เบื่อ หรือ เบื่อหน่าย หรือ น่าเบื่อ… ถือเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ใช้อธิบายความรู้สึกที่มีต่อสภาพและปัจจัยแวดล้อม ซึ่งหลายคน “รู้สึกเบื่อ” กับสภาพของตัวเองเป็นหลัก โดยเฉพาะสภาพที่ตนเองติดอยู่ใน “วงจรความน่าเบื่อที่ทำลายสุนทรียภาพและพลังใจ” ทั้งที่พยายามหาทางออกจากสภาพนั้น และ ที่ไร้ทางออกจากสภาพนั้น
การถูกความเบื่อหน่ายคุกคามความรู้สึก ถึงแม้โดยรวมจะไม่กระทบชีวิตประจำวันถึงขั้นทำลายอะไร รวมทั้งทำลายผลผลิตส่วนตัวซึ่งได้จากการทำหน้าที่ไปตามวัฏจักรที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยต่อความน่าเบื่อ… แต่ความน่าเบื่อก็ทำลาย “ผลผลิตที่ดีที่สุด” จากศักยภาพสูงสุดในตัว ให้เหลือเพียงผลงานเท่าที่ความเบื่อหน่ายในตัวจะเปิดทางให้เป็นไปได้
Erich Seligmann Fromm นักจิตวิทยาชาวเยอรมันเคยอธิบายไว้ว่า… การหาความสนุกสนานเป็นหนทางง่ายที่สุดในการสนองความต้องการที่อยากจะหลุดพ้นความเบื่อหน่ายที่คุกคาม และ การกลัวความเบื่อหน่ายมีนัยยะสำคัญในความกลัวของมนุษย์ในยุคสังคมแห่งความทันสมัย หรือ Modernism… ในโลกของความสนุกสนานเฮฮา เขากลัวความเบื่อหน่าย เขาจึงดีใจเมื่อแต่ละวันผ่านไปด้วยดี เขาคร่าเวลากันทุกชั่วโมงโดยไม่รู้เลยว่าความเบื่อนั้นซุ่มซ่อนอยู่ในตัวเขาตลอดเวลา
ในหนังสือ Experience Without Qualities: Boredom and Modernity ของ Elizabeth S. Goodstein… ได้มองความเบื่อหน่ายเป็นประสบการณ์ที่เด่นชัดในความรู้สึกและทัศนคติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาพและสภาวะอันเป็นประสบการณ์ตรง… แต่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด ความเชื่อและทัศนคติส่วนตัวในทางตรงกันข้ามกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง
ประเด็นก็คือ… ความเบื่อหน่ายเป็นสัญญาณของความกังวลรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากทัศนคติขัดแย้งกับสภาพ หรือ ประสบการณ์ที่เป็นจริง โดยจะบ่อนทำลายจิตวิทยาส่วนตัวให้เห็นเป็น “ความไม่ปกติ” ทั้งที่รับรู้ด้วยตัวเอง และหรือ ปรากฏให้คนอื่นเห็นร่องรอย “ความไม่สุขสบายทางใจ และ ทัศนคติ” อย่างชัดเจน
Dr. John Eastwood นักจิตวิทยาจาก New York University และ BoredomLab.org แนะนำเครื่องมือวัดความเบื่อชื่อ BPS หรือ Boredom Proneness Scale ซึ่งถูกคิดขึ้นโดยนักจิตวิทยาสองคนคือ Richard Farmer และ Norman D. Sundberg ในปี 1986… ซึ่งเครื่องมือนี้จะเป็นมาตรวัดที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเองหรือใครสักคน “เบื่อง่าย” แค่ไหน จากการตอบแบบสอบถามแบบให้น้ำหนักคะแนน หรือ Rating scale ตั้งแต่ 1 ถึง 7 คะแนน… ซึ่ง Dr. John Eastwood อธิบายว่า คนที่ได้คะแนน BPS สูง มักจะมีช่วงความสนใจ หรือ สมาธิ หรือ Attention Spans ที่สั้น… ภายใต้นิยามความสนใจ หรือ Attention ไว้ว่า… คือความสามารถในการบริหารการมีส่วนร่วมต่อโลกภายนอก หรือ Engagement With The World.
นั่นแปลว่า… ความเบื่อหน่ายส่วนใหญ่เกิดจากการแยกส่วนของโลกส่วนตัว กับ โลกภายนอกที่แวดล้อมในขั้นสร้างประสบการณ์ให้รู้สึกไม่สุขสบายทางใจและทัศนคติ…
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความไม่สุขสบายทางใจและทัศนคติในทางเทคนิคจะมีระดับของความเบื่อหน่าย ผ่านคำเรียกหลากหลาย ซึ่งนอกจากคำว่า เบื่อหน่าย หรือ Bored แล้ว… ยังมีคำว่าหงุดหงิด–งุ่นง่าน หรือ Irritated ซึ่งจะเป็นอาการเบื่อหน่ายปนขุ่นเคืองคนอื่นหรือสภาพภายนอก อันเป็นปัจจัยภายนอกทั้งหมด… นอกจากนั้นยังมีคำว่ารำคาญ หรือ Annoyed ซึ่งมักจะถูกคนอื่นหรือสภาพภายนอกรบกวนสมาธิ หรือ ทำลายบรรยากาศที่พึงพอใจรอบตัวไป
ข่าวดีก็คือ… ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ หรือ กับทุกคนก็ว่าได้ โดยความเบื่อหน่ายสามารถแก้ไข หรือ บรรเทาได้ด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือ บรรยากาศรอบตัว แบบที่คนส่วนใหญ่ต้องจัดตารางไปเที่ยว ไปเจอคนรู้ใจ ไปเปลี่ยนบรรยากาศ ไปเมา หรือ ไปหาอะไรตื่นเต้นสารพัดทำนั่นเอง… แต่ถ้าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือ บรรยากาศรอบตัวซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกทำได้อยาก บางช่วงบางคราวก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากภายใน ทั้งความคิดและวัตรปฏิบัติต่อตนเอง… ไม่ง่ายหรอกครับเพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมีการ “อดทนกับความรู้สึกเบื่อหน่าย” ให้ได้จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรตามที่ต้องการได้… ถ้าโชคดี!
References…