แรงกายกับแรงใจจากคนๆ หนึ่งโดยทั่วไปจะสามารถสร้างสรรทุกสิ่งทุกอย่าง ที่กายใจนั้น “ยินดี” ทุ่มเทหลอมรวมแรงกายและแรงใจเข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่และหาได้ สานสร้างความหวังและวิสัยทัศน์ หรือแม้แต่จินตนาการที่แรงกายกับแรงใจหมกมุ่นและมุ่งมั่น จนเห็นเป็นผลงานและชีวิตที่เติบโตก้าวไปข้างหน้า
ประเด็นก็คือ… แรงจูงใจ หรือ แรงใจไม่ได้มีพลังมากมายสม่ำเสมอให้ใครๆ เอาไว้ใช้ผลักดันเป้าหมายได้ตลอดเวลา… เพราะแรงใจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติ ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก… ไม่ว่าจะมาจากจิตใจตัวเองเจ็บป่วยไม่ปกติ หรือ จิตใจของคนรอบข้างเจ็บป่วยผิดปกติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและบริบทภายนอกที่ควบคุมได้ยากมากมายที่สร้างผลกระทบ… สุดท้ายย่อมกระทบถึงแรงใจอันเป็นพลังหลักที่อุ้มชูหลายอย่างในตัว ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ชีวิตตัวเอง” ให้กลายเป็นอะไร และ เป็นอย่างไรก็ได้มากมาย
สิ่งที่สำคัญก็คือ… แรงใจที่ไม่ได้ผ่านการฝึก หรือ มีประสบการณ์จน “เข้มแข็งแกร่งนิ่ง” มาก่อน ก็มักจะอ่อนไหวไปตามอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติที่ผ่านเข้ามาทางหู จมูก ลิ้น กาย และ ใจตลอดเวลา… ซึ่งบางสาเหตุแห่งความอ่อนไหวอาจทำให้แรงใจตกต่ำแห้งเหือด… ถึงขั้นกระทบแรงกายหมดสิ้นไปด้วย เห็นเป็นชีวิตเหน็ดเหนื่อยไร้พลังจนไม่อยากขยับไปทำอะไรอื่นอีก และ หลายชีวิตถูกทำลายโอกาสกับอนาคตมากมาย เพราะหมดสิ้นแรงใจจนไม่เหลือแรงกายให้โอกาสและอนาคตอีกเลย
ข่าวดีคือ… แรงใจเติมใหม่ได้ และ แรงกายก็ฟื้นฟูได้เช่นกัน!
ช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา… งานสัมมนาในหัวข้อ Burn Out In The City ซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดประเด็นพูดคุยในหัวข้อ Burnout Syndrome หรือ Occupational Phenomenon หรือ ภาวะหมดไฟจากการทำงาน โดยอ้างอิงข้อมูลที่นักวิจัยจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบคนวัยทำงานในกรุงเทพมหานคร 12% จากกลุ่มตัวอย่าง 1,280 คน อยู่ในภาวะ Burnout Syndrome และ อีก 57% อยู่ในภาวะมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome อีกด้วย
ความจริงงานสัมมนาในวันนั้นเป็นการนำข้อมูลจากการวิจัยเชิงธุรกิจ เพื่อวิพากษ์และค้นหาโอกาสทางการตลาดครับ… ข้อมูลและรายละเอียดจึงมุ่งสังเคราะห์โมเดลทางการตลาด เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในภาวะ Burnout Syndrome และกลุ่มเสี่ยง… ซึ่งผมขอข้ามรายละเอียดไปทั้งหมด
เพราะสิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการหมดแรงใจที่พบแม้ไม่ใช่จากสาเหตุการทำงาน ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงานทั้งหมดมักจะเป็นเพราะบริบทในการทำงาน อันเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมยาก และ สร้างความเครียดต่อเนื่อง… ทำลายแรงจูงใจจากคนๆ นั้นไปจนไม่เหลือ ในขณะที่คนส่วนหนึ่งก็อยู่ในภาวะ เหนื่อยหน่ายหมดไฟจากสาเหตุอื่นๆ โดยไม่เกี่ยวกับงานก็มีไม่น้อย… ซึ่งสิ่งที่ทุกคนเจอเหมือนๆ กันก็คือ แรงจูงใจถูกทำลายไปมากจนไม่เหลือพลังพอจะขับเคลื่อนแรงกาย
การหาทางชดเชย หรือ คืนแรงจูงใจให้คนที่ “ถูกทำลายแรงจูงใจไปแล้ว” จึงเป็นหนทางบังคับ… ที่คนหมดไฟ หรือ คนหมดแรงจูงใจจะต้อง “ผ่านไปแก้ไข” ก่อนจะกลับไปสู่เส้นทางตามหาหรือไล่ล่าโอกาสและอนาคตให้ตัวเอง
