Cognitive Dissonance… เมื่อข้อเท็จจริงที่รับรู้ไม่ลงรอยกับสิ่งที่เชื่อ #SelfInsight

ความเชื่อกับความเคยชินของทุกคนที่ “เกิดมานาน และ มีประสบการณ์มามาก” หลายความเชื่อถูกข้อมูลข่าวสารในยุคที่ข้อมูลสามารถอธิบาย บอกเล่า หรือ อาจจะถึงขั้นเปิดโปงข้อเท็จจริงอีกด้านที่ความเชื่อเก่าๆ ถูกหักล้างจน “ข้อมูลเก่าบนความเชื่อเดิม” ได้กลายเป็นข้อมูลบิดเบือน หรือ อาจจะถึงขั้นกลายเป็นข้อมูลเท็จไปเลยได้

โลกที่พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจึงมีคนกลุ่มที่กล้าปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และ ชำระข้อเท็จจริงให้ตนได้รับรู้ถึง “วิวัฒนาการที่เปิดเผยข้อเท็จจริงใหม่” ซึ่งมักจะนำคนๆ นั้นไปสู่การพัฒนาตนเองจนปรับตัวได้ดีกว่าเดิมได้อีกเรื่อย ซึ่งจังหวะชีวิตที่คนๆ นั้นเกี่ยวข้องก็มักจะวิวัฒนาไปกับข้อเท็จจริงใหม่… 

แต่กับคนบางกลุ่มที่ลังเล หรือ อาจจะถึงขั้นต่อต้านข้อมูลใหม่ ซึ่งข้อเท็จจริงใหม่ได้ขัดแย้งกับ “ความเชื่อเดิม” โดยหลายกรณีกลายเป็นคนปิดหู ปิดตา หรืออาจจะถึงขั้นปิดใจไม่ยอมรับรู้รับฟังเพื่อให้ตนเท่าทัน “โลกทัศน์” ที่กว้างใหญ่ออกไปกว่าที่ตนเคยรู้… ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้กลายเป็นกะลาใบน้อยครอบทับตนเองด้วยความเชื่อเดิมให้ตนได้พิงใจจนตายจากไป

ความขัดแย้งในกรณีความเชื่อเก่า กับ ข้อมูลใหม่ที่ขัดแย้งกันซึ่งกระทบการรับรู้ของคนๆ หนึ่ง โดยต้องเลือกว่าจะยอมรับว่าตนเคยเชื่อมาไม่ถูกต้อง และ ข้อมูลใหม่ได้ช่วยให้ความคิด ความเชื่อ และ สติปัญญากระจ่างแจ้งกว่าเดิม… หรือไม่ก็ยืนยันว่าความเชื่อของตนไม่เคยผิด และ ตั้งแง่กับข้อมูลใหม่ที่ย้อนแย้งความเชื่อเดิม และ หาเหตุผลมาหักล้างง้างงัดให้ตนยอมรับความเชื่อของตนโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง… ซึ่งในทางจิตวิทยาจะเรียกการรับรู้ใหม่ที่ขัดแย้งกับความเชื่อเก่าที่คนๆ หนึ่งเลือกจะเชื่อแบบเก่าทั้งที่รู้เต็มอกว่ามันไม่ถูกนี้ว่า… Cognitive Dissonance หรือ ความไม่ลงรอยทางการรับรู้ หรือ ความไม่ลงรอยทางประชาน

ทฤษฎี Cognitive Dissonance ถูกเสนอโดย Leon Festinger นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันผู้ตีพิมพ์หนังสือ When Prophecy Fails: A Social and Psychological Study of a Modern Group That Predicted the Destruction of the World ซึ่ง Leon Festinger ซึ่งได้รวบรวมข้อมูล และ ศึกษาวิจัยจากปรากฏการณ์คำทำนายของ Dorothy Martin หรือ Marian Keech ผู้ทำนายวันสิ้นโลก และ เอ่ยอ้างเรื่อง UFO จากดาว Clarion จะมารับเธอ และ สาวกไปจากโลกที่กำลังสิ้นสูญจากน้ำท่วมใหญ่ในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 1954… ซึ่ง Dorothy Martin และสาวกของเธอได้มารวมตัวกันที่บ้านของเธอ และ รอการมาของ UFO ซึ่งผิดนัดโดยไร้ร่องรอย… แต่สาวกของ Dorothy Martin ก็ยังเชื่อตามคำอ้างที่พูดใหม่ว่า UFO นัดวันมารับใหม่เป็นวันคริสมาสอีฟ และ สาวกส่วนใหญ่ก็มารอโดยสาร UFO ที่บ้านของ Dorothy Martin อีกครั้ง และ UFO ก็ผิดนัดอีกครั้ง และ วันสิ้นโลกก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง… แต่สาวกของ Dorothy Martin ก็ยังเชื่อมั่นคำทำนาย และ การกล่าวอ้างของเธอเป็นจำนวนมากจน Dorothy Martin ตายจากไปในปี 1992

