การเรียนการสอนกับการเล่นเกมส์ในมุมมองของผู้เรียน ช่างไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่การเรียนก็มีคะแนนและการเลื่อนชั้น เป็นความท้าทายแบบเดียวกับเกมส์ที่ล้วนใช้คะแนนและการเลื่อนชั้น หรือ Up Level เหมือนกัน
การเรียนการสอนช่วงประถมวัย ครูผู้สอนส่วนใหญ่ก็มักจะมอบดาวให้นักเรียนวัยอนุบาลได้สะสม เมื่อทำการบ้านหรือทำงานที่ครูสั่งเสร็จสิ้น… จากการสะสมดาว จะส่งผลไปถึงการสั่งสมพื้นฐานอ่านออกเขียนได้ เพื่อเติบโตเป็นเด็กประถมที่พร้อมจะเรียนรู้ทักษะสำคัญที่ซับซ้อนและยากขึ้น
ส่วนการเล่นเกมส์… เกมส์ส่วนใหญ่จะออกแบบอ้างอิง Difficulty Index ไล่จากง่ายไปหายาก มีชั้นหรือ Level ให้ไต่จากง่ายไปหายากเพื่อท้าทายผู้เล่นที่ต้องพัฒนาทักษะการเล่นไปกับเส้นทางในเกมส์ ผู้เล่นต้องได้ผ่านความบกพร่องผิดพลาด และผู้เล่นจะค้นหาหนทางเอาชนะความยาก ที่หลายกรณีคนออกแบบเกมส์จะรู้ว่า ผู้เล่นจะพลาดตรงไหนและเรียนรู้ว่าจะไม่พลาดได้ยังไง เพื่อ Up Level ไปเจอความยากขั้นถัดไปที่ดึงดูดและท้าทาย หลายกรณีก็จะมีการทิ้งคำใบ้หรือ Hint เอาไว้ให้ผู้เล่นเพื่อแบ่งเบาความยาก หรือไม่ก็มี Item พิเศษที่ต้องทำกิจกรรมบางอย่างแลกมา เพื่อใช้ข้ามด่านยากนั้นไป
ในเกมส์การเรียน… การ Up Level ถูกกรอบโดยวิธีคิดแบบ “ช่วงชั้น” อ้างอิงอายุผู้เรียนและทฤษฎีส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อใช้ประเมินผู้เรียนและให้คะแนนเพื่อผ่านช่วงชั้นปัจจุบันไปตามวัย
ข้อเท็จจริงก็คือ แบบอย่าง หรือ Pattern ของระบบการศึกษาถูกออกแบบไว้ไม่ต่างจาก Pattern ของเกมส์เลย… การพยายามเอาเกมส์มาใช้ทางการศึกษาและเอาการศึกษาสอดไว้กับเกมส์ จึงเป็นความพยายามหนึ่งของนักการศึกษายุคดิจิตอล
คำอย่าง Game Based Learning และ Gamification จึงสะท้อนก้องกังวาลขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลาที่เสียงท้วงติงจากนักการศึกษายุคคลาสสิค ต้องยินยอมเปิดทางออกให้ Social Distancing ที่วิกฤตโรคระบาดจัดสรรให้อย่างในปัจจุบัน ทำให้น้ำหนักความสำคัญ สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงการจัดการศึกษาสายดิจิตอลได้สะดวกขึ้นกว่าในอดีต
แต่ความยากจริงๆ ของการผลักดัน eLearning และ Digitized Education คือการพัฒนาสื่อที่ต้องมีคุณภาพพอที่จะดึงดูดผู้เรียน โดยเฉพาะสื่อสำหรับ Asynchronous eLearning และ Self Learning ทั้งหลาย
ระยะหลังๆ มานี้จึงมี Application และ Software สำหรับการทำ Gamification หรือทำบทเรียนให้เป็นเกมส์ได้ง่ายขึ้นเช่น App สั่งการบ้านออนไลน์เพื่อสะสมดาวหรือสติกเกอร์ไว้แลกคะแนนเก็บ ไปจนถึงแพลตฟอร์มแปลงบทเรียนไปเป็นเกมส์ที่มีคนในวงการการศึกษาพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง ClassCraft
ClassCraft เป็นแพลตฟอร์มออกแบบสื่อการสอนด้วยแนวทางการทำเกมส์ RPG หรือ Role Playing Game หรือเกมส์ที่ผู้เล่นสมมุติเป็นตัวละครในเกมส์ที่ผู้เล่นควบคุมอยู่ ซึ่ง ClassCraft จะมีเครื่องมือช่วยออกแบบให้ผู้สอน แทรกบทเรียนใส่ไว้ในเกมส์ได้ง่ายๆ เหมือนการทำ Presentation เตรียมสอน ซึ่งเป็นการใส่บทเรียนเอาไว้กับ Quest ในเกมส์ที่ผู้เล่นหรือนักเรียนต้องลงทะเบียนระบุตัวตน และเข้าไปผจญภัยในเกมส์เพื่อสะสม Quest ที่ผู้สอนในฐานะ Game Master เตรียมไว้ให้
โรงเรียน Dag Hammarskjold Middle School ในเมือง Wallingford ในรัฐ Connecticut สหรัฐอเมริกาถือเป็นกรณีศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้นำ ClassCraft มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างกว้างขวางในโรงเรียน และผลการเรียนที่ได้พบว่า นักเรียน 43% มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของรัฐคอนเน็กติคัสในวิชาภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยหรือค่า Mean ทั้งเมืองในระดับ 41%ในขณะที่ นักเรียน 29% มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของรัฐคอนเน็กติคัส ในการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหรือค่า Mean ทั้งเมืองที่อยู่ในระดับ 33%
ใน ClassCraft… นักเรียนจะถูกบันทึกข้อมูลเหมือนเข้าชั้นเรียน และเลือกตัวละครในเกมส์ได้ตามต้องการ ซึ่งตัวละครจะมีคุณสมบัติต่างๆ กันไป 3 แบบได้แก่ Healers, Warriors และ Mages โดย…
- Healers จะมีค่า HP หรือพลังชีวิต และค่า AP หรือทักษะที่สมดุล สามารถใช้ AP ฟื้นฟูพลังชีวิต หรือ HP ให้เพื่อนๆ ได้ และได้สิทธิ์ขอคำเฉลยจาก Game Master หรือผู้สอนได้
- Warriors จะมีค่า HP มาก ทำให้ตายยาก แต่มี ค่า AP น้อย แต่ก็สามารถช่วยเพื่อนร่วมชั้นให้รอดได้กรณีโดน Damage… แถมมีทักษะการกินขนมระหว่างเรียน ที่ Warriors แข็งแกร่งแต่ฮากว่าตัวละครอื่น
- Mages จะมีค่า HP น้อย แต่ AP มีมาก สามารถแชร์ AP ให้กับเพื่อนได้ ล่องหนได้เวลามาสาย ทำให้ไม่ถูกตัดแต้ม แถมยังเพิ่มเวลาทำข้อสอบได้เองด้วย ทำให้ Mages ออกแนวเจ้าเล่ห์พองาม


ข้อมูลตัวละครของนักเรียนทุกคน Game Master หรืออาจารย์ผู้สอน จะควบคุมข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ในระหว่างทำภาระกิจในเกมส์ ซึ่งก็คือระหว่างเรียน… หากนักเรียนเลือกใช้ AP ทำอะไรในเกมส์ก็แล้วแต่ ค่า AP จะถูกลบออกไป… หากมาสาย ขาดเรียน หรือไม่ส่งงาน ตัวละครก็จะโดน Damage ทำให้ค่า HP ลดลง ซึ่งค่า HP ลดลงเป็น 0 ถือว่าตัวละครตาย ส่งผลเสียต่อคะแนนการเรียนของเจ้าของตัวละครคนนั้น และยังส่งผลเสียต่อคะแนนของเพื่อนคนอื่นๆในห้องด้วย… ดังนั้นนักเรียนจะต้องพยายามช่วยกัน ไม่ให้ตัวละครเพื่อนร่วมห้องตาย แต่ถ้าทุกคนเรียนดี มาเข้าเรียนตรงเวลา ส่งงานครบ มีผลงาน ก็จะได้รางวัลเป็นค่าประสบการณ์ หรือ XP สะสมไว้เพื่อให้ตัวละคร Up Level ได้… นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชั่นเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เครื่องแต่งกายและ Item แนวทางเดียวกับเกมส์ ที่มีไว้เพื่อ Engage นักเรียนเหมือนเกมส์คอมพิวเตอร์ทั่วไป
Classcraft สร้างโดยอาจารย์สอนฟิสิกส์ชาวแคนาดาชื่อ Shawn Young ซึ่งนอกจากจะเป็นอาจารย์แล้ว ยังเป็น Software Developer และ Startup ที่ประสบความสำเร็จจากแพลตฟอร์ม ClassCraft ไปเรียบร้อยแล้ว… ปัจจุบัน ClassCraft ให้บริการฟรีแบบจำกัดฟังก์ชั่นใช้งาน และแบบลงทะเบียนรายปี และแพคเกจสำหรับโรงเรียนด้วย
Co-founder and CEO of Classcraft
Assistant Professor Dr.Christopher Devers นักวิจัยด้านการศึกษาแห่ง Johns Hopkins University School of Education ให้ความเห็นว่า การใช้เกมส์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ “เป็นผลลบต่อนักเรียน” มากกว่า
แต่นักการศึกษาฝั่ง Game Based Learning และ Gamification มองว่า… การสื่อสารบทเรียนผ่านแพลตฟอร์มเกมส์ในหลายกรณีดึงดูดผู้เรียนได้ดีกว่า เพราะ Gamification ไม่ได้เป็นการเล่นเกมส์เพื่อความบันเทิง แต่เป็นการค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองตามกรอบที่หลักสูตรหรือครูผู้สอนวาง Quest ให้นักเรียนได้ค้นพบ เรียนรู้และแบ่งปันกัน และยังอ้างว่า หากวางกรอบการประเมินความรู้ด้วยบริบทการเรียนด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริงก็จะทราบว่า… ทักษะความรู้ในมิติของการใช้สื่ออ้างอิงการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่ผู้เรียนหรือนักเรียนคุ้นเคย ชื่นชอบและพร้อมทุ่มเท มีประสิทธิภาพมากกว่าในหลายๆ ด้าน ซึ่งการศึกษาแบบดั้งเดิมที่ยืดยุ่นน้อย ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้กว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว
ประเด็นก็คือ ClassCraft สามารถใช้ทำ Game Based Learning และ Gamification ในโรงเรียนได้จริง ซึ่งการบ้านและงานที่ครูสั่งจะอยู่ในรูปของ Quest ที่ท้าทายในเกมส์ที่เป็นภาระกิจร่วมกันของเพื่อนร่วมชั้น… ตอนหน้าจะพาไปตามดูกรณี Quest to Learn หรือ Q2L ที่เป็นกรณีศึกษาเรื่อง Game Based Learning จาก New York ครับ
อ้างอิง