คำถามคือ… แรงจูงใจที่ถูกทำลายไปแล้วสามารถแก้ไขซ่อมคืนได้หรือไม่?… โดยส่วนตัวเชื่อว่าสามารถแก้ไขซ่อมคืนได้ทุกเรื่องที่เป็นสาเหตุ และ เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ… แต่ความยากมักจะอยู่ที่ “เจ้าตัวมีแรงจูงใจมากพอ” ถึงขั้นอยากจะแก้ไขซ่อมคืน “แรงจูงใจเดิม” ที่สูญหายนั้นแค่ไหน หรือ ชีวิตต้องการ “แรงจูงใจใหม่” มาเปลี่ยนแปลงชีวิตมากกว่า
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ! คนเราสามารถท้อแท้สิ้นหวังจนถึงขั้นหมดแรงใจเมื่อไหร่เพราะอะไรก็ได้… แต่งานวิจัย และ ข้อมูลทางจิตวิทยามากมายชี้ชัดว่า กว่าคนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนจากกระตือรือร้นไปเป็นห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรงจนเรียกว่าหมดไฟ หรือ หมดแรงใจนั้น… ทั้งหมดจะมีระยะเปลี่ยนผ่านของอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติต่อเนื่องยาวนานหลายขั้นตอนเหมือนกันหมด… ซึ่งทฤษฎีของนักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Herbert J. Freudenberger ก็ได้อธิบายระยะต่างๆ ทางจิตวิทยาก่อนจะถึงภาวะหมดไฟไว้มากถึง 12 ระยะทีเดียว…
ดังนั้น… ไม่ว่าอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติ จะกำลังเผชิญภาวะเคร่งเครียด หรือ อ่อนล้าอยู่ในระยะไหนก็ตาม… ทุกคนสามารถ “ปรับเปลี่ยน หรือ ปรับตัว” เพื่อกลับไปที่สมดุลย์อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติของระยะก่อนหน้านั้นได้เสมอ ซึ่งถ้าสามารถ “ปรับเปลี่ยน หรือ ปรับตัว” จนกลับไประยะก่อนหน้านั้นได้เรื่อยๆ ไม่นานก็สามารถกลับไปที่จุดเริ่มต้นในระยะ “ก่อน Compulsion to Prove Oneself หรือ ระยะบังคับตัวเองให้พิสูจน์ความท้าทายบางอย่าง” ตามทฤษฎีของ Herbert J. Freudenberger ที่ยังมีพลังกายใจเพียงพอที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างยืดหยุ่นอยู่สูง
ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร… การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ สมดุลย์ของอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ ทัศนคติ… ก็ยังต้องปรับแต่งแรงจูงใจหรืออีกคำเรียกหนึ่งคือ “เปลี่ยนแปลง” ให้เหมาะสมต่อภาวะนั้นๆ อยู่ดี… นั่นแปลว่า หลายคนที่ปล่อยตัวเองไปจน “สุดทางเลื่อนชีวิต” ขั้นหมดไฟ หรือ หมดแรงใจ… ส่วนใหญ่จึงมักจะเห็นคนๆ นั้นขับเคลื่อนชีวิตตนเองด้วย “แรงจูงใจเดียว” โดยขาดการปรับแต่งดูแลอย่างเหมาะสมต่อบริบท และ สถานการณ์มากกว่า… ไม่ต่างจากการใช้ทางเลื่อนชุดเดียวซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ย่อมสิ้นสุดลงอยู่ดี
ทางแก้เรื่องแรงใจหดหายจนเห็นเป็นเหนื่อยหน่ายท้อแท้ จึงต้องการ “แรงจูงใจใหม่ หรือ แรงจูงใจที่ปรับแต่งใหม่” แบบที่สามารถฉุดชีวิตออกจากทางเลื่อนที่สิ้นสุดลง หรือ ทางเลื่อนที่ไฟดับไฟตกนั้นเสีย… โดยเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ข้างหน้ายังมีทางเลื่อนอื่นๆ หรือ โอกาสอื่นๆ รอตัวเองอยู่เสมอ… แต่ต้องออกแรงหน่อยเพื่อ “ไปต่อ” เท่านั้นเอง
References…
- https://www.who.int/news/item/28-05-2019-burn-out-an-occupational-phenomenon-international-classification-of-diseases
- https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2270
- https://www.salika.co/2020/01/16/howto-fight-burnout-syndrome/
- https://th-th.facebook.com/CMMUMAHIDOL/posts/10157448999336849/
- Featured Image: Photo by Nataliya Vaitkevich from Pexels