ในยุคที่ AI หรือ Artificial Intelligence สามารถเรียนรู้และสำเนาข้อมูลให้ AI หน่วยอื่นๆ รู้และเข้าใจชุดความรู้เดียวกันได้เพียงเสี้ยววินาที ในขณะที่มนุษย์อาจต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อถ่ายทอดชุดความรู้หนึ่งชุด จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หรือแม้แต่การถ่ายทอดโดยครูสู่นักเรียนก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ AI จะไม่มีวันมีเหมือนมนุษย์ก็คือ…ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร AI ก็ยังจะดำเนินการต่างๆ ไปตามตรรกะ หรือ Logic ซึ่งห่างไกลจากคำว่าสร้างสรรค์ หรือ Creativity มากมาย
ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นจุดแข็งหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ และมนุษย์จะได้เปรียบ AI ไปตลอดกาลไม่ว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะจดจำและใช้ข้อมูลมากมายมหาศาลแค่ไหน ตัดสินใจอะไรหรือดำเนินการอย่างไร ได้ดีกว่ามนุษย์แค่ไหนก็ตาม
การเรียนการสอนที่เน้นจำหรือเน้นใช้ตรรกะกลวงๆ จึงไม่เหลือวิถีให้ไปต่อ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร… มนุษย์แข่งจำหรือแข่งวิเคราะห์ข้อมูลกับ AI ไม่ได้ชัดเจนแน่แล้ว และใครก็ตามที่ยังหาแนวทางการเรียนการสอนที่ออกจากการสอนให้จำและสอนให้ไปทำงานซ้ำๆ ไม่ได้… ก็ต้องยอมรับและหลีกทางให้ AI และหุ่นยนต์ ซึ่งทำได้ดีกว่าคนแน่ๆ ไปเสีย
ในการจัดการเรียนการสอน และการนิเทศการศึกษาในระยะหลังๆ มานี้ นักวิชาการด้านการศึกษาที่ Update ทิศทางและแนวโน้มจึงพูดถึง Creativity Based Learning หรือ CBL กันอย่างกว้างขวาง
Creativity Based Learning หรือ CBL หรือ การเรียนการสอนด้วยฐานสร้างสรรค์ หรือ การเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน… ซึ่งนักวิชาการหลายท่านในบ้านเรา มีความเชี่ยวชาญและรู้ลึกถึงขั้นได้รับการยอมรับระดับนานาชาติก็มีหลายท่าน บางท่านมีผลงานตีพิมพ์งานวิจัยในระดับสากลก็มี… โดยส่วนตัวผมตามงาน CBL ของอาจารย์ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ มาหลายปีและหลายเวที… การเห็นอาจารย์ไปเวทีของฝั่งกระทรวงศึกษาธิการถี่ขึ้นในช่วงหลังๆ และยังได้อ่านงานวิจัยที่มีชื่อกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องจากอาจารย์ ก็แอบหวังเหมือนอาจารย์แหละครับว่า… เมืองไทยยังมีโอกาสจะได้เห็นอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างในแวดวงการศึกษา
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนทุกท่านตรงนี้ก็คือ… Creativity Based Learning หรือ CBL เป็นหนึ่งใน วิธีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งโครงสร้างหลักของรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานนั้น ได้พัฒนามาจากโครงสร้างการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem Based learning และแนวทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบความคิดแนวขนานของ Edward De Bono ผู้เขียนหนังสืออมตะ 2 เล่มที่ต้องอ่านคือ The Use of Lateral Thinking และ Six Thinking Hats
ประเด็นก็คือ… จะเรียนจะสอนผ่านความคิดสร้างสรรค์ หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานนั้น การทำหลักสูตรหรือแผนการสอน หรือแผนการเรียนรู้… ต้องเข้าใจบริบทและแนวทางการประเมินความคิดสร้างสรรค์เสียก่อน
ซึ่งห้องเรียนสร้างสรรค์นั้น ผู้สอนและผู้เรียนต้องเห็นและเข้าใจคำว่าความคิดสร้างสรรค์ หรืองานสร้างสรรค์ หรือผลการเรียนที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นภาพเดียวกันก่อน… หาไม่แล้ว คุณค่าของความคิดสร้างสรรค์จะไม่มีทางเกิดขึ้น เมื่อคนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนสองฝ่ายอย่างผู้สอนกับผู้เรียน… ให้คุณค่าความคิดสร้างสรรค์ไปละทิศละทางกัน
Andrew Miller ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจาก The Buck Institute for Education และ ASCD กล่าวไว้ในบทความ Assessing Creativity in the Classroom: It Needs to Happen! ว่า… ประเด็นที่โรงเรียนจะวัดความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนให้ออกมาเป็นเกรดหรือไม่นั้นไม่สำคัญ… แต่สำคัญอยู่ที่พวกเขาต้องเข้าใจความหมายของ Creativity เสียก่อนว่าคืออะไร จะได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเองได้
และ Dr. Susan M. Brookhart นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ชื่อดังแห่ง Duquesne University อธิบายว่า การที่ครูต้องอธิบายคุณสมบัติของ Creativity ให้นักเรียนเข้าใจก่อนวัดประเมินเป็นสิ่งที่ต้องทำ… เพราะ Creativity เป็นแนวคิด หรือ Concept ที่กว้างมาก… Dr. Susan M. Brookhart จึงเสนอองค์ประกอบของ Creativity ที่ผู้เรียนต้องมีคือ
- Originality หรือ มีความเป็นตัวเองเด่นชัดและเป็นต้นฉบับ
- High Quality หรือมีคุณภาพกว่า
- Variety หรือ มีหรือสร้างความหลากหลาย
- Novelty หรือสร้างความแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจ
และเพื่อให้ง่ายต่อการตีความยิ่งขึ้น… Dr. Susan M. Brookhart ได้ทำรายการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้คือ
- สนใจศึกษาเนื้อหาเชิงลึกและค้นคว้าเพิ่มเติม
- เปิดรับความคิดใหม่และขวนขวายหาเพิ่มเติม
- หาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น สื่อต่างๆ สอบถามจากบุคคลหรือไปร่วมกิจกรรม
- คิดได้หลากหลายแนว หรือ เอาแนวทางมาผสมกันได้ และ สรุปได้ว่าสิ่งนั้นน่าสนใจ แปลกใหม่ มีประโยชน์
- กล้าลองผิดลองถูก และ มองความผิดพลาดล้มเหลวเป็นโอกาสเรียนรู้
ในหนังสือ How to Create and Use Rubrics for Formative Assessment and Grading ของ Dr. Susan M. Brookhart จึงถือเป็นคำภีร์หลักเล่มสำคัญในการประเมินผู้เรียน ในแนวทาง Creativity Based Learning หรือ CBL ที่แนะนำและนำใช้กันอย่างกว้างขวาง…
ผมขอข้ามรายละเอียดการสร้าง Rubrics ของ Dr. Susan M. Brookhart ไปทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นเฉพาะเจาะจงเกินกว่าจะเขียนลงอธิบายด้วยบทความ… ท่านที่สนใจผมแนะนำให้ซื้อหนังสือของ Dr. Susan M. Brookhart อ่าน หรือเข้าโปรแกรมอบรมการใช้เครื่องมือโดยตรง
ตอนหน้าผมจะพูดถึง Creative Learning Spaces ในโรงเรียนและบรรยากาศแบบสร้างสรรค์ที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรรค์สร้างได้ ซึ่งเป็นบรรยากาศการเรียนรู้สร้างสรรค์อันพึงประสงค์นั่นเอง… โปรดติดตามด้วยครับ!
อ้างอิง