1 มกราคม 2023 เป็นวันเริ่มต้นบังคับใช้ “มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism” สำหรับสินค้านำเข้าในเขตสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจแรกที่จะจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า… ทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าไป EU ต้องเตรียมการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำ หรือ หาทางทำให้ Carbon Footprint และ ก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า EU เป็นศูนย์… แต่มีการผ่อนผันให้กลุ่มสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอย่างซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า กับ อลูมิเนียม… โดยใน 3 ปีแรกระหว่าง 2023–2025 ให้ผู้นำเข้าส่งรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ผลิต และ EU จะจัดเก็ยภาษีอย่างเป็นทางการในปี 2026 เป็นต้นไป
สำหรับประเทศไทย… “มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM” มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยไป EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยต้องตื่นตัวพร้อมรับมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นความท้าทายหลายประการในทางปฏิบัติ
ข่าวดีก็คือ… เอกสาร และ การดำเนินการในกรอบ CBAM ของไทยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้มอบหมายให้ “เป็นผู้ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์” ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ องค์กร บุคคล และ กิจกรรม ซึ่งใช้กำกับสินค้าส่งออกไป EU ได้
คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวถึงที่มาของมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดนว่า… เกิดจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศสมาชิกอียู โดยริเริ่มจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซของอียูจนลดลงตามลำดับเนื่อจากได้มีการออกกฎหมายบังคับให้กลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมอัตราการปล่อยขั้นสูงสุด และ สร้างตลาดแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าภายในอียูสูงขึ้น… EU จึงมีแนวคิดจัดเก็บภาษี CBAM เพื่อให้สินค้านำเข้ามาในอียูถูกรวมต้นทุนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซในการผลิต เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตใน EU และ กระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ลดก๊าซเรือนกระจกด้วย
CBAM เริ่มจากกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสูง ได้แก่… ปูนซีเมนต์ เหล็ก ปุ๋ย อลูมิเนียม และ กระแสไฟฟ้า… นอกจากนั้น อียูยังเตรียมพิจารณาเพิ่มกลุ่มสินค้ากลุ่มไฮโดรเจน รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ อาทิ สกรู สลักเกลียว ที่สัมพันธ์กับเหล็ก… โดยมีแนวโน้มที่จะขยาย “รายการสินค้าในมาตรการ CBAM” เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
ส่วนข้อมูลผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย… ผู้อำนวยการ อบก. ระบุว่าสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ของไทยจะเป็นกลุ่มเหล็ก อะลูมิเนียมที่มีผู้ประกอบการรับจ้างผลิตอยู่มาก ขณะที่ปูนซีเมนต์ไม่ได้ส่งสินค้าไป EU แต่ส่งออกหลายประเทศในอาเซียน หากประเทศอาเซียนนำมาตรการนี้มาใช้ ไทยจะกระทบมาก ไทยยังเป็นแหล่งส่งออกปิโตรเคมี ทั้งเม็ดพลาสติก และ โพลีเมอร์… หากมีการขยายมาตรการ CBAM นำสินค้าเหล่านี้ใส่เข้ามาในอนาคต ไทยอาจจะโดนได้
หมดเวลา “พูดแต่ยังไม่ได้ทำ”เรื่องคาร์บอนเป็นศูนย์ และ ก๊าซเรือนกระจกกันแล้วครับ!
References…