ข้อเท็จจริงในบริบทการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้น สถาบันการศึกษาและครูอาจารย์ต่างก็หาทางนำสื่อดิจิทัล มาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนกันอย่างกว้างขวาง แม้แต่กิจกรรมการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย ก็ยังมีการใช้สื่อดิจิทัลมัลติมีเดีย เพื่อประกอบกิจกรรมในการเรียนการสอนกันอย่างคึกคัก…
ส่วนการเรียนการสอนในระดับเด็กโตและอุดมศึกษาขึ้นไป จึงได้เห็นการใช้สื่อดิจิทัลประกอบการส่งมอบความรู้ ไปพร้อมๆ กับการใช้แพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้ เพื่อเชื่อมต่อผู้เรียนกับผู้สอนเข้าหากัน… หลายกรณีแม้ไม่เจอตัวพบหน้า แต่ก็ใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ต้องจำกัดและกำหนดกรอบเวลา แต่องค์ความรู้ก็ยังมีอยู่เพียงพอครบถ้วน ตลอดเวลาที่พร้อมจะเรียน… และข้อดีอีกมากมายที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเติมช่องว่างที่บกพร่องอยู่ก่อน ให้หดลงหรือหายไปจนไม่เป็นปัญหาใหญ่อีก
เมื่อบริบทการเรียนการสอนเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยปริยาย… องค์ความรู้ทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สาร หรือ Message” ที่ผู้สอนถ่ายทอดไว้เพื่อส่งมอบให้ผู้เรียน จึงกลายเป็นข้อมูลดิจิทัลไปด้วยโดยปริยาย พร้อมคุณสมบัติทางดิจิทัลเรื่องการแบ่งปันแจกจ่ายและสำเนาได้ไม่จำกัด จนทำให้องค์ความรู้จากผู้สอนคนหนึ่ง ถูกแบ่งปันสู่ผู้สอนคนอื่นๆ รวมทั้งผู้เรียนที่มีความสามารถในการโน้มน้าวให้ตนเรียนรู้ หรือ Self-Motivated Learners… สามารถใช้สื่อดิจิทัล หรือ Digital Media ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองได้… ง่ายขึ้นมาก!
การแบ่งปันองค์ความรู้จากหนึ่งสู่อนันต์ โดยมีองค์ความรู้ในรูปสื่อดิจิทัลนี้เอง ได้เปลี่ยนบริบทการเรียนรู้ที่เคยได้จากผู้สอนทางเดียว ไปสู่บริบทสายสัมพันธ์ที่มีมากกว่า “ผู้สอน–ผู้เรียน” จนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายจากใครก็ได้ที่เรารู้จัก จนเกิดโครงสร้างการเรียนรู้แบบ Peer–To–Peer ขึ้นในที่สุด
Peer–To–Peer Learning ซึ่งพัฒนาบน Peeragogy Theory จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ผ่านบริบททางเทคโนโลยีในกิจวัตรของผู้คน ที่เปลี่ยนแปลงไปเองโดยธรรมชาติตามพัฒนาการของสังคมเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งกระทบและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับวิสัยทัศน์ทางการศึกษา ไปจนถึงพฤติกรรมผู้เรียนผู้สอนทุกคน
คำกล่าวของ Howard Rheingold ในฐานะผู้ริเริ่ม Peeragogy Theory และค้นคว้าทดลองกับแนวทาง Peeragogical Learning จนพบรูปแบบการพัฒนาความรู้ที่ “ง่ายขึ้นกับทุกคน” ได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเขาค้นพบอย่างสำคัญว่า… เมื่อถ่ายเทแนวทางและรูปแบบการสอนไปให้ผู้เรียนมากขึ้น กระตุ้นพวกเขาเพิ่มขึ้น ผู้เรียนทั้งหมดจะแสดงให้เราเห็นวิธีการตอบสนองบทเรียนได้ถึงขั้น “ออกแบบแนวทางการสอนใหม่ในแบบของพวกเขา” เลยทีเดียว
กลยุทธ์การถ่ายเทบทบาทและภาระการสอนที่เหมาะสมไปสู้ผู้เรียน และกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองให้ผู้เรียนสามารถแสดงบทบาทได้มากกว่าแค่เป็นผู้เรียนนี้เอง ที่ทำให้เกิดบริบทการเรียนการสอนแบบ Peer–To–Peer ขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า Co-Teaching
