Content is King… คำพูดอมตะของ Bill Gates ที่เคยบอกแนวโน้มของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเอาไว้ตั้งแต่กลางยุค 90 ที่ยิ่งนานวันยิ่งเป็นจริงและเห็นชัดว่า… สิ่งที่เรียกว่า Contents มากมายถูกผลิตขึ้น เผยแพร่และแจกจ่ายตลอดเวลา ที่แม้แต่การพูดคุยสื่อสารในยุคโซเซียลมีเดีย ก็ยังมีพูดคุยทักทายหรือแม้แต่คิดพูดคนเดียวก็ทำขึ้นเป็น Content… เป็นข้อความบ้าง เป็นเสียงบันทึกไว้และส่งต่อบ้าง เป็นภาพ เป็นคลิปวิดีโอที่กลายเป็นรูปแบบการสื่อสารด้วย Contents จนเราไม่รู้สึกตัว
การใช้ชีวิตแบบผลิตและเผยแพร่ Contents คือรากฐานของแพลตฟอร์มที่เติบโตมีมูลค่ามหาศาล จนหลายแพลตฟอร์มยังประมาณมูลค่าที่แท้จริงไม่ได้ด้วยซ้ำ… นับแค่ Facebook, Line, Instagram ที่เป็นแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียอย่างเดียวก็ประเมินมูลค่าจริงๆ ไม่ถูกกันแล้ว… ซึ่งวันนี้เราจะข้ามเรื่องประเมินมูลค่าหรือราคาแพลตฟอร์มทั้งหลายไปดูสิ่งที่แพลตฟอร์มทั้งหลาย จัดการ Contents เพื่อให้ข้อความหรือรูปภาพที่เราโพสต์เข้าไปในแพลตฟอร์ม ถูกเก็บและถูกจัดการแบบไหนอย่างไร
บทความตอนนี้จะว่าเป็นตอนต่อของ xAPI Authoring Tools… ที่แนะนำเครื่องมือสร้าง Contents เพื่อการศึกษา หรือ eLearning ไปก่อนหน้านี้ก็ไม่ผิด วันนี้ก็เลยต้องเล่าต่อเพื่อให้เห็นภาพต่อมา หลังจากทำบทเรียนออนไลน์ หรือ eLearning Contents เสร็จแล้วจะทำยังไงกันต่อ ซึ่งก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ก็แค่โพสต์เข้าไปในระบบที่รองรับ eLearning Contents เหมือนๆ กับที่เราโพสต์ข้อความใส่รูปเข้าไปใน Facebook นั่นแหละครับ… เพียงแต่หน้าตาของช่องรับข้อมูลหรือ User Interface ก็คงเป็นคนละอย่างกับ Facebook เพราะเป็นคนละแพล็ตฟอร์มกัน… รายละเอียดต่างๆ ก็ไม่มีทางเหมือนกัน เพราะเนื้อหาสาระหรือ Contents ก็ถูกสร้างด้วยจุดประสงค์และคุณค่าที่แตกต่างกัน
การจัดการของแพล็ตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ eLearning Platform จะถูกเรียกว่า Learning Management Systems หรือ LMS โดยในทางเทคนิคแล้ว LMS ถือเป็น CMS หรือ Contents Management Systems ชนิดหนึ่ง… ในปัจจุบันเราจึงเห็น LMS ใช้งานเป็น CMS ที่ไม่ต้องใส่ข้อสอบหรือแบบฝึกหัดก็ได้… ซึ่ง Contents แบบที่ไม่มีการทดสอบหรือประเมินความรู้ หลายๆ กรณีไม่มีอะไรแตกต่างจาก Contents เวบสำนักข่าวหรือ Blog มากมายในอินเตอร์เน็ต… ที่สำคัญก็คือ Contents แบบทั่วไปก็มีใช้บน LMS Platform เป็นพื้นฐานเช่นกัน ซึ่งบทเรียนแบบ Asynchronous Learning มักใช้แทรกเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนร่วมกับสื่อ Multimedea แบบอื่นๆ ด้วย… และ CMS Platform ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต่างก็มี Plugin หรือ Module สำหรับขยายขีดความสามารถของ CMS ให้รองรับการใช้งานเป็น LMS ได้หมดเช่นกัน