Leon Festinger กับ Henry Riecken และ Stanley Schachter ซึ่งร่วมกันตีพิมพ์หนังสือ When Prophecy Fails ได้อธิบายปรากฏการณ์ Dorothy Martin ว่าเกิดขึ้นจาก “ภาวะความไม่ลงรอยทางการรับรู้ หรือ Cognitive Dissonance” ซึ่งทั้ง Dorothy Martin และ สาวกของเธอจะหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อชุดเดิมของตัวเองและกลุ่ม เพื่อเป็นการปกป้องจิตใจไม่ให้เกิดบาดแผลจากความผิดหวัง และ เพื่อหล่อเลี้ยงให้ตัวเองยังคงเชื่อแบบนั้นต่อไป โดยไม่แยแสข้อเท็จจริง หรือ แม้แต่คำเย้ยหยันโต้แย้งที่ต่างจากนั้น

Leon Festinger ยังอธิบายอีกว่า “ภาวะความไม่ลงรอยทางการรับรู้ หรือ Cognitive Dissonance” ในกรณีของ Dorothy Martin เกิดขึ้นจากปัจจัยทางสังคมด้วย โดยเฉพาะความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ตรงกับความเชื่อภายในกลุ่มของ Dorothy Martin… สิ่งที่ต้องทำคือพยายามเผยแพร่เหตุผลที่มาสนับสนุนความเชื่อของตนให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้คิดผิด เชื่อผิดๆ แน่นอน

เหตุการณ์แบบเดียวกับกรณีของ Dorothy Martin ที่เห็นชัดที่สุดในปัจจุบันกรณีหนึ่งก็คือ ความเชื่อเรื่องวัคซีนโควิดของคนบางกลุ่ม ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนเทพ หรือ วัคซีนทาสแม้แต่เข็มเดียว เพื่อปกป้องความเชื่อของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยว แถมหลายคนยังเย้ยหยันปั่นความคิดคนอื่นที่ต่างออกไปจากความเชื่อตนว่ารู้น้อยและคิดไม่ถูกก็มี

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกรณีของหลายคนที่อาจจะเรียกว่า “ดื้อด้านการรับรู้ หรือ เย่อหยิ่งในความเชื่อของตัวเอง”  ซึ่งในท้ายที่สุดก็คนเหล่านี้มีร่องรอยของความไม่ปกติสุขอยู่ในชีวิตเสมอ เช่น…

  • อึดอัดสับสนก่อนจะทำอะไร หรือ ตัดสินใจอะไรยากๆ หรือ ซับซ้อน
  • หมดเวลาไปกับความพยายามในการให้เหตุผล หรือ หาเหตุผลมาเข้าข้างการตัดสินใจ หรือ การกระทำของตนเอง ถึงแม้ว่าจะถูกสังคมรอบข้างแสดงให้รู้ชัดเจนว่าอยู่คนละขั้ว
  • มักจะรู้สึกอาย หรือ ละอายกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว โดยจะพยายามซ่อนการกระทำ หรือ ผลของการกระทำจากการรับรู้ของคนอื่น
  • รู้สึกผิด หรือ เสียใจกับสิ่งที่เคยทำ หรือ เสียใจกับการตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่ถูกมาก่อนในอดีต
  • กลายเป็นคนขี้กังวล และ หดหู่กับแรงกดดันทางสังคมเมื่อไม่ได้ทำตามอย่างความเชื่อของตน หรือ ทำตามอย่างที่สังคมส่วนใหญ่กำลังทำ หรือ ได้กลายเป็นคนกลัวที่จะพลาด หรือ FOMO หรือ Fear Of Missing Out แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ใช่สิ่งที่อยากทำเลยก็ตาม

ประเด็นก็คือ… ชีวิตปกติของคนเราไม่ได้ยุ่งยากมากนัก หากไม่ได้จะพยายามท้าทาย หรือ ต้านทานข้อเท็จจริงที่รู้อยู่เต็มอกว่าจริง ซึ่งบางครั้งความจริงก็สามารถอยู่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ หรือ แม้แต่สถานะจริงแบบ “คนหลงทาง” จนมาไกลมากกว่าจะรู้ตัวก็ได้… ถึงแม้การดันทุรังไปต่อ หรือ กลับหลังหันเพื่อย้อนไปให้ถูกทาง อาจจะไม่ได้หนักศีรษะใคร หรือ ทำให้คนใครเสียหายเพราะเป็นสิทธิ์ส่วนตัว หรือ เรื่องของกูล้วนๆ ที่จะเลือกทางและการตัดสินใจของตัวเอง… แต่ “การรับรู้ที่รู้อยู่เต็มอก” ว่ามาผิดทางจากความจริงนั้น… ลึกๆ ในใจก็มักจะ “กลัวจนไม่กล้า” ที่จะเปลี่ยนอะไรมากกว่า!!!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts