ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมการศึกษา กับ กระแสตอบรับปัญญาประดิษฐ์จอมปราชญ์อย่าง ChatGPT จาก OpenAI ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 2022… ซึ่งระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2023… ดูเหมือน ChatGPT จะเข้ามาป่วนอุตสาหกรรมการศึกษาจนกลายเป็นข่าวใหญ่ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะกรณีการใช้งาน ChatGPT ของนักเรียนนักศึกษาในการทำการบ้าน เรียบเรียงรายงาน ไปจนถึงเติมข้อมูลในเล่มวิทยานิพนธ์ จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายในอุตสาหกรรมการศึกษาได้เปิดประเด็นถกถาม เรียนรู้ และ หาทางจัดการกระบวนการเรียนรู้ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT และ AI อื่นอีกมากในอนาคต กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง…
สำนักข่าว CBS NEWS ได้รายงานกรณีที่ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายจาก University of Minnesota ได้นำข้อสอบวิชากฏหมายแบบปรนัย 95 ข้อ กับ ข้อสอบอัตนัย 12 ข้อ ไปทดสอบ ChatGPT ซึ่งผลการตรวจข้อสอบออกมาว่า ChatGPT สามารถทำคะแนนไปได้เทียบเท่านักศึกษาที่ทำคะแนนได้เกรด C+ ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดามากๆ จนน่าวิตกสำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนในแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
Professor Dan Schwarcz ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายจาก University of Minnesota ชี้ว่า… เราไม่มีทางแยกออกว่าผลงาน และ การสอบวัดความรู้ของนักศึกษาเป็นความสามารถของนักศึกษาจริง หรือ ปลอมปนองค์ความรู้ที่ปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT ทำข้อมูล และ เรียบเรียงมาให้… ซึ่งครูอาจารย์ต้องเท่าทันเทคโนโลยีมากพอที่จะไม่เปิดช่องให้เกิดการโกงในระบบการศึกษาด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เทคโนโลยีอื่นใดคล้ายกันนี้
ประเด็นก็คือ… ศักยภาพของ ChatGPT ที่ทำได้หลากหลายตั้งแต่เขียนบทความ ตอบคำถาม ให้คำปรึกษา แก้โจทย์คณิตศาสตร์ และ เขียนโค้ดได้ กำลังท้าทายกระบวนการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่สร้างกลไกการประเมินผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาโดยพยายามวัดจากผลงานในรูปคอนเทนต์ทางการศึกษา และ การสอบทานเอาคำตอบ… ซึ่งการที่ ChatGPT ทำได้ดีกว่านักศึกษาที่มีผลการเรียนระดับปานกลางค่อนข้างสูงในขณะนี้ และ ทุกฝ่ายรู้ดีว่า ChatGPT ยังจะพัฒนาให้ดีมากกว่านี้อีกในอนาคต… การหาทางป้องกันการนำ ChatGPT มาใช้โดยทุจริตของนักเรียนนักศึกษาน่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่… ข้อมูลในมือผมขณะนี้เริ่มพบการพูดถึงกระบวนการ และ วิธีการตรวจสอบเรียงความของนักศึกษาบน ChatGPT เหมือนกับกระบวนการตรวจสอบเรียงความตามหลัก Plagiarism กันแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ… ความเห็น และ การจัดการของ Assist. Professor Antony Aumann ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจาก Northern Michigan University ต่อการนำใช้ ChatGPT เพื่อเชิงบูรณาการหลักสูตรเดิม โดยอาจารย์วางแผนว่าจะอนุญาตให้นักศึกษาใช้เรียงความจาก ChatGPT โดยนำเรียงความที่ได้มาวิพากษ์ และ ตรวจสอบโดยผู้เรียนแทน
โดยส่วนตัวมองว่า… ยังเร็วไปที่จะบอกว่า ChatGPT จะอยู่ตรงส่วนไหน และ ใช้สอยอย่างไรในระบบการศึกษา ซึ่งผมอยากเห็นงานวิจัยทางการศึกษาที่ผูก Setting สัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์ให้มากกว่านี้… โดยเฉพาะงานของนักวิจัยไทย!
References…