งานวิจัยทางการศึกษาในหัวข้อ Collaboration in Special Education โดย Professor Dr.Lynne Cook ผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาเฉพาะทาง จาก California State University และ Associate Professor Dr.Marilyn Friend ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการศึกษา จาก Northern Illinois University ได้ให้นิยามเกี่ยวกับ Co-Teaching ไว้ว่า… Co-Teaching เป็นกิจกรรมทางเลือกในบริบทการเรียนการสอนบนความร่วมมือร่วมแรง หรือ Collaboration… Co-Teaching จึงเป็นการออกแบบบริบททางการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนด้วยทางเลือกการเรียนการสอนอันหลากหลาย
เวบไซต์ CTSERC.ORG ของ State Education Resource Center ได้สรุปแนวทางการทำ Co-Teaching ในกิจกรรมการเรียนสอน อ้างอิงแนวทางของ Dr.Lynne Cook เอาไว้ทั้งหมด 6 แนวทางคือ
- One Teach, One Observe หรือ คนหนึ่งสอนอีกคนหนึ่งเฝ้าสังเกต
- One Teach, One Assist หรือ คนหนึ่งสอนอีกคนหนึ่งช่วยสอน
- Parallel Teaching หรือ สอนขนานกันไป
- Station Teaching หรือ สอนด้วยกิจกรรมฐานการเรียนรู้
- Alternative Teaching หรือ สอนด้วยทางเลือกเฉพาะ
- Team Teaching หรือ สอนร่วมกันเป็นคณะ
ขอไม่ลงรายละเอียดหรือพูดถึงตัวอย่างน๊ะครับ เพราะผมเชื่อว่าท่านที่สนใจอ่านบทความนี้มาจนถึงท่อนนี้… น่าจะเห็นภาพและเชื่อมภาพกับประสบการณ์ของท่านได้ดีกว่าผมแน่นอน และเชื่อว่าท่านสามารถนำแนวทางไป “ประยุกต์และทดลองใช้” ได้โดยตรงกับนักเรียนของท่านแน่นอนถ้าท่านต้องการ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… Co-Teaching ที่หน่วยงานกลางด้านทรัพยากรทางการศึกษา หรือ State Education Resource Center แนะนำทั้ง 6 แนวทางนี้ มีข้อมูลชัดเจนว่า… “ได้ผ่านการทดลองใช้กับกลุ่มผู้เรียนหลากหลายช่วงวัย ไม่เว้นแม้แต่กับนักเรียนปฐมวัย”
ส่วนบริบท Co-Teaching ที่ถูกประยุกต์เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง P2P Learning นั้น… สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างสำคัญคือ บทบาทของผู้เรียนที่ต้องพัฒนาความรู้ของตนเองร่วมกับเพื่อนเรียนและผู้สอน จนถึงขั้นสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นใหม่ ไปสร้างสรรค์ หรือ Created… ซึ่งเป็นขั้นที่สามารถนำมาบอกเล่าถ่ายทอด หรือสอนผู้อื่นต่อได้… และถือเป็นขั้นสูงสุดของ Bloom’s Digital Taxonomy หรือ ขั้นตอนการเรียนรู้ของบลูมดิจิทัล… ส่วนในกรณีของผู้เรียนวัยเยาว์และผู้ที่ยังขาดแรงจูงใจเพื่อการเรียนรู้ส่วนตนนั้น กลุ่มผู้สอนเองก็ยังสามารถทำ Co-Teaching ใน Teachers’ Peer ระหว่างกันได้ทั้งทางใกล้และทางไกลทีเดียว
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bloom’s Digital Taxonomy จากบทความเรื่อง Digital Education ปฐมบท… Bloom’s Digital Taxonomy
สุดท้ายนี้… โดยส่วนตัวก็เพิ่งจะเริ่มศึกษา Peer–To–Peer Learning และ Co–Teaching อย่างจริงจังช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมานี้เองครับ… กรอบแนวคิดไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ใหม่มากสำหรับธีมด้านการศึกษาของโลกที่ยังต้องพัฒนาและปรับอะไรๆ อีกมาก… แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อว่าติเตือน Add Line ด้วย QR ข้างล่างครับ ทักเข้ามาตามอัธยาศัย… และขอบพระคุณสำหรับสติกเกอร์ไลค์และการกดแชร์จากทุกท่านครับ
References…
- https://ctserc.org/component/k2/item/50-six-approaches-to-co-teaching
- https://www.effectiveinstitutions.org/media/The_EIP_P_to_P_Learning_Guide.pdf
- http://wiki.p2pfoundation.net/Peeragogy
- https://clalliance.org/blog/toward-peeragogy
- https://edtechreview.in/dictionary/261-what-is-peeragogy
2 replies on “Co-Teaching and Peer Learning… บริบทการเรียนรู้ด้วยกลไกการเรียนการสอนใหม่”
น่าสนใจมากค่ะ ตรงกับทีใช้สอน นักศึกษาเลย ใช้การสอนแบบนี้มานานแล้ว
ขอบคุณครับ