คนจำนวนหนึ่งมักมีเรื่องฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธ และ ปวดหัววุ่นวายจากสารพัดเหตุที่เกิดกับตนในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้อารมณ์ความรู้สึก… ขุ่นมัวหม่นหมอง และ ก่อปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่อีกมาก โดยทั้งหมดนั้นเองได้ทำลายความสุข หรือแม้แต่ความพึงพอใจขั้นต่ำให้เหือดหายไปจากความรู้สึกในขณะนั้น เพราะรับรู้ได้แต่แรงกดดันด้านลบที่กระทำต่ออารมณ์ความรู้สึกของตน และบ่อยครั้งก็ตอบโต้แรงกดดันด้านลบเหล่านั้นด้วยอารมณ์เดียวกัน หรืออาจจะตอบโต้แรงกดดันดังว่านั้นด้วยนิสัยที่ติดตัวมาก็ได้
บทความของ Dr.Mark Travers นักจิตวิทยาจาก Awake Therapy ได้พูดถึง “นิสัย หรือ Habits” ที่นักจิตวิทยาใช้ประเมินพฤติกรรมผ่าน “สภาวะภายใน หรือ Inner States” อันเป็นส่วนสำคัญของอารมณ์ หรือ Moods… ซึ่งนิสัยนี่เองที่เป็นต้นธารของภาวะอารมณ์ที่คนส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” การใช้นิสัยในชีวิตประจำวัน “กดทับ” อารมณ์ความรู้สึก
ประเด็นก็คือ… ความฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธที่ตามมาด้วยปัญหาวุ่นวายนั้น คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวโทษ “อารมณ์ไม่ดี หรือ Bad Moods” มากกว่าจะนึกถึง “นิสัยไม่ดี หรือ Bad Habits” ที่ตอบโต้กับสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติในยามที่ถูกกระตุ้น… หลายคนกล่าวโทษ “อารมณ์ไม่ดี” มากกว่าจะโทษ “นิสัยไม่ดี” ซึ่งบิดเบือนพฤติกรรมตนเองให้ข้ามผ่านการรับผิดชอบอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดตามความฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธ ซึ่งเสียหายตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่โตถึงขั้นทรัพย์สินเสียหาย หรือ มีคนเจ็บคนตาย
บทสรุปของ Asaf Mazar นักศึกษาปริญญาเอกที่ University of Southern California ได้บรรยายถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเข้าใจผิดว่า ความฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธที่ตามมาด้วยปัญหาวุ่นวายเพราะอารมณ์ไม่ดี ทั้งๆ ที่เป็นเพราะนิสัยไม่ดีมากกว่าว่า… นิสัยเป็น “คำสั่งสำเร็จรูป” ที่สมองของเราพัฒนาขึ้น ซึ่งจะเปิดใช้อัตโนมัติในสถานการณ์เฉพาะด้วยการกระทำซ้ำๆ ตัวอย่างเช่น… พฤติกรรมดื่มกาแฟเป็นประจำยามเช้าที่สมองเรียนรู้และจับคู่สภาพแวดล้อมการเดินเข้าครัวหลังตื่นนอน ซึ่งสภาพแวดล้อมของครัวในบริบทหลังตื่นนอนจะกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มกาแฟยามเช้าโดยอัตโนมัติ
งานวิจัยของ Asaf Mazar พบพฤติกรรมในชีวิตประจำวันกว่า 40% มาจากอุปนิสัย หรือ Habits… โดยนิสัยนี่เองที่เป็นค่าเริ่มต้นในการตอบสนองสภาพแวดล้อม และ บริบทของผู้คนในชีวิตประจำวัน… คนที่มีนิสัยดีงามจึงมีชีวิตดีงามมากกว่าคนที่มีแต่นิสัยแย่ๆ และเต็มไปด้วยสิ่งเร้า และ บริบทที่ก่ออารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึก และ ยังเชื่อว่าการรอให้อารมณ์ดีก็จะดีได้เอง… ซึ่งชีวิตก็ยังฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธอยู่เนืองๆ เช่นเดิม
การหาความสุขโดยพาตัวเองออกมาจนพ้นจากวังวนฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธจึงมีแต่ “ความปราถนาอันแรงกล้า หรือ Strong Desire” เพื่อเปลี่ยนนิสัยตัวเองให้ดีกว่าเดิมเท่านั้น…
ข้อเสนอแนะจากบทสรุปของ Asaf Mazar ชี้ว่า… สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนนิสัย วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการออกแบบสภาพแวดล้อมในลักษณะที่สนับสนุนนิสัยที่ดี และ ขัดขวางนิสัยที่ไม่ดี… การคิดเปลี่ยนนิสัยจึงจำเป็นต้องคิดถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและบริบทเพื่อปลูกฝังนิสัยใหม่ด้วย
References…