ซึ่งคุณสมบัติหลักๆ ที่ LMS ต้องมีก็ได้แก่… การระบุตัวตนสมาชิกหรือ Users… การระบุตัวตนของผู้สอน… การบันทึกและรายงานกิจกรรม หรือ Activities Log ของทั้งผู้เรียนและผู้สอน… รวมทั้งระบบวัดความรู้และการประเมินผลของผู้เรียน และที่ขาดไม่ได้คือระบบจัดการบทเรียนและเนื้อหา หรือ Contents Management Systems นั่นเอง


ภาพของ LMS จึงมีระบบนิเวศน์เชิงลึกที่มีมิติกว่าโซเซี่ยลมีเดียหรือ Blog และเวบไซต์ธรรมดามาก ทั้งๆ ที่ Blog และเวบไซต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันล้วนสร้างบนพื้นฐานของ CMS เหมือนๆ กับ LMS ที่พัฒนาต่อจาก CMS ทั้งสิ้น… ถ้าจะเปรียบ CMS เป็นบ้านที่มาฐานรากเสาฝาและหลังคาให้คนอาศัยข้างในได้… LMS ก็คงเป็นโรงเรียนที่สร้างบนฐานรากเสาฝาและหลังคาให้ครูเอาไว้สอนนักเรียนนั่นเอง
นานมาแล้วที่ผมเคยเอา LMS และ eLearning ไปบรรยายให้หลายๆ ท่านในแวดวงการศึกษาฟัง… ซึ่ง LMS ในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังมีเสาอากาศเป็นติ่งยื่นออกมาเป็นคืบและฮอตฮิตกับมือถือทรงกระดูกหมาอยู่… LMS แบบที่ผมเตรียมไปบรรยายวันนั้น จึงถูกนักวิชาการทั้งห้องวิพากษ์ด้วยมุมมองจากวิชาครุศาสตร์ ที่ LMS เป็นแค่ชีทความรู้แบบอิเลคทรอนิคส์ ที่ผมต้องยอมรับว่า… ชั่วโมงนั้นผมไม่มีอะไรเถียงท่านเหล่านั้นได้เลย… เพราะในยุคนั้น แค่คู่สายโทรศัพท์ที่ต้องใช้ต่อโมเด็มก็หายากไม่ธรรมดา การเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ตจึงเป็นไปไม่ได้ในสายตาทุกท่านที่มาฟัง เพราะไม่มีใครคิดออกเลยว่า อินเตอร์เน็ตในมือถือและ Vcall หรือ Video Call จะง่ายเหมือนในปัจจุบัน
แต่ในวิกฤต COVID คราวนี้… เมื่อมองจากมุมของการผลักดันให้เกิด eLearning ผมคิดว่า… ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ไม่เตะถ่วงรั้งรอและปล่อยให้เกิดดับตามธรรมชาติ… ส่วนหลังจบวิกฤตคราวนี้ยังมีเหตุอะไรให้ต้องกลับไปเหมือนเดิมอีกนั้น ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายทุกท่านที่เกี่ยวข้องคงคิดและไตร่ตรองอย่างดีแล้ว… สิ่งที่ต้องย้ำมีอยู่แง่เดียวที่จะฝากก็คือ… eLearning เกิดมาจากโปรแกรมการฝึกนักบินครับ หากท่านติดขัดคัดง้างอ้างความเป็นไปไม่ได้ในกรณีใดๆ… ได้โปรดศึกษาเทียบเคียงจากโปรแกรมฝึกนักบินที่ปัจจุบันแตกออกไปถึงการฝึกบินเพื่อเดินทางออกนอกโลก หรือใช้ชีวิตอยู่กับแรงโน้มถ่วงประดิษฐ์ หรือ Artificial Gravity กันแล้วครับ
พรุ่งนี้จะเอาข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับ LMS/CMS ที่ผมชอบแนะนำหลายๆ ที่ให้ศึกษาและนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ที่เกือบทั้งหมดปรับไปใช้ eLearning กับการฝึกอบรมพนักงานกันนานมาแล้ว ส่วนในแวดวงการศึกษาผมคงพูดไม่ได้ว่าผมได้แนะนำใครไป เพราะครั้งสุดท้ายที่บรรยายคราวนั้น ผมก็ตกงานจากฝั่งครุศาสตร์จนไม่ได้ผุดได้เกิดอีกเลย