Burnout Syndrome… หมดไฟจนไม่เหลือใจจะทำงาน #SelfInsight

หนังสือของ Dr.Lyle H. Miller กับ Dr.Alma Dell Smith และ Larry Rothstein ชื่อ THE STRESS SOLUTION: An action plan to manage the stress in your life จาก Biobehavioral Institute Of Boston ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าถึงความเครียดของคนวัยทำงาน ที่หลายคนต้องทนทุกข์ท่ามกลางความเครียดจากแรงกดดันส่วนตัว สังคม งาน เงิน และ ครอบครัว ซึ่งทำให้หลายคนเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยหนังสือได้บอกเล่าถึงความลึกลับของความเครียด และ ชี้ให้เห็นแนวทางกับวิธีลดผลกระทบที่ความเครียดจะนำไปสู่หายนะในชีวิต… ซึ่งก็ไม่ได้รับประกันว่าจะกำจัดความเครียดออกจากชีวิตได้ทั้งหมด แต่ก็กำจัดได้มากพอที่จะทำให้ “รู้เท่าทัน” ความเครียดจนไม่มาทำลาย “ความปกติสุข” ที่พึงมีไปหมด

เนื้อหาสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกก็คือการพูดถึง Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงานในขั้นที่สามารถทำลายศักยภาพของตัวเอง และ ความสำเร็จขององค์กรที่ยังกล้าจ้างงานจ่ายเงินเดือนให้คนที่ไม่เหลือใจให้หน้าที่และความรับผิดชอบ…

สภาวะของ Burnout หรือ Burnout Syndrome จะเป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์อันเป็นผลกระทบของความเครียดจากทำงานที่ไม่สมดุลย์ ทั้งงานที่หนักเกินไป และ มากเกินไป รวมทั้งงานที่ยากเกินไป และ งานที่นำความล้มเหลวมาให้ ซึ่งจะทำให้คนๆ นั้นมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้จนอารมณ์อยากมีส่วนร่วมกับงานลดลงมาก และ ไม่สามารถตอบสนองเป็นความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังได้… เพราะความพร้อมในใจได้ปฏิเสธงานเหล่านั้นไปแล้วด้วยความกังวลบางอย่าง รวมทั้งความกลัว และเมื่อนานวันเข้า คนๆ นั้นจะ “สูญเสียแรงจูงใจในการทำงาน”  กระทั่งรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดี เป็นความรู้สึกติดลบและไม่สามารถทำอะไรได้ รวมทั้งไม่กล้าทำอะไรจนหน้าที่การงานพัง… ซึ่งชีวิตตัวเองก็พังไปด้วย!

ข้อมูลจาก WHO หรือ องค์การอนามัยโลกได้อธิบายลักษณะอาการภาวะหมดไฟ หรือ Burnout จากการทำงานซึ่งเป็นกลุ่มอาการป่วยจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานที่ยังไม่ได้รับการจัดการว่า… ลักษณะอาการจะมีอยู่ 3 มิติให้วินิจฉัยคือ 

  1. ความรู้สึกสูญเสียพลัง หรือ รู้สึกอ่อนล้าเหนื่อยหน่าย
  2. มองงานและความรับผิดชอบเป็นลบ และ ถอดใจ หรือแม้แต่รู้สึกดูหมิ่นเหยียดหยามงาน หรือ ผลงานของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน
  3. ศักยภาพ และ ประสิทธิภาพถดถอยจนเห็นผลงานย่ำแย่กว่าเดิม

ส่วนหนังสือ THE STRESS SOLUTION ของ Dr.Lyle H. Miller และคณะได้แบ่งสภาวะการทำงานออกเป็น 5 ระยะเพื่ออธิบายแนวโน้มการเกิด Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งคนวัยทำงานส่วนใหญ่มีโอกาสเจอทุกระยะอาการกันทุกคน ได้แก่

  1. The Honeymoon หรือ ระยะฮันนีมูน… เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และ องค์กร
  2. The Awakening หรือ ระยะรู้ตัว… เป็นช่วงที่เริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และ ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจและเหนื่อยหน่าย
  3. Brownout หรือ ระยะหมดไฟ… เป็นช่วงรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังซึ่งอารมณ์จะหงุดหงิดง่ายอย่างชัดเจน รวมทั้งพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนี หรือ ชดเชยความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง
  4. Full Scale of Burnout หรือ ระยะหมดไฟจนหมดใจ… อันเป็นผลจากระยะหมดไฟไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จนเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไปหมด ซึ่งจะมีความเครียดและความกังวลซับซ้อนอยู่ในใจและบุคลิกภาพ
  5. The Phoenix Phenomenon หรือ ระยะฟื้นตัว… หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และ ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็มักจะสามารถกลับมาปรับตนเองและความหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงได้มากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และ เป้าหมายในการทำงานด้วย

ประเด็นก็คือ… คนวัยทำงานส่วนใหญ่มักจะ Brownout ให้เห็นความรู้สึกเหนื่อยล้า และ หงุดหงิดกับงานการของตัวเอง ซึ่งอาจจะถึงขั้นบ่นเบื่อหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับงาน และ เพื่อนร่วมงานจนรู้สึก “ไม่สนุกกับงาน” เหมือนเดิม…

ข่าวดีก็คือ ถ้าคนทำงานรู้ตัวว่า Brownout หรือ หมดไฟ แล้วหาทางเยียวยา หรือ ออกจากอาการ Burnout Syndrome ระยะที่ 3 อย่างถูกวิธี โดยไม่ซ้ำเติมภาวะหมดไฟให้เผาไหม้อนาคตตัวเองเสียก่อน… Burnout Syndrome ก็มีโอกาสข้ามระยะ Full Scale of Burnout ไปเป็นระยะฟื้นตัว หรือ The Phoenix Phenomenon เพื่อกลับไปสนุกกับงานได้เช่นกัน… ท่านที่เซ็งงานถี่จนเหนื่อยล้าหงุดหงิดจึงควรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานที่ช่วยท่านได้ หรือไม่ก็ต้อง “ปรับเปลี่ยนตัวเอง” เพื่อให้ปัจจัยที่สร้างความหงุดหงิดให้ มีผลต่ออารมณ์และความคิดด้านลบน้อยลง โดยพยายามกับการเว้นวรรคหรือพักผ่อน รวมทั้ง Reskill และหรือ Upskill ให้ดีพอที่จะจัดการงานยากๆ ที่เข้ามาใหม่ได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าหนักหนามืดมน หรือ ได้สร้างความเสียหายให้บางอย่างไปบ้างแล้ว… ก็อาจจะต้องใช้ที่ปรึกษามืออาชีพที่ตัวเองเชื่อว่าปัดเป่าความเครียดให้ได้ และ อย่าลืมรักตัวเอง!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *