Cognitive Flexibility… คิดและทำอย่างไรให้ยืดหยุ่น  #SelfInsight

ท่ามกลางสถานการณ์รอบด้านที่เกิด VUCA หรือ Volatility Uncertainty Complexity and Ambiguity หรือ ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และ คลุมเครือ ซึ่งกระทบชีวิตประจำวัน และ อาชีพการงานของทุกคนจากสถานการณ์เก่าที่เคยมีประสบการณ์ กับ สถานการณ์ล่าสุดที่ต่างไปจากเดิม โดยจะมีบางสถานการณ์ล่าสุดที่ทำให้บางคน หรือ หลายๆ คนยุ่งยากลำบากกว่าเดิมโดยไร้หนทางหลีกเลี่ยงแบบที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า “เกิดปัญหาขึ้น” กับตน… ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถข้ามผ่าน และ รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดได้ดีเหมือนเดิม… แต่ก็มีบางคนที่ “ยังไหว และ ไปต่อ” โดยแก้ไขข้ามผ่านสถานการณ์ล่าสุดที่ก่อปัญหาให้ โดยทั้งหมดที่ทำได้ หรือ ที่แก้ปัญหาได้ก็มักจะเป็นกลุ่มคนที่กล้าปรับเปลี่ยน และ ผ่อนสั้นผ่อนยาวกับสถานการณ์ที่ก่อปัญหาให้… ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความยืดหยุ่นสูงในการรับมือกับสถานการณ์ล่าสุดที่ต่างไปจากเดิมในแบบที่เรียกว่า… ความยืดหยุ่นทางปัญญา หรือ Cognitive Flexibility

ความยืดหยุ่นทางปัญญา หรือ Cognitive Flexibility ได้รับการอธิบายว่าเป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดเทียบเคียงสถานการณ์เก่ากับสถานการณ์ใหม่ ที่มาพร้อมความสามารถในการเอาชนะการตอบสนองโดยสัญชาตญาณ และ อุปนิสัยตามความเคยชินจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้โดยไม่ขัดแย้งจนกลายเป็นปัญหาใหม่ตามมา และ ในคำอธิบายทางจิตวิทยาจะพูดถึงคนที่มีความยืดหยุ่นทางปัญญาว่าเป็นคนที่มี “เนื้อแท้ตัวตน หรือ Intrinsic Property” อันเป็นความสามารถทางจิตใจที่สร้างการรับรู้ต่อสาระหลักในกฏเกณฑ์ของสถานการณ์ใหม่ที่แตกต่าง โดยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อตอบรับสถานการณ์ใหม่ได้อย่างดี

ความยืดหยุ่นทางปัญญาถือเป็นอัตลักษณ์บุคคลที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมของคนๆ นั้นภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมทั้งที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของชีวิตที่ถูกชุบเลี้ยงส่งเสริมตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันของคนๆ นั้น รวมทั้งจิตสังคม และ ภาวะสุขภาพจิตของคนๆ นั้นด้วย… โดยความยืดหยุ่นทางปัญญาจะเปลี่ยนไปตามวัย และ ประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกับชีวิต 

ประเด็นก็คือ… ความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดจากสถานการณ์เก่าเป็นสถานการณ์ใหม่ถือเป็นแก่นของ Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะความสัมพันธ์ที่คนๆ หนึ่งมีกับตัวเองและผู้อื่น โดยเชื่อมโยงถึงสุขภาพใจและกายของคนๆ นั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ… ปัญหาสุขภาพจิตในหลายแง่มุมจึงมีสาเหตุมาจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดซึ่งเป็นผลโดยตรงของความยืดหยุ่นทางปัญญา หรือ Cognitive Flexibility ในตัว

Dr.Laura K. Schenck นักจิตวิทยาบำบัด และ ผู้ก่อตั้ง Mindfulness Muse ชี้ว่า… เมื่อคนเรามีความอ่อนไหวในจิตใจที่เกิดจากค่านิยมเดิม และหรือ พฤติกรรมเก่าขัดแย้งกับสถานการณ์ใหม่ที่ผลักดันให้ตัวเราต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งจะเกิดภาวะยุ่งยากใจจากการพยายามยอมรับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป จนขัดแย้งกับค่านิยม กับ ความเชื่อเดิมที่เคยชิน โดยปัจจัยที่ทำให้คนเราปรับเปลี่ยนได้น้อย หรือ ไม่ได้เลยจนเกิดปัญหาจะมาจาก… 

  1. Dominance of the Conceptualized Past or Future หรือ แนวคิดครอบงำจากอดีต หรือ อนาคต… ที่คนๆ หนึ่ง “ติดอยู่” กับความรู้สึก ความเชื่อ หรือ ประสบการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ยาก ทั้งที่เป็นประสบการณ์ในอดีต และ ความเพ้อฝันที่ยังมาไม่ถึง
  2. Cognitive Fusion หรือ การตกผลึกทางปัญญา… โดยคนๆ หนึ่งจะ “ติดอยู่” กับข้อสรุปสำคัญที่กลายเป็นความเชื่อที่กล้าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นกว่านั้นไม่ได้ ถึงแม้ข้อเท็จจริงต่อหน้าจะขัดแย้งกับความเชื่อฝังหัวอย่างชัดเจนจนไร้ข้อโต้แย้งก็ตาม
  3. Experiential Avoidance หรือ การหลบเลี่ยงประสบการณ์… โดยคนๆ หนึ่งจะ “หลบเลี่ยงการยอมรับ” ประสบการณ์ใหม่จากเหตุการณ์ใหม่ที่สร้างความวิตกกังวล หรือ ความไม่สบายใจ หรือ ไปกระตุ้นความเจ็บปวด หรือ ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต
  4. Attachment to the Conceptualized Self หรือ แนวคิดที่ติดมากับตัวตน… โดยคนๆ หนึ่งจะผูกความเชื่อเกี่ยวกับตัวตนว่าเป็นใคร มาจากไหน และ ตนสำคัญอย่างไรไว้ด้วยความเชื่อมั่นเดียว ซึ่งสถานการณ์ใหม่ที่กระทบถึงตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่นเข้มข้น ก็มักจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับอะไรใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม
  5. Lack of Values หรือ บกพร่องเชิงคุณค่า… โดยคนๆ หนึ่งได้เพียรบอกตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น และ เป็นอยู่มันไม่ถูก ไม่ใช่ และ ไม่ควรที่จะเกิดกับตน ดังเช่นที่หลายๆ คนขมขื่นกับงาน หรือ ครอบครัวทั้งๆ ที่สามารถปรับตัวปรับใจ หรือ สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อออกจากการเป็นคนผู้กำลังใช้กรรมแบบนั้นได้หลายวิธี
  6. Unworkable Action หรือ ทำเรื่องที่มันเป็นไปไม่ได้… โดยคนๆ นั้นจะดื้อรั้นดันทุลังทำตามความคิดความเชื่อที่มันไม่เวิร์ค ซึ่งความพยายามหลายๆ ครั้งไม่ชี้ชัดว่ามีอะไรให้เรียนรู้ใหม่ หรือ เกิดการเปลี่ยนผ่านจากมีเป็นไม่มี หรือ รู้น้อยเป็นรู้มากขึ้นกว่าเดิม… ซึ่งการเป็นคนดันทุรังในเรื่องที่ไม่ฉลาดก็เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ “ติดอยู่” กับอะไรที่มันไม่เวิร์ค

ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… การเป็นคนยืดหยุ่นมีโอกาสจะมีความสุขมากกว่าการเป็นคน “ติดอยู่” กับตัวเองเวอร์ชั่นเดียว ซึ่งเทียบได้กับคนขี้เหนียวใจแคบผู้กลัวแต่คนอื่นจะฉกฉวยเอาเปรียบ โดยไม่สนใจโอกาสแบบที่คนใจกว้างได้ความเอื้อเฟื้อแบ่งปันจากผู้อื่น และ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ… การเป็นคนเปิดกว้างต่อสถานการณ์ภายนอก และ สามารถรับมือด้วยความยืดหยุ่นทางปัญญา หรือ Cognitive Flexibility หรือ มีปัญญาพอที่จะผ่อนสั้นผ่อนยาว โดยเติบโตและพัฒนามากับประสบการณ์ชีวิตจนกลายเป็นทักษะการรับมือกับภาวะผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนคลุมเครือที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดี… คนๆ นั้นก็จะมีทักษะการจัดการปัญหาได้โดยแทบจะไร้ข้อจำกัด… แต่ก็ต้องกำจัดปัจจัยที่ทำให้คนเราปรับเปลี่ยนได้น้อยให้หมดไปให้ได้

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *