Business Idea

แนวทางการเตรียมแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อ… ฉบับย่อ #Saturday SME

แผนธุรกิจที่เขียนได้ครบและเล่าได้เหมือนเดิมทุกครั้งที่เล่า ถือเป็นทักษะสำคัญของผู้ประกอบการที่ควรเรียนรู้และฝึกฝน แม้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการมีหรือไม่มีแผนธุรกิจ… แต่การทำแผนธุรกิจที่มีข้อมูลครบ มักจะแสดง “มิติของโอกาสและแผนการดำเนินงานให้เห็นรายละเอียด” กว่าที่เป็นอยู่เสมอ ยิ่งหากต้องการสินเชื่อหรือเงินลงทุนจากหุ้นส่วนเพื่อเพิ่มโอกาสขั้นถัดไป… การทำและเขียนแผนธุรกิจจะยิ่งสำคัญ

ตัวอย่างและแนวทางการเขียนแผนธุรกิจมีมากมาย และมีระเบียบวิธีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นสากล โดยเฉพาะเมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับแผนธุรกิจประกอบการพิจารณาเสมอ… มาดูกันคร่าวๆ ว่ารูปแบบการเขียนแผนธุรกิจมีอะไรบ้าง

1. บทสรุปผู้บริหาร

ส่วนนี้จะเป็นบทสรุปของข้อมูลรายละเอียดด้านในทั้งหมด ที่สกัดเอาข้อมูลเพื่อโน้มน้าวผู้อ่าน ให้เห็นภาพการเติบโตก้าวหน้าของธุรกิจและรายได้ รวมทั้งโอกาสต่างๆ เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของทุนก้อนใหม่ และความเป็นไปได้ที่จะสร้างผลกำไรและโอกาสการคืนทุน… และเหตุผลที่สถาบันการเงินควรอนุมัติสินเชื่อให้

2. แนะนำกิจการ

ส่วนนี้บอกข้อมูลโดยรวมของบริษัท อธิบายให้เห็นภาพรวมของกิจการ ทั้งวิสัยทัศน์และพันธกิจ หรือ Vision/Mission รูปแบบการจดทะเบียนบริษัท แนวคิดและวัตถุประสงค์ของการเริ่มต้นธุรกิจ แนวคิดในการผลิตสินค้าหรือบริการที่เสนอให้กลุ่มลูกค้า ความเชี่ยวชาญ ภูมิหลังและคุณค่า

3. บทวิเคราะห์

ส่วนนี้จะเป็นสถานะปัจจุบันของกิจการ และควรใช้เครื่องมือวิเคราะห์อย่างเช่น SWOT Analysis ในการนำเสนอข้อมูล ซึ่งสำคัญมากสำหรับการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบัน หรือจากนักลงทุนแบบอื่นๆ ก็ตาม

4. เป้าหมายในการดำเนินกิจการ 

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายเป้าหมายปลายทางภายใต้กรอบเวลาหนึ่ง เช่น เป้าหมาย 3 เดือน… 6 เดือน… 18 เดือน… 36 เดือน… ภาพรวมของธุรกิจจะเป็นยังไง… โดยทั่วไปจะมีวิธีนำเสนอข้อมูลในอนาคตหลายแบบ เช่น SMART Goal… ซึ่งเป็นไกด์ไลน์ในการตั้งเป้าหมายธุรกิจให้ชัดเจน สมเหตุสมผล และมีระยะเวลาการดำเนินงานที่ตายตัว โดยใช้ตัวแปร 5 ตัวในการอธิบายได้แก่

4.1 S – Specific ตั้งเป้าหมายชัดเจน
4.2 M – Measurable เป้าหมายต้องวัดผลได้ 
4.3 A – Achievable ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้
4.4 R – Relevant เป้าหมายต้องเกี่ยวข้องกับหลักการหรือทิศทางของธุรกิจ
4.5 T – Time bound เป้าหมายต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและแน่นอน

