Borderline Personality Disorder… ดีได้น่าใจหาย–ร้ายได้น่ากริ่งเกรง

ท่านเคยรู้จักคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้เวลาโกรธบ้างมั๊ย?… โดยเฉพาะคนน่ารักแสนดีที่มีเวลา “ของขึ้น” ทำให้วงแตกเป็นประจำด้วยสาเหตุหลากหลายที่สร้างความไม่พอใจให้ ซึ่งเป็นคนที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์จนกลายเป็นบุคลิกภาพ และ อุปนิสัยแบบที่นิยามได้ว่า… ยามดีก็ดีใจหาย ยามร้ายก็ร้ายเหลือเชื่อ

คนที่มีบุคลิกภาพและอุปนิสัยก้ำกึ่งว่าเป็นคนน่ารักใจดี หรือ เป็นคนขี้โมโหกันแน่แบบนี้… นักจิตวิทยามักจะจัดให้อยู่ในกลุ่ม BPD หรือ Borderline Personality Disorder หรือ ความบกพร่องด้านบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตที่ส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกที่ผู้ป่วยกลุ่ม BPD มีต่อตนเองและผู้อื่น คนกลุ่มนี้จะมีอารมณ์รุนแรง… ขึ้นๆ ลงๆ หุนหันพลันแล่น มีความคิดและนิสัยไม่คงที่… ส่งผลให้มีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมักพบได้ในวัยผู้ใหญ่และอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นในวัยชรา

ข้อมูลจากเวบไซต์พบแพทย์ชี้ว่า… ผู้ป่วย BPD จะมีความรู้สึกต่อตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ผิดปกติ จึงอาจส่งผลให้แสดงพฤติกรรมและปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นในลักษณะที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • กลัวการถูกทอดทิ้งอย่างมาก ซึ่งบางครั้งก็อาจจินตนาการไปเองว่าคนรักหรือคนใกล้ชิดมีท่าทีเปลี่ยนไป และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตนเองถูกทอดทิ้งหรือถูกปฏิเสธ หรือเป็นฝ่ายตัดความสัมพันธ์ก่อนเพราะคิดไปว่าตนกำลังจะถูกทอดทิ้ง
  • มักสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มีความรู้สึกแรงกล้า แต่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงได้ เช่น จากที่คิดว่าคนรักเป็นคนที่ดีพร้อม ในเวลาต่อมาอาจเชื่อว่าคนรักกลับไม่ใส่ใจตนเท่าที่ควรหรือไม่ดีพอ จากที่รักมากอาจกลายเป็นไม่ชอบหรือโกรธเคือง เป็นต้น
  • เปลี่ยนแปลงตัวตนและนิสัย เปลี่ยนเป้าหมายชีวิตหรือสิ่งที่ตนให้คุณค่าอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจคิดว่าตนเป็นคนที่แย่มาก รู้สึกเหมือนว่าไม่เคยมีตัวตนอยู่ เป็นคนนอก หรือรู้สึกว่างเปล่า
  • แสดงนิสัยและปฏิบัติตัวกับผู้คนรอบข้างแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าตนมีความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ต่อบุคคลนั้นอย่างไร
  • เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือหวาดระแวงเป็นบางช่วง โดยไม่สนใจความเป็นจริง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีไปจน 2-3 ชั่วโมง
  • หุนหันพลันแล่นหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถประมาท เล่นการพนัน มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ใช้สารเสพติด มีพฤติกรรมการกินมากผิดปกติ หรืออาจตัดสินใจผิดพลาดโดยไม่ทันคิดให้รอบคอบ เป็นต้น
  • อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหรือ 2-3 วัน โดยอาจเปลี่ยนจากที่มีความสุขมากเป็นหงุดหงิด วิตกกังวล หวาดระแวง หรือละอายใจ
  • มีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงจนแสดงพฤติกรรมหรือรับมือความโกรธได้อย่างไม่เหมาะสม เช่น มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พูดจาถากถาง ประชดประชัน หยาบคาย หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือ เป็นต้น
  • ขู่ฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายร่างกายตนเอง โดยมักเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตนกำลังถูกทอดทิ้งหรือถูกปฏิเสธ

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม… มีงานวิจัยระบุว่าภาวะบุคลิกภาพผิดปกติอาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยภาวะนี้หรือมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่นที่คล้ายคลึงกันจึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • ความผิดปกติของสมอง… นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยบุคลิกภาพผิดปกตินั้นมีสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความวู่วาม และการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อีกทั้งคาดว่าอาจเกิดจากสารเคมีในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์อย่างเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินทำงานผิดปกติด้วย
  • สภาพแวดล้อมและความเครียดในวัยเด็ก… อดีตที่เจ็บปวดในวัยเด็กอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้งละเลยในวัยเด็ก พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดเหล้าหรือสารเสพติด มีปัญหาครอบครัว สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น

ผู้ป่วย BPD มักมาพบแพทย์เมื่ออาการผิดปกติรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือ เมื่อรู้สึกว่าตนไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้… ในเบื้องต้น จิตแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ประวัติสุขภาพ และ ตรวจร่างกาย จากนั้นจึงประเมินสุขภาพจิตด้วยการพูดคุย ตอบแบบสอบถาม หรือทำแบบประเมิน โดยมักใช้คู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า DSM-5 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติหรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลหรือไม่…

ภาวะ BPD มักจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และ กระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง… เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอารมณ์ และ พฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่น อารมณ์แปรปรวน และ ควบคุมจัดการกับอารมณ์ของตนเองไม่ได้ ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ต้องเปลี่ยนงาน หรือ ออกจากงานบ่อยครั้ง เรียนไม่จบ มีปัญหาชีวิตคู่ หย่าร้าง หรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการทำผิดกฎหมาย… นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเอง พยายามฆ่าตัวตาย ใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ ทำร้ายร่างกายคนอื่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน รวมทั้งโอกาสเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นข้าวของเสียหาย และ บาดเจ็บโดยไม่มีเหตุอันควรจะเกิด

นอกจากนี้… ผู้ป่วยยังเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคสมาธิสั้น โรคความผิดปกติทางการกิน ภาวะป่วยทางจิตจากการเผชิญเหตุการณ์รุนแรง และ โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดอื่นๆ อีกมาก

ข่าวร้ายก็คือ… ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง หรือ Borderline Personality Disorder เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างแน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น… ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาพจิตที่ดี หรือ เลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนใจเย็น ไม่วู่วาม และ ไม่ใช้อารมณ์… และถ้าเจอใครที่ “ของขึ้น” แบบควบคุมอารมณ์ได้แย่จนทำลายอนาคตตนเอง และ ทำลายความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว และ ทำให้อะไรๆ รอบตัวสุ่มเสี่ยงแตกพังและเสียหายบ่อยๆ แล้วล่ะก็… หาหมอ–ขอยาดีที่สุด!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts