บทสนทนาหนึ่งที่ผู้ใหญ่ชอบตั้งคำถามกับเด็กคือ… โตขึ้นอยากเป็นอะไร? เด็กก็จะตอบไปตามประสา ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ตั้งคำถามเอง ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรจริงจัง จนเด็กเติบโตและเรียนรู้ซึมซับแบบอย่างที่สนใจ และมีบางสิ่งบางอย่างในความสนใจ ดึงดูดความคิดอ่านจนกลายเป็นเป้าหมาย… ในระยะสั้นบ้าง ยาวบ้าง… อันเป็นนิมิตรหมายของการเติบโต
แรงดึงดูดที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้… สำหรับคนที่มีทักษะชีวิต ภูมิรู้และวินัยส่วนตนชัดเจน ก็จะสามารถแปลงเป้าหมาย เป็นรายละเอียดที่ต้องทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งหลายคนเรียกรายละเอียดที่ต้องทำนี้ว่า Action Plan
ประเด็นก็คือ… บ่อยครั้งที่แรงดึงดูดสร้างเป้าหมาย “เกินทักษะ ภูมิรู้และวินัยส่วนตน” จนไม่สามารถจะทำ Action Plan ได้ด้วยเหตุปัจจัยมากมาย หรือแม้แต่ไม่สนใจจะคิดหาทางด้วยซ้ำ… จนเป้าหมายนั้น กลายเป็นเป้าหมายที่ไม่มีทางไปถึง และเรียกเป้าหมายนั้นว่า “ฝัน”
เป้าหมาย กับ ฝัน จึงต่างกันที่หนทางไป… ซึ่งก็คือ มี กับ ไม่มี Action Plan เท่านั้นเอง!
ในหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-lived, Joyful Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans ถือเป็นตำราสมัยใหม่ที่พูดถึงเป้าหมายชีวิต และวิธีสร้างทางไปให้ถึงเป้าหมาย… หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วิธีทำ Action Plan เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมาย… ทุกๆ การลองและเปลี่ยนแปลง
สำหรับคนส่วนใหญ่ เป้าหมายก็คือ “อนาคตที่อยากเปลี่ยน” ไปสู่จุดนั้น… ซึ่งในทางตรรกะ การเปลี่ยนจึงมีจุดอ้างอิง 2 จุดเกิดขึ้น คือ “จุดปัจจุบัน กับ จุดหมาย”
หนังสือ Designing Your Life ที่มีรากมาจาก Stanford d.School จึงให้ความสำคัญกับ ป้าย YOU ARE HERE ที่ Stanford’s Designing Your Life Studio… เพื่อให้ทุกคนที่ d.School หาจุดเริ่มต้นให้ถูกก่อน
เพราะการไต่เส้นทางไปเป้าหมาย… รู้แต่ว่าจะไปไหนไม่พอ ต้องรู้ว่า “ไปจากตรงไหน” ด้วย
ย้อนกลับไปดูตำราเก่าแก่อย่าง “พระไตรปิฎก” แม้จะไม่ใช่ตำราเพื่อไล่ล่าความสำเร็จทางโลก แต่สัจจะธรรมในพระไตรปิฎกทุกเล่ม ได้รับการยอมรับว่า ถูกต้องเป็นจริง และสามารถตีความเพื่ออธิบายได้ทั้งทางโลกและทางธรรม… ซึ่งพระไตรปิฎกหลายบทกล่าวถึง “ตน” อันเป็นจุดตั้งต้น ไม่ว่าเป้าหมายจะไปทางโลกหรือทางธรรม โดยเฉพาะ ธรรมะในหมวด สัปปุริสธรรม 7 หรือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือ คุณสมบัติคนดีทั้ง 7 ข้อ ที่กล่าวถึง “อัตตัญญุตา หรือ การรู้จักตน…” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีผู้ค้นพบความสำคัญของการรู้จักตัวเองมานานมากแล้ว
หนังสืออย่าง The Self-Aware Universe: How Consciousness Creates the Material World โดย Professor Dr.Amit Goswami ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ผู้เล่าเรื่องการรู้จักตนในหลากหลายมิติลงในหนังสือ ตั้งแต่มุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์สุดๆ ไล่ไปจนถึงจิตวิญญาณ
หนังสืออย่าง Self-Awareness: The Hidden Driver of Success and Satisfaction โดย Travis Bradberry และยังเป็นผู้แต่งหนังสือขายดีชื่อ Emotional Intelligence 2.0 ก็เขียนถึง “การรู้จักเข้าใจตน หรือ Self-understanding” ใส่ไว้ในหนังสือ โดยให้ถือเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อน “ความสำเร็จอันพึงพอใจ” ซึ่ง Travis Bradberry ใช้งานค้นคว้าเชิงคุณภาพกับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 50,000 คน จนได้ข้อสรุปว่า Self Awareness หรือ การรู้จักตน เป็นพลังแฝงสร้างความสำเร็จอันน่าพึงพอใจให้ทุกคน
Self Awareness หรือ การรู้จักตน… ในทางโลกคือ การเข้าใจตนเอง และ รู้จักจุดหมายของตัวเอง… ส่วนทางธรรมผมขอข้ามครับ!
