กลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นวาระแห่งโลกเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน หรือ Global Warming โดยมีแนวทางตามพิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol ซึ่งเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change ซึ่งได้ทำให้เกิดการซื้อขายเครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน “ตลาดซื้อขายคาร์บอน หรือ Carbon Market” โดยมีแรงจูงใจเป็นมาตรการทางภาษีอากรเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนผ่าน ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ หรือ Mandatory Carbon Market ที่กำลังขยายตัวอย่างน่าสนใจ
คาร์บอนเครดิตคือ ใบอนุญาต หรือ ใบรับรองที่ซื้อขายได้ซึ่งให้สิทธิ์แก่ผู้ถือเครดิตในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หนึ่งตัน หรือ กับก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นในปริมาณเทียบเท่า ซึ่งถือเป็นการชดเชยโดยพื้นฐานสำหรับผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกต้องรับผิดชอบ
ส่วนเป้าหมายหลักในการสร้างคาร์บอนเครดิตได้ตรงไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน… ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมไม่สามารถทำได้… การเปิดทางให้สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดซื้อขาย Carbon Offset เพื่อนำเครดิตที่ได้สิทธิ์มาชดเชยกิจกรรมที่ต้องดำเนินต่อไปโดยยังปล่อยมลพิษสู่อากาศ และ ชั้นบรรยากาศด้วยความรับผิดชอบ
ข้อมูลวิเคราะห์ปี 2021 จาก Coherent Market Insights พบมูลค่าการค้าคาร์บอนเครดิตทั่วโลกจะเติบโตไม่น้อยกว่าปีละ 30% ระหว่างปี 2019–2027 โดยจะมีมูลค่าประมาณ 2,407.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027…
ในประเทศไทย… สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิตล่าสุดที่รายงานโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพบว่า… การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรกเริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2559 มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 846,000 บาท แต่มูลค่าการซื้อขายในปี พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 9,714,190 บาท หรือ เพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่าในช่วงเวลาเพียง 5 ปี… โดยราคาซื้อขายคาร์บอนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 149 บาทต่อตัน ก่อนจะลดลงมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25-35 บาทต่อตันในระหว่างปี พ.ศ. 2563-2565
บทวิเคราะห์จากสำนักวิจัยธนาคารกรุงเทพชี้ว่า… การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการสัญชาติไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศยังมีปริมาณไม่มาก เนื่องจากตลาดคาร์บอนของไทยเป็น “ตลาดสมัครใจ หรือ Voluntary Carbon Market” ซึ่งมีขนาดเล็ก และ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 8.5 เปอร์เซนต์ต่อปี และ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบของการเจรจาต่อรอง หรือ OTC หรือ Over-the-Counter
ส่วนความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่งในตลาดคาร์บอนเครดิตก็คือ… การเติบโตของธุรกิจกลุ่ม Climate Tech ที่ประยุกต์ และ เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีชั้นสูงมากมายให้สามารถจัดการปัญหาโลกร้อนในมิติต่างๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือและแม่นยำยิ่งๆ ขึ้น… ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการซื้อขายข้ามพรมแดนที่เริ่มได้เห็นแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้ามชาติด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่าง Carbon Trade Exchange หรือ Toucan Protocol หรือ Xpansiv รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในกลไกการขึ้นทะเบียน Carbon Offset ของ BioCarbon Registry หรือชื่อเดิม ProClima เป็นต้น… กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งกลุ่มที่สนใจร่วมทุนกับแพลตฟอร์ม และ กลุ่มที่จะเข้าไปเทรดเก็งกำไรคาร์บอนเครดิต… เคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ
ท่านที่สนใจ Carbon Offset และ Climate Tech ทั้งในเชิงพาณิชย์และการศึกษาวิจัย… ทักผมทาง Line ID: dr.thum ครับ!
References…