แนวคิดเรื่อง Co-creation ในแวดวงธุรกิจมีมานานนับสิบปี จากความพยายามที่จะเข้าถึง Insight ของลูกค้า ด้วยการทำ Co-creation ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า และความพยายามที่จะสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจ จนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก หันมาร่วมมือกันสร้างธุรกิจ ด้วยการแลกเปลี่ยนแบ่งปันไอเดียไปจนถึงแบ่งปันตลาดและยอดขาย
เรื่องราวการทำ Co-creation ของแบรนด์อย่าง IKEA ที่เอาจริงเอาจังกับการเปิดพื้นที่ให้เกิด Co-creation ในหลายประเทศ เพื่อร่วมมือกับแบรนด์ท้องถิ่นและผู้คน ผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดชั้นเซียน ที่ทำให้แบรนด์สามารถฝัง DNA ของท้องถิ่นใส่สินค้าได้ทันที… กรณี IKEA Co-creating with Australia’s Future Designers ที่ต้อนรับนักศึกษาในออสเตรเลีย เข้าร่วมออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือกรณี IKEA x Greyhound ซึ่งแบรนด์ Greyhound หรือ เกรย์ฮาวด์ แบรนด์แฟชั่นและร้านอาหารโดยคุณภานุ อิงคะวัต ได้รับการทาบทามเข้าร่วมพัฒนาสินค้ากับ IKEA จนได้สินค้า Collection ใหม่ๆ สร้าง S-Curve ให้ธุรกิจทั้งคู่ เติบโตต่อยอดได้อีกระลอก
กรณีศึกษาเรื่อง Co-creation จากฝั่งธุรกิจ ผมมีเรื่องเล่าอีกมากที่จะเอามาเล่าแบ่งปัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จทั้งสิ้น ตัวอย่างแบรนด์เครื่องมือช่างชื่อดังอย่าง DeWalt… กรณีของเล่น LEGO… หรือกรณีเบียร์ Heineken ที่จริงจังกับ Heineken Concept Club…
แต่วันนี้เก็บเรื่อง Business Co-creation เอาไว้ก่อนเพราะไม่ใช่ของใหม่ที่จะเล่าเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เล่าเมื่อไหร่ก็มีคนสนใจมากมายเสมอ แต่… Co-creation Learning เป็นเรื่องใหม่เอี่ยมและน่าสนใจกว่ามาก ในห้วงเวลาที่การศึกษาทั้งระบบเจอ Covid Disruption เข้าไปเต็มๆ
งานวิจัยเรื่อง Co-Creation in Higher Education: Towards a Conceptual Model พูดถึงความกระตือรือร้นของนักเรียนที่จะมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับนักการศึกษา หรือ Educators ในแนวทางการมองผู้เรียนเป็นหุ้นส่วนการศึกษา เพื่อรวมทรัพยากรของสถาบันการศึกษา เข้ากับความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทรัพยากรและสติปัญญาของผู้เรียน เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า Value Co-creation หรือคุณค่าจากการสร้างสรรค์ร่วมกัน
“แนวคิดมองผู้เรียนเป็นหุ้นส่วน” อาจจะล้ำหน้าเกินสภาพความเป็นจริงในหลายๆ บริบททางการศึกษาในปัจจุบัน เพราะในการเรียนการสอน ผู้เรียนหรือนักเรียนส่วนน้อยมากๆ ที่จะกระตือรือร้นกับความรับผิดชอบการศึกษา และตระหนักได้ถึงขั้น “รับผิดชอบในฐานะหุ้นส่วน”
ซึ่งทัศนคติ “ร่วมรับผิดชอบการเรียนการสอนและผลการเรียน” ของผู้เรียน ไม่ใช่เรื่องหน้าที่หรือสำนึก หรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์ด้วยซ้ำ… แต่น่าจะเป็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หลอมรวมกันจนเป็น “วัฒนธรรมการเรียนรู้ หรือ Learning Culture” ซึ่งคนสอนและคนเรียนต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองไป
ประเด็นก็คือ… ฝั่งองค์กรธุรกิจล้วนตื่นตัวเรื่อง Learning Culture “เพื่อเข้าใจและได้ใช้ความรู้ใหม่ๆ” เป็นฐานไปสู่การเติบโตและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น… ด้านหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ภาคธุรกิจกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเชื่อมต่อกันสำเร็จไปแล้ว จนหัวหน้าลูกน้องและนายจ้างลูกจ้าง ต่างหาทางศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์
ในขณะที่ภาคการศึกษาเองยังมี Learning Culture แบบตัวใครตัวมัน และหน้าที่ใครหน้าที่มันอยู่ โดยเฉพาะ “หน้าที่สอนกับหน้าที่เรียน” ที่คนต่างหน้าที่สองคนมาเจอกัน เพื่อทำภาระกิจคนละอย่าง ในสถานที่และเวลาเดียวกันเพื่อให้เสร็จๆ ไปตามกรอบเวลาเท่านั้น… สารภาพก็ได้ครับว่า สมัยเด็กๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนรอเสียงออดหมดเวลาไม่ต่างจากเพื่อนหลายๆ คนที่โตมาด้วยกัน… เรื่องคิดที่อยากจะทำอะไรสร้างสรรค์ร่วมกับครูอาจารย์ไม่มีอยู่ในหัวซักนิด และยืนยันได้ว่าในหัวเพื่อนๆ ผมก็ไม่มี
สาระสำคัญของแนวคิดเรื่อง Co-creation Learning จากงานวิจัยเรื่อง Co-Creation in Higher Education: Towards a Conceptual Model คือการสร้างโมเดลที่ชื่อว่า Value Co-creation ขึ้นจากขบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Co-creation ซึ่งเป็นแนวคิดที่ประยุกต์มาจากการทำ Co-creation ของภาคธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็มีคำสองคำที่สำคัญกับการศึกษาอยู่ นั่นก็คือ Knowledge Sharing หรือแบ่งปันภูมิรู้ และ Experience หรือประสบการณ์
แต่ประเด็นสำคัญมากๆ ก็คือ… เมื่อนำ Knowledge Sharing กับ Experience และองค์ประกอบอื่นๆ มาผ่าน Co-creation จะได้ Knowledge, Innovation และ Relational เหมือนในภาพประกอบ Value Co-creation Model ที่หลายอย่างเกิดทันทีระหว่างกระบวนการ เช่น Innovation หรือนวัตกรรมการเรียนรู้แลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นนวัตกรรมแบบเทคนิคหรือวิธีการ “ผสมผสาน หรือ Blend” จากตัวแปรเชิงบวกทั้งของผู้สอนและนักเรียน… ซึ่งการจะ Blend กันได้ย่อมเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน ภายใต้ประสบการณ์ร่วมกัน
ความจริง Value Co-creation Model จากงานวิจัย Co-Creation in Higher Education: Towards a Conceptual Model ยังมีช่องว่าง หรือ Gap สำหรับต่อยอดพัฒนาโมเดลอีกมากทีเดียว ตอนหน้ามาถอดตัวแปรเพื่อทำ Pre-creation แบบ Reder ดูด้วยกันครับ!
อ้างอิง