ทีนี้ก็มารู้จักเป้าหมาย… ซึ่งเป้าหมาย หรือ ปลายทางที่ว่า ก็คือ อนาคตที่ความคิดและจิตวิญญาณเรา ถูกดึงดูดอย่างชัดเจนให้อยากเห็น อยากเป็นและอยากมีอนาคตแบบนั้น และยอมให้เกิดการโน้มเหนี่ยวต่อเนื่องจนเกิด “ความหวัง”
ประเด็นมีอยู่ว่า… คนส่วนหนึ่งใช้ความหวังปลอบโยนตัวเองระหว่างฟ่าฟันเส้นทางชีวิต ไปยัง “ปลายทาง” ซึ่งอาจไม่ใช่เป้าหมาย หรือแม้แต่กลไกสร้างความหวังของตัวเองด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้คนเหล่านั้น “มีเรื่องให้เสียดาย” อยู่ในทัศนคติส่วนตนตลอดเวลา…
หากพิจารณาในเชิงตรรกะ การมีตัวแปรอย่าง “เสียดาย” อยู่ในสมการชีวิต ที่ควรจะมีแต่ “เป้าหมาย หรือ Goal ลบด้วย Self หรือตัวตน เท่ากับ แผนการสู่เป้าหมาย หรือ Action Plan”
ที่น่าตกใจคือ ตัวแปร “เสียดาย” ในสมการชีวิต แทนด้วย คูณศูนย์ หรือ x0 ซึ่งไม่ว่าจะสลับตำแหน่งอย่างไรในโครงสร้าง ตัวแปรเสียดายจะลดค่าตัวแปรอื่นๆ เป็นศูนย์ได้หมด… และอย่าลืมว่านี่คือสมการชีวิต การปลอบโยนตัวเองด้วยความหวัง ในขณะที่เลี้ยงดูความเสียดายเกินจำเป็น… ชีวิตย่อมมีค่าเท่ากับ “น่าเสียดาย” ในท้ายที่สุด
วิธีเดียวที่จะลบเรื่องน่าเสียดายออกไปจากสมการชีวิตก็คือ เปลี่ยนเสียดายไปเป็นตัวตน หรือ Self… เมื่อตั้ง Goal ขึ้นใหม่ ลบด้วย Self ที่เปลี่ยนรูปมาจากเสียดาย ก็จะเห็นเส้นทางออกจากเสียดายชัดขึ้น… และเส้นทางที่เห็นชัดขึ้นนี่เอง ที่เป็นเส้นทางไล่ตามฝัน จากจุดที่รู้ตัวรู้ตนนั่นเอง
ข้อควรระวังก็คือ… เส้นทางและแนวทางไม่ช่วยอะไร นอกจากปรากฏให้เห็น และรอเราใช้ทางเดินเข้าหาเป้าหมายเท่านั้น… ดังนั้น การพาตัวเองตามทางเข้าใกล้เป้าหมายเรื่อยๆ จึงเป็นวิธีเดียวที่จะปิดระยะเข้าใกล้ “เป้าหมายอันพึงใจ หรือ Satisfied Goal”
ส่วนคำเตือนมีสองข้อคือ หนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงใจขึ้น และสอง… การ “รอ” จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายอันพึงใจช้าลง แพงขึ้นและสังขารร่วงโรยได้

ขอบคุณที่ติดตามครับ!
อ้างอิง
https://www.success.com
https://everydaypower.com
https://me-mindset.com
https://sites.google.com
https://dschool.stanford.edu