ปีนี้ Time ยกให้สาวน้อย Greta Thunberg เป็นบุคคลแห่งปี… ซึ่งก็ถือว่าถูกใจคนสายเขียวและสิ่งแวดล้อมกันมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Generation Millennials ลงมา ที่ช่วยกันลงถนนรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจนนักการเมืองทั่วโลกติดอ่างเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเป็นแถว…

กลับมาดูวาระแห่งการลดโลกร้อน ที่องค์การสหประชาชาติตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2050 จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ให้ได้ ก็ดูจะมีความหวังมากขึ้นเมื่อผู้คนตื่นตัว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของโลก ที่รวมตัวและจริงจังจนเกิดพลัง FFF หรือ FridaysForFuture ขึ้นทั่วโลก
ทุกคนรู้ดีว่า การลดคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ไม่ใช่เรื่องง่าย… แต่ว่าลดโลกร้อนรอบนี้คงไม่เกิดสงครามเหมือนความขัดแย้งอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่บ่อยครั้งลุกขึ้นมาทำสงครามกันเองเพียงเพราะเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่เหมือนกัน… พอๆ กับคนสองคนวิวาทกันเพราะมองหน้ากับไม่ยอมให้มองหน้าเท่านั้น
ข่าวดีก็คือ มีความพยายามที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดการปัญหาโลกร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยี Carbon Dioxide Capture ที่ภาคอุตสาหกรรมเองที่เป็นจำเลยเรื่องนี้… มีความพยายามมานาน
อย่างเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage ที่ใช้เทคนิคดักจับได้แล้วอัดลงไปเก็บไว้ใต้ดินลึก 2100 เมตรเพื่อให้กลายเป็นหิน… ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้กันมานานหลายปี เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจาก MIT ก็พบว่ามีเฉพาะก๊าซที่ลงไปถึงบ่อเก็บในช่วงต้นๆ เท่านั้นที่เปลี่ยนเป็นของแข็งหรือหินได้… หลังจากนั้นจะปิดทางลงไม่ให้ก๊าซที่เหลือลงสู่ใต้ดินเพิ่มขึ้นได้อีก ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลงสู่ใต้ดินไม่ได้จะยังคงสภาพเป็นก๊าซอยู่ หรืออาจจะกลั่นตัวเป็นของเหลวแทน หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลงไปใต้ดินสามารถเปลี่ยนเป็นของแข็งก็จะไม่มีปัญหา แต่หากยังคงสภาพก๊าซหรือของเหลว จะทำให้ยังเคลื่อนที่ได้ และในที่สุดก็จะกลับไปสู่บรรยากาศอีกเช่นเดิม
ความท้าทายเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์จึงอยู่ที่การดักจับและจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยตรงอยู่ดี
งานค้นคว้าและพัฒนาของบริษัท Climeworks บริษัทพัฒนาด้านพลังงานในสวิสเซอร์แลนด์ได้คิดค้นเทคโนโลยี Direct Air Capture หรือ ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศสำเร็จ
นวัตกรรมนี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บและแปรสภาพเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม



การทำงานของระบบ Direct Air Capture เริ่มจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และสกัดเอาเฉพาะ CO2 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการให้ความร้อน เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้บริสุทธิ์… และบรรจุในถังส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือแม้แต่เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องดื่มอัดก๊าซอย่างโซดาหรือน้ำอัดลม
ถึงตรงนี้ทุกท่านคงมองออกว่า… Carbon Engineering and Technology เพิ่งเริ่มต้นยุคเท่านั้น… โดยเฉพาะเป้าหมายและปลายทางที่จะแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเชื้อเพลิงตามแนวคิด Air to Fuels ที่ฝันถึงวงจรความยั่งยืนด้านพลังงานและภูมิอากาศ… ที่เราไม่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งอย่างสิ้นเชิงเหมือนในปัจจุบัน
#FridaysForFuture ครับ!
อ้างอิง