ศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมคุณภาพ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้เท่าเทียมมหาอำนาจผู้ชนะในสงครามโลกครั้งสองอย่างอังกฤษ–สหรัฐ ได้อย่างไร้ข้อสงสัยมานาน ในวงการวิศวกรรมอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างก็ได้เรียนรู้ และ ได้เลียนแบบการทำอุตสาหกรรมแบบญี่ปุ่นกันหมดในท้ายที่สุด โดยหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นจิตวิญญาณของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วก็คือ Quality Control หรือ QC โดยมีแนวทางของ Professor Kaoru Ishikawa จาก University of Tokyo ซึ่งมีชื่อเสียงจากการพัฒนาเครื่องมือจัดการองค์กรอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ยุค 1960s โดยเฉพาะ หลักการ QC หรือ Quality Control Circle และ Ishikawa Diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในโลกธุรกิจและอุตสาหกรรม
ประเด็นก็คือ… ในการวิเคราะห์ขบวนการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพสูง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องพัฒนา “วงจรควบคุมคุณภาพ หรือ Quality Control Circle” โดยต้องวิเคราะห์ละเอียดก่อนจะสร้างวงจรควบคุมคุณภาพขึ้นและนำใช้ในขั้นตอนต่างๆ ที่ออกแบบไว้ ซึ่ง Ishikawa Diagram หรือ Fishbone Diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา นี่เองที่สามารถแจกแจงแบ่งแยกรายละเอียดจนเห็นภาพขบวนการผลิตทั้งหมด และ เห็นที่มาที่ไปของตัวแปรทุกรายละเอียดในระบบอย่างชัดเจน
แผนภูมิก้างปลา จึงเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และ ยังคงสำคัญกับทุกธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีแผนภูมิแบบอื่นที่ดูเหมือนจะใช้งานแทนกันได้อย่าง Mind Map และ Tree Map… แต่แผนภูมิก้างปลาก็ยังคงชัดเจนและเรียบง่ายจากแบบแผนในการเขียนและการอ่านเหนือกว่าอยู่ดี… แผนภูมิก้างปลาจึงยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในการใช้แจงรายละเอียดเชิงวิเคราะห์ ทั้งในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมเช่นเดิม
โดยเฉพาะการนำแผนภูมิก้างปลามาปรับใช้เป็นเครื่องมือทางเทคนิค สำหรับวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการ “เตรียมรับมือปัญหา” เพื่อสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยข้อมูลและความหมายของข้อมูลที่เข้าใจได้ตรงกัน
Fishbone Diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา จึงเป็นเครื่องมือหลักในการใช้ค้นหาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่อง และหรือ เป็นความล้มเหลวในกระบวนการต่างๆ โดยรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในระบบ จะถูกแสดงรายละเอียดทุกปัจจัยและตัวแปร… ซึ่งจะเห็นที่มาที่ไปทั้งหมดอย่างง่ายดาย
ถึงตรงนี้… สิ่งที่อยากจะบอกจริงๆ ไม่ใช่วิธีเขียนแผนภูมิก้างปลาหรอกครับ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากที่จะเขียน และ ยังมีคำแนะนำดีๆ มากมาย รวมทั้งซอฟท์แวร์ช่วยเขียนก็มีให้ใช้ไม่น้อย… ซึ่งแผนภูมิก้างปลาจะเขียนออกมาได้ละเอียดดิบดีสวยงามแค่ไหนก็ตาม ตัวแผนภูมิก้างปลาก็ยังทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเพียงแค่ระบุปัญหา หรือ ให้ข้อมูลที่อาจจะเกี่ยวกับปัญหาออกมาให้ได้เท่านั้น… การแก้ไขหรือการจัดการ รวมทั้งการวิเคราะห์ซ้ำให้เข้าถึงรากเหง้าปัญหา ก็ยังเป็นหน้าที่ของคนทำงานอยู่ดี
ที่สำคัญกว่านั้น… การทำแผนภูมิก้างปลามั่วๆ ตั้งแต่เริ่มแรกเพราะวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายปัญหาที่ต้องการจัดการไม่ชัดเจน ก็ไม่มีใครรับประกันได้หรอกครับว่า ข้อมูลที่เห็นหรือใส่ไว้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้แค่ไหน หรือแย่กว่านั้นอาจจะเพิ่มปัญหาเป็นการถกเถียงขัดแย้ง และ ความคิดเห็นแตกแยกในทีมเพิ่มมาอีกหนึ่งประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้… ก็เคยเห็นมีมาแล้ว
นั่นแปลว่า… แนวคิด หรือ Concept ที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา สำคัญกว่าและมาก่อนการเลือกใช้เครื่องมือวิเคราะห์อย่างแผนภูมิก้างปลา หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ปัญหาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้… โดยแนวคิดก่อนเริ่มต้นวิเคราะห์ปัญหา จะมีขั้นตอนคร่าวๆ อยู่ 4 ขั้นตอนคือ…
- Identify The Problem หรือ ระบุปัญหาให้ชัด
- Work Out The Major Factors involved หรือ หาตัวแปรหลักของปัญหาให้พบ
- Identify Possible Causes หรือ ระบุสาเหตุที่เป็นไปได้
- Analyze Diagram หรือ วิเคราะห์ผังหรือแผนภูมิซ้ำ
ส่วนใครจะดึงแผนภูมิก้างปลามาใช้ในขั้นตอนไหน… ก็แล้วแต่ถนัด และ ได้โปรดอย่าลืมที่จะระดมสมองให้มาก โดยเฉพาะ “ในขั้นตอนระบุสาเหตุที่เป็นไปได้” ทั้งหมด ซึ่งประเด็นเหล่านั้นมีแนวโน้มจะเป็นงานสำคัญในการแก้ปัญหาต่อไปนั่นเอง
References…