวมทั้งในแบบบ่ายเบี่ยงซ่อนพลางตั้งแต่ปฏิเสธความรับผิดชอบ และ เสแสร้งกลบเกลื่อนด้วยพฤติกรรมอื่นที่ซับซ้อน… ทั้งหมดจะมาจาก “รูปแบบความคิดไร้สาระ หรือ Unhelpful Thinking Patterns” จากความกลัวและกลไกทางจิตวิทยาในการปกป้องอัตตาตน หรือ Ego… ซึ่งหยุดได้ด้วยการเลิกไร้สาระ และ เข้าใจความรับผิดชอบแบบตรงไปตรงมา และ เปลี่ยน “มุมมองต่อข้อผิดพลาด” ให้สร้างสรรค์พอที่จะเห็นหนทางการแก้ไขปัญหา เช่น ไม่ควรโทษว่ารถติด หรือ รถคันหน้าจอดให้คนข้ามทางม้าลายตั้งนานเลยมาประชุมสาย แต่ควรจะมองว่า ตนควรออกเดินทางเร็วกว่านั้นจนการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายสองนาทีสามนาที จะไม่ทำให้มาประชุมช้าจน “ความเห็นแก่ตัว” เรี่ยราดไปโดนคนอื่น
References…