ไหนๆ ก็ลากยาวประเด็นสิ่งแวดล้อมมาถึงวันศุกร์ที่ 27 กันยายนเข้านี่แล้ว… สัปดาห์นี้ขออีกวันกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและปัญหาภูมิอากาศโลกน๊ะครับ… ถ้าเป็นไปตามตัวเลขการลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม #Fridaysforfuture และ #Climatestrike ที่มีเวบไซด์ https://fridaysforfuture.org เป็นศูนย์กลางภายใต้การนำของสาวน้อย Greta Thunberg จากสวีเดนในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ดึงเด็กๆ จากห้องเรียนทั่วโลก ออกมาร่วมกันเรียกร้องหาอนาคต น่าจะมีเด็กๆ จาก 170 กว่าประเทศที่ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มและเข้าร่วมการเคลื่อนไหว
ส่วน Line OA @properea ได้ข้อความจากเพื่อนสนิทท่านหนึ่ง ให้ช่วยทำข้อมูลเรื่องคาร์บอนเครดิตลงไว้ให้หน่อย… ผมตอบไปว่าใจตรงกัน
ผมใช้ข้อมูลอ้างอิงจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นหลักก็แล้วกันน๊ะครับ เผื่อท่านที่ต้องการค้นคว้าต่อด้วยตัวเองจะได้เริ่มจากเงื่อนที่ใกล้ๆ ตัวเข้ามาหน่อย
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM (Clean Development Mechanism) ซึ่งจะมีผู้ประเมินและออกใบรับรอง หรือ CERs ที่ระบุเครดิตในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง CERs ที่ว่านี้สามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตด้วย
ย้อนกลับไปช่วง ธันวาคม 2540 หลังมีการเจรจาอันยาวนานและวุ่นวายสับสนเรื่องโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2533… ก็ถึงคราวบรรลุข้อตกลงที่จับต้องได้ภายใต้ข้อตกลงนานาชาติชื่อ Kyoto Protocol หรือพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นเหมือนสนธิสัญญาเพิ่มเติมใน “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แห่งองค์การสหประชาชาติและให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548
สาระสำคัญของพิธีสารโตเกียวมุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้วให้เหลือไม่เกิน 5%… ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่ว่า ทั้งหมดเป็นก๊าซถูกแปลง (Transfer) ให้อยู่บนพื้นฐานของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดตั้งแต่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซโพเพน ฯลฯ
ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งวิธีการก็จะได้ตัวเลขมาจากการประเมินกิจกรรมทางการเกษตรและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสีย ขยะ และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ฯลฯ
หลักการง่ายๆ ก็คือ ประเทศไหนหรืออุตสาหกรรมไหน หรือภาคส่วนไหนที่ลดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ ก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่า 5%… แปลง่ายๆ ชัดๆ ได้ว่า ใครอยากได้โควต้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม ก็ไปซื้อจากคนที่เขามีโควต้าเหลือนั่นแหละครับ
หลักการฟังดูง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากมากที่จัดการ จนถึงวันนี้มีหลายประเทศเข้าร่วมภาคีเรื่องคาร์บอนเครดิตและภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ในขณะที่หลายประเทศแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่เข้าร่วมหรือมีท่าทีจะเข้าร่วมจนปัจจุบัน

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะมีตลาดกลางอยู่หลายแห่งทั่วโลก มีการออกหนังสือรับรอง หรือ Carbon Credit Certificate หรือ Certified Emission Reductions (CERs) เป็นเอกสารสำคัญในการอ้างอิงการซื้อขาย
ไทยเราเองมีหน่วยงานชื่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีสำนักงานอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้โดยตรงครับ… ข้อมูลมากกว่านี้ผมไม่กล้าลงลึกรายละเอียดเพราะยังศึกษาเรียนรู้ไม่มากพอ ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ควรจะแบ่งปันข้อมูลในระดับคนที่มีประสบการณ์มากกว่า… และผมยังไม่ทราบชื่อคนไทยคนนั้นเลย ณ เวลานี้
แต่ไม่ว่ายังไง… นับจากนี้ไป เรื่องโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจกและสิ่งแวดล้อมอีกหลายแง่มุม น่าจะชัดเจนขึ้นอีกเยอะ… #FridaysForFuture
อ้างอิง