5. แผนการตลาด

ส่วนนี้จะบอกวิธีการติดต่อทำธุรกิจกับลูกค้า ผู้ใช้บริการหรือคู่สัญญาทางการค้า ว่าจะแปลงความสัมพันธ์เป็นยอดขายได้อย่างไร… การทำแผนการตลาดเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงที่มีลักษณะเฉพาะของธุรกิจ แต่ทั้งหมดของการเขียนแผนการตลาด ยังต้องอ้างอิงสินค้าหรือบริการ รวมทั้งข้อเท็จจริงเชิงนิเวศน์ทางธุรกิจ ที่จำเป็นต้อง “ตอบคำถามให้ชัดเจน” ว่าสามารถเข้าถึงตลาดเป้าหมายอย่างไร

6. แผนการดำเนินงาน

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายวิธีการและองค์ประกอบที่ต้องปฏิบัติ หรือดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจ บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย… โดยชี้แจงวิธีการสะสางธุระต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย

7. แผนการเงิน

ข้อมูลส่วนนี้เป็นเรื่องสมมติฐานทางการเงินทั้งรายรับและรายจ่าย เช่น ต้นทุนการผลิต ยอดขายสินค้า ค่าส่งเสริมการขายสินค้า ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา สินค้าคงคลัง ลูกหนี้การค้าและเจ้าหนี้การค้า… รวมทั้งการประมาณการทางการเงิน ด้วยการแสดงการวิเคราะห์งบการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

8. แผนฉุกเฉิน

ส่วนนี้จะเป็น Scenario หรือฉากทัศน์ว่าด้วยเหตุไม่คาดฝันที่กระทบการดำเนินงาน และแนวทางการจัดการผลกระทบในแต่ละกรณี

ผมสรุปให้เห็นภาพรวมสั้นๆ ว่า… แผนธุรกิจจะมีส่วนประกอบประมาณนี้ในการเตรียมข้อมูลใส่แผน เพื่อเสนอขอสินเชื่อหรือเงินลงทุน… ซึ่งรายละเอียดการเขียนแผนธุรกิจจริงๆ ไม่ได้สั้นกระชับแบบนี้อย่างแน่นอน และแผนธุรกิจที่ดี มักจะมีข้อมูลที่ลึกและแม่นยำ ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงิน มักจะมีข้อมูลแหล่งอื่นใช้เทียบเคียง และหลายกรณีสถาบันการเงินมีตัวเลขจากฝ่ายวิจัยทางธุรกิจ ที่คอย Update ข้อมูลใช้อำนวยสินเชื่อและขับเคลื่อนนโยบายของสถาบันการเงินอยู่แล้ว

ประเด็นก็คือ… การทำแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อสถาบันการเงิน จึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐาน “จุดแข็ง” ของธุรกิจและต้องไม่คาดเดาตัวเลขหรือข้อมูลโดยไม่มีแหล่งอ้างอิง… โดยส่วนตัวเคยเห็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน ติดต่อขอปล่อยกู้ให้ธุรกิจ SME ที่เดินบัญชีกับธนาคารอย่างมีวินัยมามาก ซึ่งหลายกรณีธนาคารจะทำแผนธุรกิจ โดยคิดค่าใช้จ่ายเหมาๆ รวมๆ หลายอย่าง และหักเงินจากยอดอนุมัติก็มีบ่อย

ข้อเท็จจริงจึงมีอยู่ว่า… แม้แผนธุรกิจจะสำคัญ แต่ความน่าเชื่อถือของธุรกิจที่หมายถึงองค์ประกอบทั้งหมดที่เป็นธุรกิจที่สัมผัสได้ ทั้งในแผนและหลักฐานยืนยันตัวจริง เช่น ยอดขาย รายได้และแนวโน้ม ที่สะท้อนทิศทางของธุรกิจ… ก็ยังสำคัญยิ่งยวดไม่เปลี่ยนแปลง!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts